แอนท์กรุ๊ปเผยรายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 พร้อมอัปเดตความคืบหน้าการดำเนินการตามกลยุทธ์ ESG - Forbes Thailand

แอนท์กรุ๊ปเผยรายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 พร้อมอัปเดตความคืบหน้าการดำเนินการตามกลยุทธ์ ESG

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Jun 2023 | 10:50 AM
READ 524

    แอนท์กรุ๊ป (Ant Group) เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 โดยให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในปี 2565

    แอนท์กรุ๊ปลงทุน 20.46 พันล้านหยวน (ประมาณ 2.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในปี 2565 ซึ่งลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปี 2562 การลงทุนดังกล่าวถูกจัดสรรตามการสร้างนวัตกรรมสำคัญ เช่น ฐานข้อมูลแบบกระจายและโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผล, บล็อกเชน, การประมวลผลความเป็นส่วนตัว, ความปลอดภัยของข้อมูลและเครือข่าย, กรีนคอมพิวติ้ง (Green Computing), และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

    "ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา เรามุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาของโลกที่ชุมชนต่าง ๆ ต้องเผชิญมาโดยตลอด เราเชื่อว่าการสร้างทั้งคุณค่าเชิงพาณิชย์และคุณค่าทางสังคมเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท" เอริค จิง ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของแอนท์กรุ๊ป เขียนคำปราศรัยในรายงาน

    ตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญในหัวข้อการพัฒนาสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในรายงานความยั่งยืน การนำเทคโนโลยีกรีนคอมพิวติ้ง (Green Computing) มาใช้ของแอนท์กรุ๊ป โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ให้เหมาะสม และการฝึกโมเดล AI ช่วยลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่มีผลแผ่รังสีเท่ากันกับก๊าซเรือนกระจกถึง 62,127.53 ตัน (เท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์) 

    การลดลงเหล่านี้มีผลกับดาต้าเซ็นเตอร์ในรูปแบบให้เช่าของแอนท์กรุ๊ปและทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงในห่วงโซ่มูลค่าปี 2565 ตามโร้ดแมปการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของแอนท์กรุ๊ป บริษัทจะทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของบริษัทให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 ทั้งนี้ ในปี 2565 แอนท์กรุ๊ปประสบความสำเร็จในการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกครั้ง (ขอบเขตที่ 1 และ 2) เป็นปีที่สองติดต่อกัน ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ทั้งขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573

    แอนท์กรุ๊ปนำเสนอกรอบการประเมินผลและการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) เป็นครั้งแรกในรายงานความยั่งยืนปี 2565 ช่วยให้บริษัทสามารถระบุและจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 ยังระบุพื้นฐานหลักของการปฏิบัติงานสำหรับประเด็นสำคัญที่ได้ระบุไว้ทั้งหมด และให้การรับรองโดยบุคคลที่สาม ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทติดตามความคืบหน้า รักษาความสม่ำเสมอ ตรวจสอบและเปรียบเทียบสถิติด้านความยั่งยืนของบริษัทได้

    “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราค่อยๆ สำรวจเส้นทางการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอนต่ำซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายสำคัญรออยู่ข้างหน้าก่อนที่เราจะบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573 เราจำเป็นต้องทุ่มเทความพยายามและทรัพยากรให้มากขึ้น รวมทั้งทำแผนระยะยาว” อี้เจีย เป็ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของแอนท์กรุ๊ป ระบุไว้ในรายงาน “เรามุ่งมั่นที่จะบรรลุการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรของเราเอง และมีส่วนร่วมกับฐานผู้ใช้ที่กว้างขวาง รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรของเราตลอดจนห่วงโซ่มูลค่าเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

    ในปี 2565 แอนท์กรุ๊ปและบริษัทในเครือเช่น MYbank ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดและเผยแพร่ มาตรฐานการจัดอันดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับเอสเอ็มอี (SMEs) ทั่วประเทศฉบับแรก ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถประเมินการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเอสเอ็มอี รวมทั้งเสนอสิ่งจูงใจ เช่น สินเชื่อสีเขียว (green loans) ภายในสิ้นปี 2565 MYbank จัดอันดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มเอสเอ็มอีจำนวน 6.23 ล้านรายได้สำเร็จตามเกณฑ์สะสม นอกจากนี้ยังให้สินเชื่อสีเขียวแก่เอสเอ็มอี จำนวน 420,000 รายโดยมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษเป็นสิ่งจูงใจ

