ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ แห่ง THTI แนะสิ่งทอ เปลี่ยนเกมชิงตลาดโลก - Forbes Thailand

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ แห่ง THTI แนะสิ่งทอ เปลี่ยนเกมชิงตลาดโลก

    อุตสาหกรรมสิ่งทอ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทในประเทศไทย เคยเป็นต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยในยุคอุตสาหกรรม 2.0 แต่เจอผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดียตีตลาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจ วันนี้มีโอกาสที่อุตสาหกรรมสิ่งทอจะเปลี่ยนเกมสู่ผู้นำในตลาดโลกได้ โดยดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) แนะผู้ประกอบการไทยถึงเวลาลุยตลาดสิ่งทอสีเขียว ผนึกพลังซอฟต์พาวเวอร์ผงาดตลาดโลก

    ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) ในฐานะนักวิจัยและผู้อำนวยการสถาบันฯที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานาน นับตั้งแต่ยุครุ่งเรือง จนถึงยุคที่อุตสาหกรรมสิ่งทอถูกมองว่าเป็นธุรกิจตะวันตกดิน (Sunset) ด้วยมูลค่าอุตสาหกรรมปีละประมาณ 400,000 นับวันหดตัวลง และล่าสุดปี 2566 คาดว่าจะติดลบ 15% แต่วันนี้เริ่มมีความหวังจากการที่อุตสาหกรรมของโลกเปลี่ยนเกมใหม่ก้าวสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอสีเขียว และไทยยังมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลกได้อีกครั้ง

    

ชิงตลาดสิ่งทอสีเขียว

    

    “ปัจจุบัน ตลาดโลกให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสิ่งทอสีเขียวตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ พืชที่นำมาใช้ในการผลิตเส้นใย การผลิตผ้าผืนที่ไม่ใช่สารเคมี ตลอดจนการใช้เครื่องจักรที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเปลี่ยนเกมของอุตสาหกรรมสิ่งทอในอนาคต และไทยมีศักยภาพที่จะก้าวเป็นผู้นำตลาดได้ เพราะเราเป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยผู้ประกอบการไทยต้องกล้าที่จะลงทุนเพื่ออนาคต” ดร.ชาญชัยกล่าว

    ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่เป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่มีประมาณ 3,000 ราย คิดเป็น 10% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ได้ทยอยลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่สู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนหนึ่งดำเนินการตามกฎ ระเบียบโลกใหม่ เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้สินค้าที่ส่งออกไปขายต้องรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเทรนด์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้จะต้องจ่ายแพงขึ้น ทำให้แบรนด์ระดับโลกหันมาใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลีวายส์ มีนโยบายในการใช้ใยกัญชงในการผลิตสินค้า 30% เพราะทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวัตถุดิบพวกฝ้าย เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ผู้นำในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยส่วนหนึ่งหันไปมุ่งผลิตเส้นใยคุณภาพสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องใช้เส้นใยที่มีน้ำหนักเบา อย่างใยกัญชง ในการผลิตผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ หรือแอร์แบค แต่ผู้ประกอบการระดับกลางส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับตัว เนื่องจากที่ผ่านมา ประสบปัญหาในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับผู้ผลิตจีน หรือเวียดนามที่เน้นแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก ทำให้อ่อนกำลังลง

    “แต่เมื่อเกมเปลี่ยน ผู้ซื้อ ผู้บริโภค หันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เท่ากับเป็นการ Set Zero ใหม่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้ประกอบการไทยก็มีโอกาส เพราะในตลาดโลก มีไทยกับญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลกในเรื่องคุณภาพ” ดร.ชาญชัยกล่าว

    

ชูพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทยช่วยหนุน

    

    นอกจากนี้ ด้วยพลังของซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เช่นกรณีที่ ลิซ่า BLANKPINK ใส่ผ้าฝ้ายหมักโคลนย้อมคราม จ.อุดรธานี กลายเป็นกระแสดังไปทั่วโลก หรือกางเกงช้าง ที่ชาวต่างชาตินิยมใส่ ซึ่งน่าเสียดายว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผลิตจากจีน สิ่งเหล่านี้ คือพลังของซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยกลับมามีโอกาสในตลาดโลกอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจและคว้าโอกาสนี้ได้มากน้อยขนาดไหน

    “สิ่งสำคัญ คือการทำมาร์เก็ตติ้ง เสื้อผ้าต้องสร้างแบรนด์ สร้างสตอรี่ จดลิขสิทธิ์ และทำการสื่อสารออกไปให้ตลาดรับรู้” ดร.ชาญชัยกล่าว

    ตลาดต่างประเทศในขณะนี้ ผู้ผลิตเครื่องจักร สารเคมี วัสดุสิ่งทอ ได้ Transform ไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจากเทรนด์รักษ์โลกและถือเป็น movement ครั้งใหญ่ของโลก คือการมีฉลากที่ตัวสินค้า บ่งบอกชัดเจนถึงที่มาของวัสดุต่างๆ ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเหมือนการเล่าเรื่องที่มาของเสื้อผ้า มีส่วนผสมหรือกระบวนการที่ผลิตออกมามีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร แบรนด์ใหญ่ๆ มีความชัดเจนเรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นสื่อสารในรายละเอียดของวัสดุที่นำมาผลิต ตลอดจนกระบวนการผลิต

    ดร.ชาญชัย กล่าวว่า สถาบันฯ เตรียมเสนอโปรเจกต์ให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอสียเขียว รวมถึงการทำการตลาด ด้วยการนำ Soft Power มาใช้ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ ที่จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า ผู้ประกอบการมีความใส่ใจในทุกวัสดุที่นำมาใช้งานและทุกขั้นตอนของการผลิต รวมถึงแนวคิดการส่งเสริมชุมชนในการส่งเสริมภูมิปัญญา ที่จะนำมาพัฒนาและต่อยอดให้เข้ากับตลาดของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

    นอกจากนี้ สถาบันฯ จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาหรือคิดค้นเส้นด้ายใหม่ ๆ ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเส้นด้ายเหล่านี้สามารถนำไปใช้งานถักทอได้เหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม เพื่อให้ดีไซเนอร์และผู้ผลิตได้นำวัสดุใหม่ๆ เหล่านี้ไปใช้

    “การสนับสนุนในลักษณะนี้ หากภาครัฐไม่เข้ามาช่วย ก็อาจจะทำให้การดำเนินการเป็นไปได้ช้า โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองความเป็นออร์แกนิคหรือการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จะมีขั้นตอนและมีความซับซ้อนของการดำเนินงาน ซึ่งการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของราคา ซึ่งต่างชาติมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าจากไทย รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยในเรื่องของตัวสินค้าอยู่แล้ว การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนภาพลักษณ์เรื่อง BCG ให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น และยังจะได้รับการสนับสนุนจากตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย” ดร.ชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย

    

    อ่านเพิ่มเติม : FWD ประกันชีวิต นำ AI ต่อยอดแคมเปญ Celebrate living with Pride, everywhere ร่วมฉลอง Pride Month

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON