ปลดล็อกจินตนาการสู่ความเป็นจริงของ Metaverse - Forbes Thailand

ปลดล็อกจินตนาการสู่ความเป็นจริงของ Metaverse

แนวคิดจากนิยายวิทยาศาสตร์และวิดีโอเกมกำลังข้ามมาสู่โลกแห่งความจริงแล้ว เมื่อผู้บริโภคทั่วภูมิภาคเอเชียจำนวนมากกำลังเล่นเกม เข้าสังคม ดูคอนเสิร์ต และซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม metaverse เพราะ metaverse สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจได้อย่างหลากหลายด้วยการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบใหม่แห่งโลกอนาคต


    การเปิดรับ metaverse จะปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจมูลค่าล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเอเชีย Deloitte ได้ประเมินว่า metaverse อาจส่งผลกระทบต่อ GDP ในเอเชียไว้ที่ 0.8-1.4 ล้านล้านเหรียญต่อปีภายในปี 2578 หรือประมาณ 1.3-2.4 % ของ GDP โดยรวม แม้ว่าการลงทุนอาจออกดอกออกผลได้ก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาเต็มที่แล้วในระยะยาวในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าก็ตาม

    ผลกระทบของ metaverse จะไม่ได้อยู่แค่ความบันเทิงหรือเกมเท่านั้น แต่รวมถึงอุตสาหกรรมค้าปลีก อี-คอมเมิร์ซ และภาคการผลิต นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ และการศึกษา โดยนอกจากจะสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจแล้ว ยังสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้นด้วย ตั้งแต่ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ หน่วยงานกำกับดูแลไปจนถึงผู้ประกอบการ วัฒนธรรมไปจนถึงความสามารถด้านดิจิทัล เศรษฐกิจของเอเชียต่างมีส่วนส่งเสริม metaverse


ขับเคลื่อนการเติบโตด้วยนวัตกรรม

    การศึกษาของ Deloitte พบว่า metaverse มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยใน 3 เสาหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจมหภาค พื้นฐานทางเทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านระบบนิเวศ

    สำหรับตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของไทยอยู่กึ่งกลางของเศรษฐกิจทั่วเอเชีย หมายความว่า ประเทศไทยก็มีศักยภาพทางนวัตกรรมที่เป็นต้นทุนในการสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่กำลังซื้อฮาร์ดแวร์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญนั้นมีอยู่อย่างจำกัด

    นอกจากนั้น ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วคงที่ที่เร็วที่สุดในโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ใช้ metaverse รวมถึงความเข็มแข็งด้านการส่งออกของไทย (ประมาณ 60% ของ GDP) และฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้

    ส่วนการสนับสนุนด้านระบบนิเวศ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง การเสริมสร้างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว และการปรับปรุงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากพื้นที่นอกกรุงเทพฯ 

    ภาคธุรกิจทราบดีว่า metaverse เปิดโอกาสให้ผู้เล่นจำนวนมากมาร่วมแข่งขันกันในการนำเสนอสินค้า บริการ หรือประสบการณ์แก่ผู้บริโภคที่ได้มากขึ้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล 

    ดังนั้น ระบบและการกำกับดูแลที่ดีจะลดความเสี่ยงของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจจะทำให้หลายคนขยาดกับ metaverse ไปซะก่อน (จาก PDPA ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้) ก็จะช่วยให้เพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่ดีให้กับผู้บริโภค

    นอกจากนี้ การวิเคราะห์ของ Deloitte ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบของ metaverse ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2578 อยู่ที่ 1.1-2.1 หมื่นล้านเหรียญต่อปี หรือ 1.3-2.4% ของ GDP โดยมี 2 อุตสาหกรรมหลักที่น่าจับตามอง ได้แก่ 

    การท่องเที่ยวและบริการเชิงสร้างสรรค์ จากเดิมก่อนเกิดโรคระบาด การท่องเที่ยวสร้างรายได้ประมาณ 18% ของ GDP metaverse จะช่วยสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวเสมือนจริงเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น

