ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา นำทัพทรู ไอดีซี มุ่งสู่ศูนย์กลางดิจิทัลของอินโดจีน - Forbes Thailand

ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา นำทัพทรู ไอดีซี มุ่งสู่ศูนย์กลางดิจิทัลของอินโดจีน

ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา
ในโลกธุรกิจที่จุดหมายของทุกองค์กรล้วนพุ่งเป้าไปที่รายได้สุทธิและส่วนแบ่งการตลาด แต่หัวใจพื้นฐานที่ทำให้ทุกธุรกิจเติบโต คือ การสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนโดยตั้งอยู่บนรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศควบคู่ไปด้วย ด้วยความเชื่อนี้เอง ทำให้ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา เอ็มดีหนุ่มไฟแรงแห่งทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ (ทรู ไอดีซี) ผู้นำการให้บริการคลาวด์ และดาต้า เซ็นเตอร์แบบเสรี (Carrier Neutral) ในประเทศไทย มีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อน ทรู ไอดีซี สู่เป้าหมายแห่งการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอินโดจีนอย่างไม่หยุดยั้งด้วยความมุ่งมั่นสะท้อนจากความแข็งแกร่งและศักยภาพขององค์กรที่มีอายุ 16 ปีเต็มในปีนี้ ด้วยการสร้างผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง ทะยานจาก 10% สู่ 55% ซึ่งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทรู ไอดีซีนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2003 อะไรคือ เคล็ดลับการบริหารองค์กรที่เหนือชั้น จนพาให้องค์กรเติบโตทั้งด้านรายได้ ผลกำไร และ การขยายการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปในทุกมิติได้อย่างสมบูรณ์แบบ เอ็มดีหนุ่มคนเก่งมีคำตอบ   อัพเลเวลทรู ไอดีซี 1.0 สู่ 3.0 เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพเส้นทางความสำเร็จของทรู ไอดีซี ศุภรัฒศ์ สรุปเป็น 3 เฟสให้เห็นภาพชัดเจน เริ่มจากเฟสแรก ที่ทรู ไอดีซีเริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2003 ในฐานะธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เป็นหลัก ซึ่งเขานิยามให้เข้าใจง่ายว่าเป็นทรู ไอดีซี 1.0 ในเวลานั้น คณะผู้บริหารตั้งคำถามเชิงกลยุทธ์ว่า "ทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มีมาตรฐานระดับสากล  เพราะหากย้อนไปเมื่อ 16 ปีที่แล้วธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ในไทยยังไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าที่ควร ดังนั้นทรู ไอดีซีจึงมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการจนได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ISO, Uptime, PCI-DSS ฯลฯ "กระทั่งปี 2014 ทรู ไอดีซี มีการเปลี่ยนทีมผู้บริหารทั้งหมด และผมเองก็มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้บริหารด้วย เราตั้งคำถามเชิงกลยุทธ์ของทรูไอดีซี 2.0 ว่า "จะทำอย่างไรเพื่อสร้างธุรกิจคลาวด์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตไปในกลุ่มอาเซียน"  สิ่งที่เราทำคือ บุกเบิกและนำเข้าคลาวด์ระดับโลกมาใช้ในไทย อาทิ Amazon Web Services, Google, Microsoft โดยชูกลยุทธ์หลัก คือ "One-Stop-Shop" ที่พร้อมให้บริการแบบครบวงจรด้วยความรวดเร็ว ผลจากกลยุทธ์นี้ไม่เพียงทำให้ทรู ไอดีซี ครองส่วนแบ่งในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์และพับบลิคคลาวด์ได้มากที่สุด แต่ยังสร้างชื่อให้ทรู ไอดีซีเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากผลการสำรวจ Brand Awareness ในปีก่อนหน้านั้นพบว่า มีคนรู้จักทรู ไอดีซีเพียง 44% แต่หลังจากทรู ไอดีซี ก้าวเข้าสู่ยุค 2.0 ผลสำรวจกลับพบว่า บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้นถึงกว่า 