จากขยะสู่กระแสไฟ เมื่อขยะของคนหนึ่งกลายเป็นสินทรัพย์ของอีกคน - Forbes Thailand

จากขยะสู่กระแสไฟ เมื่อขยะของคนหนึ่งกลายเป็นสินทรัพย์ของอีกคน

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jun 2019 | 10:21 AM
READ 2562

สำหรับเอ็กซอนโมบิล การจัดการขยะได้นำไปสู่วิธีการสร้างสรรค์ใหม่เพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับหน่วยผลิตในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีคนกล่าวว่า ความงามขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่ก็คงจะเป็นเรื่องยากมากที่จะหาคนที่มองเห็นความงามของขยะ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าขยะก็ดูดีได้ในสายตาของคนที่สนใจหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ขณะที่ขยะย่อยสลายในที่ฝังกลบพร้อมทั้งปล่อยก๊าซที่มีส่วนผสมของคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน อันที่จริงเมื่อปล่อยสู่บรรยากาศ มีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญตัวหนึ่ง แต่ถ้าเราสามารถดักและเก็บเอาไว้ใช้  มีเทนก็จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่มั่นคงอีกแหล่งหนึ่ง ในรัฐ Louisiana, สหรัฐอเมริกา โรงงานผลิตโพลีโอเลฟินส์ของเอ็กซอนโมบิลที่เมือง Baton Rouge อยู่ไม่ไกลจากที่ฝังกลบขยะของเขต Baton Rouge ตะวันออก ปกติแล้วการตั้งอยู่ใกล้กับที่ทิ้งขยะของเมืองไม่ใช่จุดขายที่ดีนัก แต่สำหรับเอ็กซอนโมบิลแล้ว มันหมายถึงโอกาสในการสร้างสถานการณ์ win-win โดยการสร้างท่อส่งก๊าซจากที่ฝังกลบขยะมายังโรงงานโพลีโอเลฟินส์ “เราค้นพบทางแก้ไขสำหรับสิ่งที่ใครๆ ก็เห็นว่าไร้ประโยชน์ และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งมีค่า ในขณะเดียวกันก็ช่วยเรื่องสภาพแวดล้อมไปด้วย” George Jones ผู้ประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมของเอ็กซอนโมบิล กล่าว “นอกจากนี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีกับเขตอีกด้วย” โรงงานโพลีโอเลฟินส์ของเอ็กซอนโมบิลที่ Baton Rouge ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่หลากหลาย ซึ่งใช้ในสินค้าทุกอย่าง นับจากชิ้นส่วนรถยนต์ไปจนถึงภาชนะบรรจุอาหาร กระบวนการผลิตของเราใช้ไอน้ำร้อนจากอุปกรณ์ผลิตไอน้ำขนาดใหญ่สามเครื่องที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เอ็กซอนโมบิล เห็นว่าการปรับปรุงอุปกรณ์ผลิตไอน้ำเหล่านี้ให้สามารถใช้ก๊าซจากที่ฝังกลบขยะเป็นเชื้อเพลิง ไม่เพียงแต่จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของโรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ก๊าซมีเทนที่เกิดจากขยะออกไปสู่บรรยากาศอีกด้วย พนักงานของเราตอบรับต่อความท้าทายในการปรับปรุงอุปกรณ์ผลิตไอน้ำที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงนี้อย่างกระตือรือร้น “ผมชอบทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ” James Michiels กล่าว เจมส์เป็นวิศวกร ซึ่งผนวกเทคโนโลยีในการเผาไหม้ก๊าซมีเทนเข้าไปในหน่วยผลิตไอน้ำของโรงงาน “สำหรับผมแล้ว นับเป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้น เพราะผมได้ทดลองหลายๆ อย่างเพื่อให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนไปใช้ก๊าซมีเทนเป็นเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างราบรื่น” สุดท้ายแล้ว  ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน และโรงงานโพลีโอเลฟินส์ ก็เป็นลูกค้าหลักในการใช้ก๊าซมีเทนที่เกิดจากที่ฝังกลบขยะของแบตันรูช  แม้ว่ายังคงมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเสริม แต่ต้นทุนในการทำงานของอุปกรณ์ผลิตไอน้ำก็ลดลงเมื่อใช้ก๊าซมีเทนเป็นเชื้อเพลิง “ปกติแล้ว เราใช้ทุกอย่างที่ส่งมาให้” Jones กล่าว “และเมื่อที่ฝังกลบขยะขยายตัว ก็จะสามารถส่งก๊าซมีเทนได้มากยิ่งขึ้น” จากข้อมูลของรัฐ Louisiana การใช้ก๊าซจากที่ฝังกลบขยะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ เปรียบเสมือนกับการนำรถยนต์ 59,000 คันออกจากถนน ผลงานที่น่าประทับใจนี้ ช่วยให้โครงการของเราได้รับรางวัลมากมาย รวมทั้งรางวัลการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency Award) จาก สภาอุตสาหกรรมเคมีอเมริกัน และรางวัลผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Leadership Award) จากกรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รัฐลุยเซียนา (Louisiana Department of Environmental Quality) บางทีชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ การเปลี่ยนขยะไปเป็นสินค้าที่มีประโยชน์  ที่ฝังกลบขยะได้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของท้องถิ่น แทนที่จะเป็นเพียงปลายทางของขยะ “ถ้าเราสามารถเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้” Jones กล่าว “บางทีเราอาจสามารถเปลี่ยนมุมมองของคนในเรื่องนี้ได้เช่นกัน”   อ้างอิง Highstar Capital: Siemens and Sustainable Energy Solutions Help ExxonMobil And Novolyte Tap Baton Rouge Landfill Gas Business Report: Baton Rouge Influential Women in Business: Angela Zeringue