    ขณะที่การพัฒนาบริการเชิงสร้างสรรค์ก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0” ที่สร้างรายได้ประมาณ 10% ของ GDP ในปี 2564 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 3.5% เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จาก metaverse เช่นกัน


Metaverse ที่มีความรับผิดชอบ

    แม้ metaverse จะมีแนวโน้มการเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ metaverse ที่มีความรับผิดชอบอาจจะยังต้องใช้เวลาพัฒนา ซึ่งถ้าต้องการใช้ metaverse อย่างเต็มศักยภาพ ควรพิจารณาประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

    metaverse จะชี้ช่องโหว่ทางไซเบอร์ ความเสี่ยง และการรั่วไหลใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลดิจิทัล ภาคธุรกิจและภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลโดยบ่งชี้และจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

    นอกจากนี้ การลงทุนด้านเทคโนโลยี metaverse แบบสมบูรณ์จะเกิดจากการผสานเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน ดังนั้น จึงควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกันทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและทักษะของผู้บริโภค

    ขณะเดียวกันการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคทุกคน ความสามารถในการเข้าถึงและทุนทรัพย์อาจเป็นกำแพงที่กั้นขวางผู้บริโภคจากการมีส่วนร่วมหรือใช้ประโยชน์จาก metaverse การออกแบบที่ดีจึงควรให้ผู้บริโภคทุกคนรวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน และการเคลื่อนไหวสามารถเข้าถึงได้

    สำหรับประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องของภาษี การเป็นเจ้าของ และกฎระเบียบ พื้นที่เสมือนข้ามพรมแดนใหม่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนใหม่ๆ ในแง่ของภาษี การเป็นเจ้าของ และประเด็นด้านกฎหมายต่างๆ ตลอดจนนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัล


Metaverse กับภาคธุรกิจ

    แม้ metaverse ที่สมบูรณ์แบบอาจจะยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีให้ผู้ใช้ยอมรับและการเติบโตทางเศรษฐกิจในวิถีใหม่นี้ แต่เมื่อพิจารณาจากโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจ เรามีทางเลือกให้ผู้บริหารได้ใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมได้ดังนี้

    อย่าประเมินศักยภาพ metaverse ต่ำเกินไป กำหนดยุทธศาสตร์ metaverse ที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภค

    มองการณ์ไกล การสร้างกำไรจาก metaverse อย่างจริงจังอาจใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งหมายความว่า บริษัทต่างๆ ควรเดินเกมระยะยาวและกระจายลงทุนด้านดิจิทัลที่กว้างขึ้น

    มุ่งเน้นไปที่ความต้องการและสิ่งที่กระตุ้นดึงดูดผู้ใช้งาน มองหาวิธีการสร้างเนื้อหาที่น่าดึงดูดใจและประสบการณ์ที่มีส่วนร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนแต่ยังคงความสามารถในการแข่งขัน เช่น สร้างพันธมิตร สร้างเครื่องมือให้ผู้ใช้ร่วมผลิตเนื้อหา และข้อมูลที่มีคุณภาพแบบเชิงลึก

    มุ่งมั่นใน “metaverse ที่มีความรับผิดชอบ” จัดการกับความเสี่ยงและความซับซ้อนของ metaverse อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมกำลังสร้าง metaverse ที่มีความรับผิดชอบในเชิงรุกเพื่อรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภคและพนักงาน

    ท้ายสุด metaverse ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งความสนใจและการสนับสนุนที่ชัดเจนจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับโครงการ metaverse ต่างๆ ที่จะทยอยก่อร่างสร้างตัวจากผู้ประกอบการในแต่ละภาคส่วน 

    โดยอุตสาหกรรมหลักที่น่าจับตามองคือ การท่องเที่ยวและบริการเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจจาก metaverse ก่อน ดังนั้น ความเข้าใจในโอกาส การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะทาง และการลงทุนที่มีศักยภาพจะช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนและประสบความสำเร็จได้ในอนาคต


บทความโดย ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์
ผู้อำนวยการบริหาร Clients and Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย


อ่านเพิ่มเติม: เรื่องสุดแย่ของโรคอัลไซเมอร์ โดย Steve Forbes : Editor In Chief แห่ง Forbes


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine