WILLIAM TANUWIJAYA ปั้น Tokopedia ให้เป็นยูนิคอร์นตัวใหญ่อันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภารกิจของเขายังไม่จบ
William Tanuwijaya ผู้ร่วมก่อตั้ง Tokopedia ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซียกล่าวว่า เขาไม่ชอบชื่อบริษัทตัวเองอยู่หลายปี “ที่จริงผมเคยไม่ชอบชื่อ Tokopedia เพราะมันยาวเกินไป ตอนแรกเราแค่ใช้มันเป็นชื่อโครงการ” Tanuwijaya เล่า “ช่วงที่ครบรอบ 5 หรือ 6 ปี เราอยากจะเปลี่ยนชื่อ แต่ก็หาชื่อดีกว่านี้ไม่ได้ จะว่าอย่างไรดีล่ะ มันคงเป็นพรหมลิขิต” ทุกวันนี้ชื่อของTokopedia ยากที่จะมองข้ามไป เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวเส้นขอบฟ้าใน Jakarta ไปแล้ว ด้วยตัวอักษรสูงเท่าตึก 1 ชั้นที่ติดอยู่บนยอดอาคารTokopedia Tower ซึ่งมีความสูง 52 ชั้น ณ กลางเมืองหลวงของอินโดนีเซียที่เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท (ห้องทำงานของ Tanuwijaya อยู่ชั้นบนสุด) คนในเมืองหลวงมองเห็นชื่อนี้ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืนโดยเฉพาะกลางคืนจะเป็นช่วงที่เห็นชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากตัวอักษรเหล่านี้เปล่งแสงสีเขียวสว่างไสวออกมา Tanuwijaya วัย 38 ปี สร้างกิจการTokopedia ได้อย่างรวดเร็วน่าตื่นเต้น ยอดซื้อขายสินค้ารวมโตขึ้น 100 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา จนอยู่ที่ประมาณ 222 ล้านล้านรูเปียห์ (1.6 หมื่นล้านเหรียญ) ในปีที่แล้ว เว็บไซต์นี้มีผู้ใช้งาน 90 ล้านราย เท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรอินโดนีเซีย 260 ล้านคน โมเดลธุรกิจของTokopedia คล้ายกับ Alibaba คือ การเป็นตลาดที่ใครๆ ก็ตั้งร้านขายสินค้าได้ง่าย (ปัจจุบัน Alibaba เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ Tokopedia ด้วย) ทุกวันนี้เว็บTokopedia มีผู้ค้า 7 ล้านราย ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยไปจนถึงบริษัทใหญ่ในประเทศและบริษัทข้ามชาติ-เร่งสปีดการเติบโต-
Tanuwijaya เร่งการเติบโตขึ้นอีกด้วยการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว โดยเข้าซื้อเว็บอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซียชื่อ Bridestory และเว็บที่เกี่ยวเนื่องกันชื่อ Parentstory เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ด้วยราคาตามรายงานคือ 30 ล้านเหรียญ 2 เว็บนี้ขายสินค้าสำหรับว่าที่คู่แต่งงานใหม่และว่าที่พ่อแม่ Tanuwijaya ยังไม่ชะลอความเร็วเลย เห็นได้จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซีอีโอ Tanuwijaya ขยายกิจการ Tokopedia จากธุรกิจหลักคือ บริการอี-คอมเมิร์ซ สู่ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน บริการจองตั๋วและที่พัก และโลจิสติกส์ เมื่อปี 2018 เขาวางเป้าหมายสูงที่จะทำให้ธุรกิจมีฐานหยั่งลึกมากยิ่งขึ้นในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญของอินโดนีเซีย ซึ่งมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีนั้นพวกเขาเปิดตัวแอป MitraTokopedia ซึ่งมียอดดาวน์โหลดกว่า 1 ล้านครั้ง แอปนี้ออกแบบมาสำหรับเจ้าของร้านค้าประเภท warung หรือร้านค้าขนาดเล็กในชุมชน ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านรายทั่วประเทศ แอปนี้ให้ประโยชน์ 2 เรื่องใหญ่กับเจ้าของร้าน warung หนึ่งคือ เจ้าของร้านสามารถสั่งสินค้าเข้าร้านได้ในราคาต่ำกว่าการซื้อกับตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น และสองคือร้านสามารถขายสินค้าของTokopedia ให้ลูกค้าได้ โดยเฉพาะลูกค้าที่ยากจนเกินกว่าจะมีสมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ตใช้ ก้าวใหญ่ที่สุดของ Tanuwijaya คือ การเสนอขายหุ้นให้กับคนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอของTokopedia ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในปีนี้ เพื่อให้บริษัทนี้เป็นยูนิคอร์นตัวแรกในบรรดา 5 ตัวของประเทศอินโดนีเซีย ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทประกาศแล้วว่า การระดมทุนอีกรอบที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 1 คาดว่าจะได้ทุน 1.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งจะเป็นการระดมทุนครั้งสุดท้ายก่อนแผนการเสนอขายห้นุ ไอพีโอ และบริษัทก็เตรียมพร้อมจดทะเบียนหลักทรัพย์ด้วยการแต่งตั้ง Agus Martowardojo เป็นประธานคณะกรรมาธิการบริษัท เมื่อปีที่ผ่านมา-จากเด็กเฝ้าร้านอินเตอร์เน็ต-
Tanuwijaya มาจากเมืองเล็กชื่อ Pematang Siantar ในจังหวัด Sumatra เหนือ หลังจากจบ ม. ปลาย ครอบครัวส่งเขาไปเรียนด้านไอทีที่มหาวิทยาลัย Bina Nusantara ใน Jakarta แต่ต่อมาครอบครัวของเขาเริ่มลำบากเมื่อพ่อซึ่งทำงานในโรงงานบุหรี่ป่วยเป็นมะเร็ง ตอนเขาเรียนปี 2 เขาจึงต้องทำงานเสริมเป็นผู้ดูแลร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เพื่อหาเงินให้พอใช้ เขาต้องทำงานกะยาวที่เหนื่อยล้าจาก 3 ทุ่มถึง 9 โมงเช้า แต่งานนั้นก็ทำให้ Tanuwijaya มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งในตอนนั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียมีราคาค่อนข้างแพงและยังไม่สะดวกเอาเสียเลย “ผมตกหลุมรักอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ตอนนั้น งานนั้นเหมือนพระเจ้าแอบให้พรมา ถึงการไปเรียนตอนเช้าหลังจากทำงานมาทั้งคืนจะเหนื่อยมากก็เถอะ” เขาเล่า และเสริมว่างานกะกลางคืนเป็นที่มาของโลโก้รูปนกฮูกของTokopedia เมื่อปี 2007 เขาริเริ่มไอเดียทำเว็บไซต์ที่จะปล่อยให้คนจากทั่วประเทศหมู่เกาะแห่งนี้เข้ามาขายสินค้าออนไลน์ได้ง่ายๆ และชวนเพื่อนคู่หูที่มหาวิทยาลัยอย่าง Leontinus Alpha Edison ซึ่งปัจจุบันอายุ 38 ปี มาร่วมงานกันทั้งคู่จดทะเบียนชื่อโดเมนTokopedia ซึ่งมาจากคำว่า toko ที่แปลว่า ร้านในภาษาอินโดนีเซีย กับคำว่า “pedia” ปีแรกๆ พวกเขามีพนักงานแค่ 4 คน รวม Tanuwijaya กับ Edison ด้วย และมีร้านค้าบนเว็บไม่ถึง 100 ร้าน ในช่วงสุดสัปดาห์ Tanuwijaya กับ Edison จะผลัดกันดูแลเว็บและผลัดกันนอนหลังจากเปิดตัวได้ 1 ปี บริษัทจัดการเงินลงทุนของอินโดนีเซีย East Ventures ก็เข้ามาเป็นนักร่วมลงทุนรายแรก เมื่อTokopedia เริ่มเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 Tanuwijaya พูดถึงความคาดหวังของเขาว่า Tokopedia ควรพัฒนาไปอย่างไร “ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เราอยากเป็นบริษัทเทคโนโลยีซึ่งช่วยเหลือใครก็ตามที่อยากเป็นบริษัทเทคโนโลยี” Tanuwijaya กล่าว “กิจการทุกอย่างในอินโดนีเซียจะกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้ด้วยมี Tokopedia เป็นพันธมิตร นี่แหละวิสัยทัศน์ของเรา”คลิกอ่าน “ผู้เปลี่ยนโฉมวงการ" พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน สร ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine