“ปรีดา ไอรมณีรัตน์” เสริมไฮเทค ขยายน่านน้ำ “Micro Leasing” - Forbes Thailand

“ปรีดา ไอรมณีรัตน์” เสริมไฮเทค ขยายน่านน้ำ “Micro Leasing”

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกธุรกิจ รวมถึงลิสซิ่งบริการเช่าซื้อต่างๆ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ธุรกิจเติบโตและขยายตัวได้เร็วขึ้น ปรีดา ไอรมณีรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านทรัพยากรและการลงทุน บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ผู้ให้บริการสินเชื่อพอร์ตใหญ่จากรถบรรทุกมือสองอันดับต้นๆ ของตลาดยืนยันกับทีมงาน Forbes Thailand ว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นทุกวัน


    MICRO เริ่มใช้เทคโนโลยีกับการให้บริการด้านสินเชื่อมาพอสมควร แต่เพิ่งลงทุนอย่างเต็มที่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือ สามารถลดระยะเวลาทำงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุมัติสินเชื่อจากที่เคยใช้เวลา 7 วันโดยปกติ สามารถทำได้เพียง 3 วัน หรือลดลงกว่าครึ่ง นั่นหมายความว่าบริษัทย่อมมีเวลาไปขยายงานอื่นๆ ได้มากขึ้น

    

โตเร็วในช่วงโควิด

    

    “เราเข้าตลาดฯ ในปี 2563 เดือนตุลาคม ปีนี้จะครบ 3 ปี ตอนที่เข้าตลาดอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พอดี เอฟเอถามจะเลื่อนไหม แต่ฝ่ายบริหารมองว่าเซ็ตไว้แล้วอย่างไรก็เดินหน้า” จึงทำให้ไมโครฯ เป็นบริษัทเพียงไม่กี่รายที่เปิดขายหุ้น IPO ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ผ่านความรุนแรงของเวฟแรกมาได้ไม่นาน ซึ่งก็ถือว่าโชคดี เนื่องจากช่วงนั้นไม่ค่อยมีบริษัทที่เข้า IPO มากนัก “เปิดราคา IPO 2.65 บาท วันแรกราคาไปถึง 5 บาทขึ้นไป 100% พวกเราตื่นเต้นกันมาก เพราะไม่ได้คาดหวังและกังวัลกับโควิดว่าจะทำได้ไหม” ปรีดาย้อนเล่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่น่าตื่นเต้นของ MICRO ในบันทึกประวัติศาสตร์การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังคุกรุ่นรุนแรง

    ในช่วงที่ MICRO เตรียมไฟลิ่งอยู่นั้นเป็นช่วงที่โควิดระบาดระลอกแรก บริษัทจึงต้องปรับแผนตลอด และ 2 เดือนที่ล็อกดาวน์ประเมินว่าธุรกิจจะเดินได้ไหม สำหรับการเป็นบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก ซึ่งเชื่อมโยงกับธุรกิจต่างๆ เมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ธุรกิจหยุดหมด แต่ทว่าโชคดีรถบรรทุกยังวิ่งอยู่เพราะคนต้องกินต้องใช้ ขนส่งยังเติบโต อี-คอมเมอร์ซโตเป็น 10 เท่า ธุรกิจรถบรรทุกจึงเติบโตตามเป็น 10 เท่าเช่นกัน

    อีกทั้งในช่วงนั้นโรงงานหยุดผลิตไม่มีรถใหม่ออกสู่ตลาด ยิ่งทำให้รถบรรทุกมือสองเติบโต สินเชื่อรถบรรทุกมือสองโตตาม เพราะยอดขายรถมือหนึ่งชะลอไป “ตอนที่เราเข้าตลาดฯ พอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ปัจจุบันพอร์ตเราอยู่ที่ 5 พันล้านบาท เป็นการโตต่อเนื่องที่เร็วขึ้น”

    การเข้าตลาดฯ เพื่อระดมทุนมาสำหรับการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม และอีกส่วนเพื่อมาลงทุนในเทคโนโลยี ปรีดาย้ำว่า ที่จริงก่อนเข้าตลาดฯ บริษัทลงทุนเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว เมื่อเข้าตลาดฯ มีหลักเกณฑ์เรื่องการทำบัญชีการเงิน งบการเงินที่ได้มาตรฐานซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ และเมื่อเข้าตลาดสิ่งเหล่านี้ต้องรัดกุมมากขึ้น พร้อมกับการปรับตัวเรื่องบัญชีการเงินต่างๆ อีกส่วนหนึ่งก็นำเงินมาลงทุนด้านเทคโนโลยีโดยได้ บจ. นูทานิคซ์ (ประเทศไทย) เข้ามาช่วยซัพพอร์ตเรื่องเทคโนโลยีราวต้นปี 2562 เข้ามาช่วยทำระบบอินฟราสตรัคเจอร์ด้านเทคโนโลยี มีการลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ และดาต้าซีเคียวริตี้ต่างๆ ให้รัดกุม