    ในปี 2565 แอนท์กรุ๊ปได้มอบหมายประเด็นสำคัญ 19 รายการซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในรายงานความยั่งยืนให้กับผู้บริหารและผู้นำด้านธุรกิจซึ่งมีหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์หลักที่ต้องการ (OKRs) และวางแผนการดำเนินการในระยะสามปี ตัวอย่างเช่น การเติบโตอย่างทั่วถึงของธุรกิจเอสเอ็มอี บริษัทได้เปลี่ยนจากตัวชี้วัดแบบเดิม เช่น จำนวนผู้ใช้หรือจำนวนผู้ใช้รายวัน (DAU) ที่บริษัทอินเทอร์เน็ตมักใช้เป็นตัวชี้วัด หันไปมุ่งเน้นที่การปรับปรุงการเข้าถึงบริการสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ก่อนหน้านี้ถูกลิดรอนโอกาสดังกล่าวด้วยวิธีการอื่น นอกจากนี้ยังใช้การลดต้นทุนการดำเนินงานและการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานเป็นตัวชี้วัดอีกด้วย

    “เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสการเติบโตของบริษัทในอนาคตมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความสามารถในด้านการช่วยแก้ปัญหาสังคม” อี้เจีย เป็ง กล่าวเสริม “ดังนั้น การสร้างคุณค่าเชิงพาณิชย์และสังคมแบบบูรณาการจึงเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ ESG ของเรา และช่วยให้เราสามารถระบุโอกาสทางนวัตกรรม และผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนของเราในอนาคตได้”

    ในประเด็นความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital Inclusion) แอนท์กรุ๊ปและบริษัทในเครืออย่าง MYbank ได้ให้บริการด้านการชำระเงินและบริการทางการเงินแบบครอบคลุมแก่เอสเอ็มอีจำนวน 86 ล้านราย (รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก) ตามเกณฑ์สะสม ทำให้กระบวนการมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายในการให้บริการเอสเอ็มอี 100 ล้านรายภายในปี 2573 โดยในปี 2565 ปริมาณการทำธุรกรรมเฉลี่ยผ่านมินิโปรแกรมของผู้ค้าบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์เพิ่มขึ้น 49.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แอนท์กรุ๊ปช่วยสนับสนุนให้ลูกค้า 260 ล้านคนเข้าถึงบริการของพันธมิตรทั่วโลกได้ และยังทำให้เอสเอ็มอีเข้าร่วมการค้าระดับโลกได้ง่ายขึ้นผ่านการชำระเงินข้ามพรมแดนและบริการทางการเงินของบริษัท

    ในปี 2565 แอนท์กรุ๊ปสนับสนุนความมุ่งมั่นที่จะกำกับดูแลกิจการด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน ESG การแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างการกำกับดูแลของบริษัท โดยโอเพนส์แพลตฟอร์มของอาลีเพย์ได้ร่วมมือกับผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (ISV) เพื่อสร้างโซลูชันเฉพาะอุตสาหกรรมกว่า 400 รายการ ในการช่วยเหลือผู้ค้าจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เติบโตและได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรม โดยโอเพนส์แพลตฟอร์มด้านดิจิทัลไฟแนนซ์ของแอนท์ (Ant Digital Finance) ได้ช่วยเหลือพันธมิตรในฝั่งสถาบันทางการเงินกว่า 150 รายในการให้บริการแก่ผู้ใช้ประมาณหนึ่งล้านคนต่อปี

    ในปี 2565 แอนท์กรุ๊ปบริจาคเพื่อการกุศล 790 ล้านหยวน (ประมาณ 111.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้ยอดสะสมของการใช้จ่ายเพื่อการกุศลเป็น 2.7 พันล้านหยวน (ประมาณ 381.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งแต่ปี 2562 หนึ่งในหลายๆ โครงการ "ไซเบอร์ มู่หลาน” (Cyber Mulan) คือโปรแกรมที่ช่วยปลุกพลังในการพัฒนาความสามารถของผู้หญิงใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การคุ้มครองขั้นพื้นฐาน การสนับสนุนการจ้างงานและอาชีพ และโอกาสในการเติบโตที่หลากหลาย โดยมอบกรมธรรม์ประกันภัย 3.75 ล้านฉบับแก่ผู้หญิงในพื้นที่ชนบท เสนอการฝึกอบรมงานและโอกาสการจ้างงานแบบดิจิทัลให้แก่ผู้หญิง 10,000 คน ขยายสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการสตรีกว่า 1 ล้านคน และสนับสนุนทีมฟุตบอลหญิงในชนบท 70 ทีม

    ตั้งแต่ปี 2560 แอนท์กรุ๊ปได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปีตามมาตรฐานองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative) สามารถอ่านรายงานได้บนเว็บไซต์แอนท์กรุ๊ป (ขณะนี้มีให้บริการเฉพาะฉบับภาษาจีน ฉบับภาษาอังกฤษจะเผยแพร่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า)

    อ่านเพิ่มเติม : "ลอรีอัล" เผยโฉมนวัตกรรมบิวตี้เทคเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมสุดล้ำที่งาน Viva Technology 2023

    ​ ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON