คมความคิด จาก ตระกูลธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทย ตอนที่ 1 - Forbes Thailand

คมความคิด จาก ตระกูลธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทย ตอนที่ 1

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Dec 2020 | 08:51 PM
READ 4027

เศรษฐกิจประเทศไทยส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนโดยตระกูลธุรกิจใหญ่ของประเทศ อันมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงาน และสนับสนุนสังคม

โดยกลุ่มครอบครัวธุรกิจเหล่านี้คือกลุ่มตระกูลธุรกิจที่เปรียบดั่งต้นไม้ใหญ่ที่สร้างร่มเงาและให้ผลผลิตทางความคิดและบทเรียนการสร้างกิจการคนไทยให้ยั่งยืน ทั้งมียังมีการสร้างธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ร่วมติดตาม คมความคิด จาก ตระกูลธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทย ตอนที่1   หทัยรัตน์ จุฬางกูร รองแม่ทัพ SUMMIT ส่งต่อหลักความมุ่งมั่นรับผิดชอบ เด็ดเดี่ยว “การทำโทษแต่ละครั้งก็จะสอนให้รู้ถึงความผิด และเน้นย้ำให้รู้จักความรับผิดชอบ เมื่อโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่ที่ต้องทำมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับปากเอาไว้ แม้จะให้อิสระในการทำงาน แต่ก็ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ให้มีความกล้าหาญและสนับสนุนให้แสดงออกด้วยความมั่นใจ” บทบาทการเป็นนักธุรกิจหญิงและคู่ชีวิตผู้เคียงข้าง สรรเสริญ จุฬางกูร ผู้ก่อตั้งและเจ้าของอาณาจักร Summit Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ สร้างให้ หทัยรัตน์ จุฬางกูร เป็นนักบริหารที่มีความสามารถรอบด้าน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาและมากด้วยประสบการณ์ทางธุรกิจ นอกจากบทบาททางธุรกิจ เธอยังใส่ใจและเลี้ยงดูบุตรหลาน ถ่ายทอดแนวคิดที่ตกผลึกจากประสบการณ์ในการสร้างอาณาจักรร่วมกับสามีให้กับบุตรทั้ง 6 คนตั้งแต่วัยเด็กโดยพาลูกๆ ไปที่ทำงาน เพื่อให้ค่อยๆ สังเกตและเรียนรู้การทำงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่ นอกจากความขยัน มุ่งมั่น และความรับผิดชอบที่ถ่ายทอดให้กับทายาทแล้ว หทัยรัตน์ยังฝึกให้ทายาทมีความเด็ดเดี่ยวตั้งแต่วัยเด็กฝึกให้รับผิดชอบคำพูด กับงานที่ได้รับและก่อนที่จะมอบหมายให้ทำงานใดๆ หากไม่ต้องการทำหรือต่อรองในภายหลังก็จะถูกทำโทษ “พีระพงศ์ - อารดา จรูญเอก” บริหารความสำเร็จบนความเสี่ยง แบบ ออริจิ้นฯ “สำหรับปีนี้ตลาดคอนโดมิเนียมอาจไม่เหมาะในการพัฒนา บริษัทหันไปให้ความสำคัญกับตลาดบ้านจัดสรรแทนหรือเลือกไปเจาะเซกเมนต์อื่นที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยกว่า ที่สำคัญข้อสุดท้าย อย่ายึดติดกับพอร์ตเดิมและแผนเดิมใครที่ยังไม่เคยกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจควรศึกษาวิธีในการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม อย่ายึดติดกับตลาดเดิมที่เคยทำได้ดี เพราะตลาดที่ดีในวันก่อน อาจไม่ใช่ตลาดที่โดดเด่นอีกแล้วในอนาคต” - พีระพงศ์ จรูญเอก พีระพงศ์ - อารดา จรูญเอก สองผู้ก่อตั้งคู่ชีวิตร่วมกันสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในนาม "ออริจิ้นฯ" อย่างมีเอกลักษณ์ พวกเขาทั้งสองร่วมสร้างธุรกิจให้มีความหลากหลายครบวงจร ควบคู่การจัดการด้านต้นทุน รุกทุกตลาดในทุกเซกเมนต์ ครอบคลุมครบช่องทางการขาย และพัฒนา Living Solution ตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal ในปีนี้ 2020 วิกฤตการณ์จากโควิด-19 สิ่งที่ทั้งสองผู้ก่อตั้งในความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถฝ่าวิกฤตผลกระทบจากโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี   “อัจฉรา อัมพุช” มือปั้นเดอะมอลล์กรุ๊ป สู่ A HAPPY PLACE TO LIVE LIFE “การก้าวไปสู่โลกเทคโนโลยี หรือการตลาดออนไลน์ เป็นความท้าทายผู้บริหารเจนฯ 2 พอสมควร เพราะเราต้องทำงานร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีและการตลาดออนไลน์มากกว่ากลุ่มผู้บริหารที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนรุ่นก่อตั้งเดอะมอลล์กรุ๊ปต่างก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ต้องยอมรับว่า ในรุ่นก่อตั้งได้สั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่เข้าใจเทคโนโลยีและมีความคิดทันสมัย รวมถึงก้าวทันกระแสโลก โดยปัจจุบันเดอะมอลล์กรุ๊ปมีคนทั้ง 2 กลุ่มในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และกำลังผสานการทำงานระหว่างกัน โดยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีส่วนทำให้ M Online พร้อมจะให้บริการได้ในปีหน้า”  - อัจฉรา อัมพุช รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด “เดอะมอลล์กรุ๊ป” เริ่มต้นดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2524 ได้สร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งให้กับคนไทยและต่างชาติมากมาย สามารถบริหารศูนย์การค้าชั้นนำไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน เอ็มควอเทีย และดิ เอ็มโพเรียม ให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการช็อปปิ้ง โดย เดอะมอลล์กรุ๊ป กำลังจดบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของเดอะมอลล์กรุ๊ป กับการก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคครั้งใหญ่ของธุรกิจ อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการปรับโฉมหน้าใหม่ของเดอะมอลล์กรุ๊ป ตอบโจทย์ดีมานด์ยุคดิจิทัล   ชูชาติ - ปริทัศน์ จากพ่อสู่ลูกขยายอาณาจักรสินเชื่อ MTC ดีเอ็นเอของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้คนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นธรรมและโปร่งใส “ธุรกิจสินเชื่อไม่ใช่สิ่งใหม่ เป็นเรื่องที่ใครก็รู้ แบงก์ก็ปล่อยใครๆ ก็ปล่อย แต่มุมที่เมืองไทย แคปปิตอลทำอยู่ ยังไม่มีใครทำเราต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส เราจึงเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้และเชื่อว่ามีอีกหลายธุรกิจธรรมดาๆ ที่หากเราสร้างสิ่งธรรมดาให้มันเหนือธรรมดา ก็จะสามารถพัฒนาขึ้นมาและประสบความสำเร็จได้เช่นกัน” - ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ชูชาติและดาวนภา เริ่มต้นธุรกิจบริการสินเชื่อโดยมองเห็นโอกาสทางธุรกิจให้บริการธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งใหม่และมือสองทุกยี่ห้อผ่านผู้จัดจำหน่ายในเขตภาคเหนือตอนล่าง ก่อนขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่องในจังหวัดอื่นๆ ปี 2544 ชูชาติและดาวนภาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด และหยุดการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นและได้เพิ่มบริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อโฉนดที่ดิน จุดเปลี่ยนสำคัญของ MTC คือการเข้าซื้อขายเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS ในปี 2557 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เมืองไทย เเคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ในปี 2561 และ 7 ปีต่อมา มีสาขาเพิ่มขึ้นมากกว่า 5,000 สาขาครอบคลุมครบทั้ง 800 อำเภอในประเทศไทยทั่วทั้ง 77 จังหวัด   สมโภชน์ อาหุนัย ปักหมุด “EA” Global Company “ทุกอย่างที่เราทำทั้งหมด และการที่เรา Move เร็ว ไม่ใช่เพราะกล้าบ้าบิ่น แต่เราทำวิจัยอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เราต้องเริ่มก่อน โดยดูจากเทรนด์ว่ามันมีโอกาสหรือไม่ และโอกาสทางการตลาดเป็นอย่างไร ความเสี่ยงจริงๆ อยู่ที่ไหน จะจัดการความเสี่ยงอย่างไร และทำออกมาเป็น Scenario มันจะทำให้เราตัดสินใจได้ว่าถ้าลงทุนไป จะได้ผลกลับมาอย่างไร จะรับมือไหวหรือไม่ ทุกอย่างมันมีคำตอบ เพราะมันคือวิทยาศาสตร์” สมโภชน์ อาหุนัย หนึ่งในนักลงทุนที่เป็น First Mover ของประเทศไทย ทำให้เขามักจะเข้าไปทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน และก็เป็นโอกาสทางการตลาดและได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงเพราะยังไม่มีตัวอย่างให้เห็นก็ตาม Mr. Clean Energy กับการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานให้เติบโตเป็นบริษัทระดับโลกภายใน 5 ปี พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยกลยุทธ์ Move First, Move Fast ซึ่งปัจจุบัน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฟฟ้า จนถึงธุรกิจแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า รถบัสโดยสารไฟฟ้า และสถานี ชาร์จไฟฟ้า   ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ชูนวัตกรรมขับเคลื่อน EPG “เราคิดค้น EP Kare ขึ้นมาทันที โดยใช้เวลาประชุมออกแบบ หาเทคโนโลยีและวัสดุ รวมทั้งทำแม่พิมพ์เสร็จภายใน 10 วัน หลังจากนั้นก็เริ่มผลิต ซึ่งเสร็จภายในช่วงวันสงกรานต์ ก่อนจดสิทธิบัตรในไทย ญี่ปุ่น และจีน” - ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ในช่วงที่ โควิด-19 แพร่ระบาดในไทยระยะเริ่มแรกราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เกิดกระแสขาดแคลนหน้ากาก อนามัย ทำให้ระดับราคาพุ่งขึ้นจากปกติชิ้นละ 2 บาทเป็น 15 บาท ส่งผลให้ภวัฒน์คิดค้นหน้ากากอนามัยขึ้นเพื่อผลิตให้พนักงานเครือ EPG ที่ต้องทำงานในโรงงานใช้และช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้เป็นอย่างมาก ภวัฒน์เริ่มต้นอาณาจักร EPG ในปี 2521 ด้วยการต่อยอดธุรกิจผลิตทุ่นลอยน้ำพลาสติกสำหรับอวนประมงที่ร่วมกับบิดา มาสู่ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ก่อนคิดค้นสูตรเคมีพิเศษเพื่อแปรรูปโพลีเมอร์ให้กลายเป็นฉนวนยางกันความร้อนและเย็นภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ซึ่งปัจจุบัน ส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และตั้งโรงงานผลิตในจีนและสหรัฐอเมริกา "พ่อมดโพลีเมอร์" ท่านนี้ยังคงเดินหน้าคิดค้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากพื้นปูกระบะ และหีบห่อพลาสติก สู่หน้ากากอเนกประสงค์ พร้อมขยายธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก   สุริยน - สิริน ศรีอรทัยกุล พร้อมจรัสแสง “บิวตี้เจมส์” “ผมมองว่าการทำงานทุกวันเหมือนการมาดิสนีย์แลนด์ผมว่าคงเหมือนสโนไวท์ ก่อนจะเจอคนแคระทั้งเจ็ด หรือเจ้าชาย ก็ต้องผ่านอะไรมามากมาย ในฐานะนักธุรกิจผมมองว่าตัวเองผ่านมาแล้วทุกรสชาติ ลองมาแล้วแทบจะทุกอย่าง จนไม่คิดว่ายังมีธุรกิจอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสได้ลอง แน่นอน ผลลัพธ์ที่ได้มีทั้งสมหวังและล้มเหลว แต่ผมถือคติไม่ลองไม่รู้ ธุรกิจไหนทำแล้วไปต่อไม่ได้ ก็ต้องยอม แต่บางธุรกิจอาจจะไปต่อยากวันนี้ แต่ยังไม่ถึงกับตัน ก็ต้องไม่เสียกำลังใจ พยายามสู้ต่อ เพราะสุดท้ายแล้ว การเป็นนักธุรกิจก็คือการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่” - สุริยน ศรีอรทัยกุล คู่หูธุรกิจต่างวัยที่มีจุดร่วมในความมุ่งมั่นตั้งใจสานต่ออาณาจักรของครอบครัวจากผู้นำธุรกิจในรุ่นที่ 3 พร้อมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เจียระไนถึงทายาทรุ่นที่ 4 เดินหน้าจุดประกายพลังขับเคลื่อนความสำเร็จ โดยปัจจุบัน บิวตี้เจมส์ มี 4 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจอัญมณี ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจรีไฟเนอรีทองคำ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์   นวลจันทร์ ตีระสงกรานต์ ถอดรหัสความสุข “ฟู้ดแลนด์” “ทุกวันนี้ยังไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน เพียงแต่ไม่ได้ทำงานหนักหรือมีอะไรที่ต้องห่วงเยอะเหมือนแต่ก่อน เพราะตอนนี้มีลูกชายเข้ามาช่วยดูแลในภาพรวม ส่วนลูกสาวก็แต่งงานมีครอบครัวแล้ว มีลูก 4 คนเท่าลูกชาย  ส่วนตัวดิฉันเองดูแลด้านการเงินเป็นหลัก มีความสุขจนคิดว่าคงทำงานไปเรื่อยๆ ไม่เคยคิดจะเกษียณตราบที่ยังมีลมหายใจ” นวลจันทร์ ตีระสงกรานต์ วัย 78 ปี แม่ทัพหญิงแห่งอาณาจักร “ฟู้ดแลนด์” ตลาดสดติดแอร์แห่งแรกในประเทศที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ได้กล่าวถึงแพชชั่นที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่มีต่อธุรกิจ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมงแห่งแรกของเมืองไทย ที่นำหลักความอบอุ่นของครอบครัวใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับความเป็นไทย เป็นแนวทางสำคัญสู่การต่อยอดสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เรื่อง: นฐ ดิลกวิพัฒน์, ธนาธิป ประสพสุข, จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์, กัญญาณัฐ แก้วกาญจน์ ภาพ: กิตตินันท์ สังขนิยม, ธนาคาร CIMB Thai
อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร ForbesLife Thailand ฉบับพิเศษ ฉบับเดือนธันวาคม 2563