    “ตอนที่เข้าตลาดฯ ยังเป็นพอร์ตรถบรรทุกมือสองเป็นหลัก แต่มาเมื่อปี 2565 เริ่มทำสินเชื่อรถจักรยานยนต์ มีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน” ปรีดาบอกเล่าถึงการขยายธุรกิจหลังจากที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้งานเร็วขึ้น และสามารถขยายบริการใหม่ๆ ได้ ทำให้เห็นการเติบโตที่ชัดเจน

    จากจุดเริ่มต้นบริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสองที่เปิดบริษัทมาตั้งแต่ปี 2537 เริ่มต้นโดย ธรรมศักดิ์ อัชญาวัฒน์ เจ้าของผู้ก่อตั้งไมโครฯ ซึ่งช่วงแรกทำเฉพาะสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง เพราะรถบรรทุกมือหนึ่งการแข่งขันสูง ประกอบกับธรรมศักดิ์มีความเชี่ยวชาญในการประเมินรถบรรทุกมือสอง เนื่องจากธุรกิจเดิมทำด้านอะไหล่รถยนต์มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินเรื่องรถยนต์อยู่แล้วจึงเริ่มต้นมาได้ด้วยดี

    แต่เมื่อเปิดมาได้ 3 ปีต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤตการเงินในปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ ผู้ถือหุ้น 30 กว่ารายประสบปัญหามาขอถอนหุ้นออก ช่วงนั้นราคาหุ้นขาดทุนจาก 100 บาทลดลงมาเหลือ 70 บาท “คุณธรรมศักดิ์ไม่ได้ให้ราคาที่ 70 บาทในการรับซื้อหุ้นคืน แต่ให้ราคาที่ 120 บาทบวกกำไรให้ทุกคน โดยคุณธรรมศักดิ์ขาดทุนไป 15 ล้านบาท ตอนนั้นเหลือผู้ถือหุ้นแค่ 10 คน” เป็นแบบอย่างคุณธรรมในการทำธุรกิจที่ปรีดาบอกว่า เขาจดจำแนวคิดนี้และเห็นผลบวกจากวิธีคิดและการกระทำนี้ในเวลาต่อมา

คุณธรรมนำธุรกิจ

    

    ผลบวกที่ว่าก็คือ เมื่อเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งยุติลงหลายคนไปทำธุรกิจดีขึ้น ต่างย้อนกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นกับไมโครลิสซิ่งอีกครั้ง รวมถึงให้เงินกู้บริษัทเพราะเชื่อมั่นในการแบ่งผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม พวกเขาก็กลับมาเพราะเชื่อมั่นและศรัทธา “Motto ของบริษัทคือ กตัญญู ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน และแบ่งปันอย่างเป็นธรรม”

    อีกเหตุการณ์ที่ปรีดาบอกว่า เป็นเรื่องของหลักคุณธรรม ซึ่งเขามองว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น นักลงทุน และลูกค้าเป็นอย่างดีคือ กรณีจังหวะที่จะเข้าตลาดฯ ซึ่งขณะนั้นบริษัทมีกำไรสะสม 400 ล้านบาท ส่วนใหญ่แล้วบริษัทอื่นๆ มักจะจัดสรรกำไรสะสมให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนนำกิจการเข้าตลาดฯ แต่เจ้าของ MICRO ไม่คิดเช่นนั้น เขากลับมองว่าผลกำไรนี้คือดอกผลที่ควรจะเป็นต้นทุนเพื่อสำรองเป็นเงินทุนที่แข็งแรง ไม่ใช่การขายบริษัทเปล่าที่เริ่มต้นใหม่ให้นักลงทุนเข้ามาเสี่ยง “คุณธรรมศักดิ์บอกว่าให้มองถึงผู้ที่จะเข้ามาถือหุ้นใหม่กับเราด้วย ขอเข้า IPO ด้วยเงินกองทุนสะสมก้อนนี้เพื่อเป็นทุนรอนที่ดีให้กับนักลงทุน” สิ่งนี้ทำให้บริษัทได้การตอบรับที่ดีและเติบโตได้เร็วในเวลาต่อมา

    “เป็นคติอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมได้เรียนรู้จากคุณธรรมศักดิ์ เขาคิดว่าถ้าเอากำไรสะสมออกไป การเข้าตลาดฯ ก็จะกลายเป็นการเข้ามาหาผลประโยชน์ แต่การเข้าตลาดฯ ต้องมีทุนไม่ใช่เข้าไปสตาร์ทใหม่” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บริษัทเข้าตลาดฯ แล้วเดินหน้าได้เร็วเพราะเครื่องยนต์ยังเดินอยู่ทำให้บริษัทโตต่อเนื่อง เป็นวิธีคิดและวิธีดำเนินการที่ปรีดาซึมซับมาใช้ในการบริหารองค์กรในปัจจุบัน

    จากวันที่เข้าตลาดฯ มีบริษัทเดียวตอนนี้ก็มี 4 บริษัทที่ไมโครฯ ขยายธุรกิจเพิ่ม มีบริษัทสินเชื่อ บริษัทโบรกเกอร์ประกัน ซึ่งเปิดในปี 2564 เป็นปีที่ 2 หลังจากเข้าตลาดฯ นอกจากนี้ ก็มีบริษัทสินเชื่อบุคคล ซึ่งได้ใบอนุญาตประกอบการจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2565 เริ่มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2566 ทำสินเชื่อบุคคลทั้งแบบไม่มีเล่มทะเบียน และสินเชื่อบุคคลที่ใช้เล่มทะเบียน

    โดยช่วงแรกโฟกัสกับกลุ่มลูกค้าเดิมก่อน รับจำนำเล่มรถบรรทุก เริ่มปล่อยสินเชื่อแล้วคาดว่าพอร์ตในปีแรกน่าจะได้ที่ประมาณ 200 ล้านบาท เนื่องจากปล่อยได้ประมาณเดือนละ 70-80 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    นอกจากนี้ MICRO ยังได้แจ้งตลาดฯ เรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 400 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 800 ล้านบาท บริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง ที่ปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์มีเป้าหมายจะนำเข้าตลาดฯ ด้วยเช่นกัน รอผลดำเนินงาน 3 ปีถ้าใช้งบปี 2568 ประมาณปี 2569 คาดว่าจะได้ยื่นไฟลิ่ง “ตั้งใจจะเข้า SET เลย ตลาดมอเตอร์ไซค์โตอยู่แล้ว ถ้าดูตัวเลขก็จะเห็นว่าตลาดเริ่มกลับมาแล้ว โดยเฉพาะหลังโควิดแต่ตลาดนี้ก็ต้องยอมรับว่าการแข่งขันสูง” ดังนั้น การกำกับดูแลจึงเข้มงวดขึ้น มีการจำกัดเรื่องดอกเบี้ยต้องปรับตัวพอสมควรโชคดีที่ทางบริษัทได้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปีมาช่วย จึงทำได้เร็วอย่างมืออาชีพ

    “ผู้บริหารท่านนี้เคยดูแลพอร์ตที่ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นบริษัทของเราไม่ได้ใหญ่มาก ยังใหญ่ได้อีก เราก็โตไปตามธุรกิจ ตั้งเป้าสินเชื่อปีแรกไว้ที่ 500 ล้านบาท” ปรีดาเผยอีกธุรกิจที่ไมโครฯ กำลังฟูมฟักและคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี ในการสะสมผลประกอบการเพื่อเตรียมแยกตัวยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกราย เป็นบริษัทน้องใหม่ที่มาแรง ซึ่งทั้งหมดนี้ก้าวเดินได้เร็วเพราะมีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน

    เขาบอกว่า ในกลุ่มธุรกิจ 4 บริษัท ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินเชื่อบุคคลแต่ยังไม่ได้ขยายมากเนื่องจากทุนจดทะเบียนชำระไว้ 50 ล้านบาท โดยธุรกิจไมโครฟินนี้จะใช้เน็ตเวิร์กของ MICRO 25 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและภาคกลาง ภาคใต้มีเฉพาะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี “จริงๆ ตอนนี้เราชะลอแผนขยายสาขาลงไป หลังจากขยายมากในช่วงต้นปี 2565 เนื่องจากต้นปี 2566 เดือน 2-3 เกิดสงครามยูเครนมีผลกระทบจึงชะลอการขยายสาขาลง”

    นอกจากชะลอการขยายสาขายังพบมีลูกค้าเป็น NPL (หนี้ไม่ก่อเกิดรายได้) เพิ่มขึ้น แต่ก็พยายามควบคุม ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบน้ำท่วม ส่งออกชะลอตัว มีปัญหาลูกค้าเอารถมาคืนเยอะขึ้น แต่บริษัทก็พิจารณาแก้ปัญหาโดยไม่เอาเปรียบ เช่น หากคืนรถก็ตัดหนี้สูญ ถ้าประมูลขายรถได้ราคาสูงกว่าหนี้ก็คืนส่วนต่างให้ลูกค้า เป็นต้น

    นอกจากนี้ ในปี 2565 กนง. มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทำให้กระทบกลุ่มธุรกิจ ส่วนภาพรวมปีนี้ไตรมาส 1 ยังทรงตัว นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมารถวิ่งขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง คุณภาพลูกหนี้แย่ลง ยอด reject rate สูงขึ้นของ MICRO อยู่ที่ 40% แต่ก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น อย่างธุรกิจอสังหาฯ reject rate สูงถึง 50% สถานการณ์ยังไม่ดีจริงๆ

    อย่างไรก็ตามปรีดาย้ำว่า เมื่อเศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น ธุรกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา และธุรกิจใหม่ที่ทางกลุ่มได้ลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ทำให้มีความคล่องตัวและมีโอกาสเติบโต พร้อมก้าวเดินได้เร็วขึ้นอย่างปลอดภัยและยั่งยืน

    


    อ่านเพิ่มเติม : "ซีพี แอ็กซ์ตร้า" เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ 4 รุ่น อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 3.00-3.95% ต่อปี

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine