CPHI South East Asia 2023 เร่งเครื่องอุตสาหกรรมยา - Forbes Thailand

CPHI South East Asia 2023 เร่งเครื่องอุตสาหกรรมยา

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Jun 2023 | 02:00 PM
READ 1639

    อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ ผลักดันงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023” เป็นเครื่องมือขยายตลาดยา สู่เป้าหมายการเติบโตอุตสากรรมยาในภูมิภาคฯ พร้อมก้าวสู่ผู้ผลิตยาสำคัญของโลก เชื่อความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในงานนี้ ช่วยผลักดันแนวทางความมั่งคงทางการยา ให้เป็นหนึ่งในเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยาชงรัฐ เร่งโรงพยาบาลของรัฐ เพิ่มสัดส่วนรับซื้อในยาจากผู้ผลิตไทย หวังสร้างความมั่นคงทางยา เพิ่มการใช้ยาในประเทศจาก 35% เป็น 50% ภายใน 5 ปี เผยผู้ผลิตไทยเตรียมผลิตยาสิทธิบัตรป้อนตลาดแทนแทนนำเข้า งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคมนี้ที่ ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

    รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023 (CPHI South East Asia 2023)” กล่าวถึงการจัดงานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเภสัชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (CPHI 2023) ว่า แนวคิดการจัดงานมาจาก “ใจกลางยา ใจกลางเมือง กลางใจคุณ”(CPHI At the heart of Pharma) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วางเป้าหมายมุ่งสร้างปรากฏการณ์ภาคอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยให้ก้าวขึ้นเทียบเท่าระดับสากล เพราะบริษัทผลิตยาของไทยมีความสามารถในการผลิตยารองรับความต้องการในระดับโลกได้

    การจัดงานจึงเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตที่แข่งขันได้ในตลาดโลก พร้อมกันกับดึงดูดเม็ดเงินเข้าในประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นการสร้างความมั่นคงทางยา ที่จะช่วยลดการนำเข้าที่ปัจจุบันสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบ 80-90% มาผลิตยา หากมีการสร้างการเติบโตและขยายตัวในตลาด ทั้งในไทยและภูมิภาค จะทำให้ซัพพลายเออร์ต่างประเทศเข้ามาสนใจเจรจาการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย


    “งาน CPHI South East Asia 2023 เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทย เกิดการขยายตัวทางการตลาด สามารถก้าวไปสู่ความมั่นคงทางการยา ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเป็นเมดิคัลฮับ และมอบโอกาสให้ผู้ประกอบการ รู้จักนวัตกรรม ส่วนผสมยา สมุนไพร และการผลิต บรรจุภัณฑ์ยาใหม่ๆ งานที่จัดขึ้นมีเวที เสวนา ให้ความรู้ผลักดันตนวัตกรรมใหม่ รับมือกับโรคอุบัติใหม่ เจรจาต่อยอดธุรกิจผู้ประกอบการยา และเภสัชภัณฑ์กว่า 390 บริษัท 40 ประเทศทั่วโลก เชื่อมโยง โดยตั้งเป้าผู้เข้าเยี่ยมชมงานกว่า 8,000 คนจากทั่วโลก” รุ้งเพชร กล่าว

    ภก.สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมยาในไทยให้ก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล (เมดดิคัล ฮับ)ว่า เมืองไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมายาวนาน จนกระทั่งมีการยกระดับอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 มีการลงทุนครั้งใหญ่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท จนถึงสูงสุดถึง 800 ล้านบาทต่อโรงงาน เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร มาตรฐานการผลิต ยกระดับมาตรฐานยาของให้เท่าเทียมกับมาตรฐานยุโรป PIC/S ซึ่งเป็นมาตรฐานกำหนดที่ทั่วโลกยอมรับ แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือการลดการนำเข้ายาในต่างประเทศ ที่ตลาดยาทั้งประเทศมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี มีการนำเข้ายาจากต่างประเทศถึง 65% มีการผลิตภายในประเทศเพียง 35%ดังนั้นภาครัฐ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ส่งเสริมให้เกิดการผลิตภายในประเทศ และยอมรับผู้ผลิตยาและนำยาในประทเศมาใช้เพิ่มขึ้น เพื่อให้บริษัทยาไทยได้เติบโตในประเทศ และขยายไปสู่ภูมิภาค

    ทั้งนี้ แนวทางสำคัญคือ ภาครัฐจะต้องมีการปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างยาในโรงพยาบาลของไทย โดยการเปิดโอกาสโรงพยาบาลของรัฐรับซื้อยาจากบริษัท หากมีการดำเนินการตามแผน คาดว่า จะมีการใช้ยาภายในไทยเพิ่มขึ้น จะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ จากเดิมมีการใช้ยาที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย 35% เป็น 50% ภายใน 5 ปี เพื่อ ที่จะมีส่วนผลักดันสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ โดยเป้าหมายอันสูงสูงมุ่งหวังจะผลักดันให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ยาภายในประเทศเป็น 70% เช่นเดียวกันกับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

    ทางด้าน ภญ.ลลนา เสตสุบรรณ นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า สมาคมฯ มีหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตยาแผนปัจจุบันที่ผลิตในประเทศไทยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังมีส่วนช่วยยกมาตรฐานของอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันในประเทศไทยให้เพียงพอแก่ความต้องการของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีการหารือร่วมกันกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพิจารณาถึงยาที่มีสิทธิบัตรที่กำลังหมดอายุ และคนไทยสามารถผลิตได้ และประสานงานกับทางผู้ผลิตยาให้นำไปผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้คนไทยเข้าถึงยาในราคาที่คนไทยเข้าถึงยาที่มีราคาสูง โดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง ที่ถือว่าเป็นสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย

    “ได้เตรียมการหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อผลิตยารักษาโรงที่กำลังหมดอายุสิทธิบัตร และไทยสามารถผลิตได้เอง เพื่อทดแทนการนำข้า ซึ่งจะส่งผลทำให้ลดการสูญเสียงบประมาณที่สูงในการนำเข้านับหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะยารักษาผู้ป่วยมะเร็ง หากมีการผลิตได้ภายในประเทศ จะช่วยเสริมความมั่นคงทางยาในประเทศได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศจนเกินไป”

    ภญ.ปาริชาติ แคล้วปลอดทุกข์ ผู้เชี่ยวชาญ 10 ฝ่ายขาย องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สถานการณ์ระบบสาธารณสุขประเทศไทยนั้นได้มีศักยภาพและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากสากล อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก แต่ต้องยอมรับว่า ไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตยาเองได้น้อย ทั้งๆที่ผู้ผลิตภายในประเทศมีมาตรฐานการผลิตที่สูงและเป็นที่ยอมรับ แต่ด้วยวัตถุดิบในการผลิตยาส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 

    ดังนั้น หากต้องวางแผนความมั่นคงทางการยา ไทยต้องลดการพึ่งพิงการนำเข้า สร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการด้านยาแบบครบวงจร ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของประเทศ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ด้วยการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลิต โดยเฉพาะความสามารถในการวิจัย พัฒนาและผลิต API และยานวัตกรรมและมูลค่าสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม Biopharmaceutical ซึ่งขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น เป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาด ร่วมกับภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนายาที่มีความจำเป็น เหล่านี้เป็นต้น

    

    อ่านเพิ่มเติม : KX ยกระดับ Bigfin เชื่อมต่อกับ Binance กระดานเทรดอันดับหนึ่ง พร้อมรองรับนักลงทุนคริปโททั่วโลก ติดตามพอร์ตได้ง่าย

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine