กูรู FinTech และการเงิน แนะอนาคตเอเชียบนเวที ACD Connect 2016 - Forbes Thailand

กูรู FinTech และการเงิน แนะอนาคตเอเชียบนเวที ACD Connect 2016

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Oct 2016 | 05:16 PM
READ 3074
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ ได้มีการจัดการประชุม ACD Connect 2016 ซึ่งภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานแล้ว ได้มีการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ FinTech และโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย การเสวนาช่วงแรก “Driving Asian Economies with FinTech” มี ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ จากนั้นมีผู้ร่วมเสวนาจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ได้แก่ Mohit Mehrotra จาก Monitor Deloitte ประเทศสิงคโปร์ Sunil Chopra จาก Tata Consultancy Services (TCS) ประเทศอินเดีย K. Guru Gowrappan จาก Alibaba Group ประเทศจีน Nao Kitazawa จาก Money Design Company Limited ประเทศญี่ปุ่น Benedicte Nolens จาก Securities and Futures Commission (SFC) ฮ่องกง Thaer Suleiman จาก Cashu สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ Roy Theo จาก Monetary Authority of Singapore (MAS) ประเทศสิงคโปร์ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ FinTech ซึ่งผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า FinTech เป็นการให้คำนิยามใหม่ของธุรกรรมทางการเงินในโลกดิจิทัล ทั้งนี้ FinTech ควรมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ FinTech มีความแข็งแกร่ง และตอบสนองต่อโลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะเอเชียที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก ช่วงที่สอง “Financing Infrastructure in Asia” มี Dr. Shamshand Akhtar จาก Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) กล่าวปาฐกถาพิเศษ จากนั้นเข้าสู่ช่วงเสวนา โดยมี Mr.Andre Belelieu จาก World Economic Forum (WEF)  รพี สุจริตกุล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สุภี ตีระวนินทร จาก Asian Infrastructure Investment Bank เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ Mr. Yasushi Negishi Country Director Asia Development Bank (ADB) ดำเนินรายการโดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย จาก บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด. (มหาชน) ผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย ที่สะท้อนจากการเติบโตของ GDP ที่เติบโตมากกว่ายุโรปที่เศรษฐกิจชะงักงัน โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียยังมีช่องว่างสำหรับนักลงทุนภาคเอกชนต่างๆ ให้เข้ามาร่วมพัฒนา สำหรับประเทศไทยนั้นมีการรวมตัวกันของหลายภาคส่วน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับภาครัฐบาล อาทิ Public–private partnership (PPP) หรือ TTF เพื่อร่วมกันแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน การประมูลงาน หรือ การแก้ไขในเรื่องกำแพงภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อาทิ โครงการก่อสร้างพื้นฐานหลักที่เชื่อมโยงภูมิภาค CLMV เข้าด้วยกัน ช่วงท้ายงานเสวนา ผู้บรรยายต่างทิ้งท้ายถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ของการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียที่กำลังเติบโตพร้อมทั้งขยายโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว