แบงก์ชาติผลักดันระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) ป้องกันเงินบาทผันผวนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ลดพึงพาเงินดอลลาร์ สนับสนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขาย ผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศ ขยายวงเงินลงทุนรายย่อยไปต่างประเทศพุ่ง เพิ่มความคล่องตัวให้นักลงทุนต่างชาติ
จากแนวโน้มเงินบาทช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของประเทศหลักเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงผลักดันใหเกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (New FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก สถานการณ์การเมืองในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตนายกรัฐมนตรี รวมถึงปัจจัยเฉพาะอื่นๆ อย่างการซื้อขายทองคำของประเทศไทย รวมถึงการทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ทำให้เงินบาทมีความผันผวน โดยปี 2023 ความผันผวนของเงินบาทอยู่ที่ 6.5% แม้จะปรับลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค
“ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐและจีนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ทำให้เงินหยวนส่งผลต่อค่าเงินบาทไทยเพิ่มขึ้นมาก การไปลงทุนต่างประเทศ โดยระยะหลังรายย่อยมีการไปลงทุนหุ้นในต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการกระจายสินทรัพย์ไปต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบกับค่าเงิน ความผันผวนของเงินบาทที่เกิดขึ้น มาจากปัจจัยภายนอกสำคัญ มองไปข้างหน้า เงินบาทยังผันผวนสูง จากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ทั้งสหรัฐ และจีน การเมืองในประเทศ ผู้ประกอบการต้องป้องกันความเสี่ยงในการทำธุรกิจ” พิมพ์พันธ์กล่าว
ชนานันท์ สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการฝ่าย นโยบายและกำกับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินได้อย่างยั่งยืน โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของผู้เล่นในตลาด ผ่านแผนงานต่าง ๆ ที่ดำเนินการแล้ว เช่น ผ่อนเกณฑ์ให้ทำธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี โอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น
ปรับเกณฑ์เพิ่มอำนวยความสะดวก
ในปี 2566 ธปท. มีแผนงานที่ทำเพิ่มเติม ดังนี้
1. สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ (Local Currency) เช่น การค้าขายใน 4 สกุลเงินท้องถิ่นหลัก ได้แก่ หยวน จีน เยน ญี่ปุ่น ริงกิต มาเลเซีย และรูเปีย อินโดนีเซีย เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนงานในระยะถัดไปของ ธปท. ครอบคลุมถึงการร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม การร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ
2. ผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศให้คล่องตัวขึ้น ได้แก่ ขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่าจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อนุญาตให้บริษัทไทยโอนเงินไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่อง (Notional Pooling) และ ขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยไม่ผ่านตัวแทนจาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3. เพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ ขยายขอบเขตโครงการ Non-Resident Qualified Company (NRQC) ให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจชำระเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมโครงการได้ โดยโครงการ NRQC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยได้คล่องตัวขึ้น อีกทั้งปรับขั้นตอนการสมัคร NRQC ให้สะดวกขึ้น และ ให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหลักทรัพย์ไทยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินไทยได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องทำธุรกรรมผ่านตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศเท่านั้น
ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินโดยตรงในประเทศไทย รวม 63 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ มีการลงทุนในตลาดบอนด์โดยนักลงทุนต่างชาติที่ลงทะเบียน 9,000 ราย โดยจะขยายขอบเขตของโครงการ NRQC ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมการชำระเงิน ปรับขั้นตอนการดำเนินงานให้กระชับมากขึ้น
อลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน กล่าวว่า ปรับโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เอื้อต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศ รองรับกิจกรรมของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ การป้องกันความเสี่ยง ทำให้มีทางเลือกในการลงทุน บริหารความเสี่ยงได้ รวมถึงเป็นการสนับสนุนการออมได้ เป็นนโยบายที่สร้างความยั่งยืนระยะยาว
“การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น จะส่งผลดีต่อผู้นำเข้าและส่งออก ปัจจุบัน เราค้าขายกับจีน 20% โดยเกือบ 80% เป็นการใช้สกุลเงินดอลลาร์ เงินหยวน 6% ใช้สกุลเงินท้องถิ่น 20% เวลาเงินดอลลาร์ผันผวนจึงส่งผลต่อผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออกของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ค่าเงินบาทกับภูมิภาคจะเคลื่อนไหวตามกัน แต่สวนทางกับเงินดอลลาร์ ถ้าใช้สกุลท้องถิ่นชำระการค้า บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง” อลิศรากล่าว
นอกจากนี้ การใช้เงินสกุลท้องถิ่น จะทำให้คู่ค้าไม่มีความเสี่ยง ผู้ประกอบการไทยมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น กรณีการค้าขายกับมาเลเซีย และอินโดนีเซียในปัจจุบันใช้เงินบาทมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยไม่มีความเสี่ยง เป็นหนึ่งในทางเลือกในการนำไปใช้การบริหารความเสี่ยง เพื่อลดความผันผวนจากสกุลเงินดอลลาร์ได้
อ่านเพิ่มเติม : "การ์ทเนอร์ อิงค์" การบริการธนาคาร-การลงทุนทั่วโลก ปี 66 มีค่าใช้จ่ายด้านไอที เพิ่มขึ้น 8.1%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine