ก่อนทางแยกสุดท้ายกับการลงประชามติของพลเมืองชาวกรีซ - Forbes Thailand

ก่อนทางแยกสุดท้ายกับการลงประชามติของพลเมืองชาวกรีซ

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Jun 2015 | 05:30 PM
READ 2067
24 มิถุนายน 2015 การเจรจาระหว่างกรีซและยูโรโซนในการขอรับเงินช่วยเหลือได้ล้มเหลวลง ทำให้ 26 มิถุนายน 2015 รัฐบาลกรีซประกาศต่อพลเมืองชาวกรีซให้มีการลงประชามติ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2015 เพื่อให้พลเมืองของประเทศตัดสินว่าจะยอมรับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เจ้าหนี้เสนอหรือไม่และขอต่ออายุวงเงินช่วยเหลือ

เพียง 2 วันหลังการประกาศลงประชามติครั้งสำคัญนี้ พลเมืองชาวกรีซแห่ถอนเงินสด 28 มิถุนายน 2015 รัฐบาลกรีซประกาศใช้มาตรการควบคุมเงิน (capital control) ไม่ให้เป็นไปโดยเสรี ปิดธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ ควบคุมการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มไม่เกินวันละ 60 ยูโร ยาวไปจนถึงวันที่ 6 กรกฏาคม 2015 โดยในวันเดียวกันกับการประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุนของรัฐบาลกรีซ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้หยุดขยายวงเงินกู้ฉุกเฉิน (Emergency Liquidity Assistance: ELA) ซึ่งเป็นแหล่งสภาพคล่องเดียวของธนาคารของกรีซลง

หลังจากตลาดพันธบัตรในยุโรปเปิดทำการในวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศสเปน โปรตุเกส และอิตาลี ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะในช่วงปี 2011 ปรับเพิ่มขึ้นราว 20 basis points (bps) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของเยอรมนีและฝรั่งเศสปรับลดลงราว 13 และ 8 bps ตามลำดับ เป็นสัญญาบ่งบอกว่านักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินจากประเทศที่มีความเสี่ยงไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคงมากกว่า (Risk-off sentiment)

ทั้งนี้การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรีซเบื้องต้นชี้ว่าเสียงข้างมากคือยอมรับข้อเสนอแผนปฏิรูปของเจ้าหนี้ โดยการสำรวจเบื้องต้นโอกาสที่ประชาชนกรีซจะลงคะแนนเสียงยอมรับแผนปฏิรูปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม มีสูงกว่าการไม่ยอมรับแผน ทั้งนี้ จากมาตรการควบคุมเงิน (capital control) อาจทำให้เสียงของประชาชนเบนมาทางด้านการยอมรับข้อเสนอของยูโรโซนมากขึ้นถึงแม้จะมีการต่อต้านก่อนหน้านี้ โดยหากกรีซยอมรับแผนการปฏิรูปได้แล้ว กรีซน่าจะกลับเข้าสู่การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอเงินช่วยเหลือก้อนใหม่และนำมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยเงินกู้ ELA เพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยผ่อนคลายปัญหาสภาพคล่องให้แก่ธนาคารของกรีซ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วกรีซไม่น่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล และไม่ต้องออกจากเป็นสมาชิกของยูโรโซน

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมีค่อนข้างจำกัดหากกรีซออกจากยูโรโซน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกรีซมากนักทั้งทางด้านการค้าและตลาดการเงิน การส่งออกของไทยไปยังกรีซคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากกรีซคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.07% ส่วนผลกระทบทางอ้อมผ่านสหภาพยุโรป (สัดส่วน 9.3% ของมูลค่าการส่งออกไทย) ก็น่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจกรีซมีขนาดเพียงประมาณ 2% ของเศรษฐกิจยุโรปและมูลค่าการค้าระหว่างกรีซและยูโรโซนมีไม่มากนัก

นอกจากนี้ เจ้าหนี้หลักกว่า 80% ของกรีซในปัจจุบันคือ Troika (กลุ่มทรอยก้า) ที่ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป European Commission (EC) ธนาคารกลางยุโรป European Central Bank (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ International Monetary Fund (IMF) ซึ่งหากไม่ได้รับการชำระหนี้จะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจมากนัก ที่สำคัญที่สุด ยังมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ของ ECB จำนวนทั้งสิ้นราว 1.1 ล้านล้านยูโร ที่สามารถช่วยลดผลลุกลามจากการผิดนัดชำระหนี้ไปยังรัฐบาลประเทศอื่นๆ ได้


เรียบเรียงจาก: บทวิเคราะห์ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์