80%" จวบจนในปี 2018 ซึ่งถือเป็นหลักไมล์สำคัญของธุรกิจก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงได้แม่ทัพหนุ่มคนใหม่ขึ้นมาขับเคลื่อนองค์กร แต่ยังขนกลยุทธ์ใหม่ๆ มาอัพเลเวลองค์กรสู่ ทรู ไอดีซี 3.0 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ "ผมเล็งเห็นแล้วว่า แลนด์สเคปของการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป จากในปี 2014 ที่ยังไม่มีดาต้า เซ็นเตอร์ที่แข็งแรงในตลาด ผ่านไปเพียง 1 ปีธุรกิจ ดาต้า เซ็นเตอร์ มีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น 2 เท่า ขณะที่ผู้ให้บริการคลาวด์ซึ่งเดิมเราเป็นเจ้าแรก แต่ตอนนี้มีผู้ให้บริการคลาวด์ระดับรีเซลเลอร์ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกกว่า 20 ราย ทำให้คำถามเชิงกลยุทธ์ของเราต้องเปลี่ยนอีกครั้ง เพราะในเมื่อมีหลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญในบริการเหล่านี้เป็นอย่างมาก เราจะทำอย่างไรเพื่อเร่งเครื่องการเติบโตขององค์กรให้นำห่างคู่แข่ง พร้อมทั้งพัฒนาตลาด และเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน" อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า บางครั้งกลยุทธ์ของธุรกิจ มาจากการตั้งคำถามที่ชัดเจนมากกว่าการหาคำตอบ ทำให้เอ็มดีหนุ่มไฟแรงใช้คำถามเชิงกลยุทธ์ใหม่นี้เป็นเข็มทิศในการนำทัพและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายมิติในปี 2018 ซึ่งเขานิยามว่าเป็นการเปิดศักราชเข้าสู่ทรู ไอดีซี 3.0 บันไดสู่ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ศุภรัฒศ์เล่าอย่างออกรสให้เห็นภาพต่อว่า ทรู ไอดีซี ในเวลานั้นเดินหน้าเปลี่ยนแปลงเกือบทุกด้าน เริ่มจากการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบ และก่อสร้าง ดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งเดิมคอนเซ็ปต์ในการสร้างจะคล้ายกับโครงการบ้านจัดสรร คือ สร้างเป็นโซน เปิดโซนแรกอาจมี 20 หลัง พอขายหมดก็สร้างเพิ่ม โดยมีข้อดี คือ ลงทุนเมื่อมีลูกค้าที่แน่นอน ในขณะที่ข้อเสีย คือ ต้นทุนสูง เพราะฉะนั้นแทนที่จะสร้างเป็นโซนๆ ปริมาณน้อยๆ เราทำเป็นมาสเตอร์แพลนสร้างทีเดียวได้จำนวนแร็ครวมมากขึ้น นอกจากช่วยบริหารเวลาในการก่อสร้างได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แล้วยังลดต้นทุนการก่อสร้างพร้อมรองรับความต้องการของลูกค้าองค์กรธุรกิจรายใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับบีบีไอเอ็กซ์ (BBIX) บริษัทภายใต้เครือของซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป ของญี่ปุ่น ก่อตั้ง "บริษัท บีบีไอเอ็กซ์ ประเทศไทย" เพื่อให้บริการศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Exchange Point : IXP) ในประเทศไทย โดยให้บริการระดับเลเยอร์ 2 ซึ่งถือเป็นการก่อตั้ง IXP ระดับ "เวิลด์คลาส" แห่งแรกในไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มองไปไกลกว่าแค่ ดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ แต่มองถึงเน็ตเวิร์กที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น "ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงทำให้เน็ตเวิร์กเราแข็งแรง แต่ยังสร้างความแตกต่างในตลาด ทำให้ลูกค้าต่างชาติที่ต้องการขยายบริการมายังอินโดจีนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น ทั้งในนามของผู้ให้บริการ IXP และ ดาต้า เซ็นเตอร์ ประเทศไทย" ในส่วนการให้บริการคลาวด์ ทรู ไอดีซี ได้เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการและทลายข้อจำกัดของการจัดเก็บข้อมูลนอกประเทศ ด้วยการจับมือกับเทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) เปิดตัวบริการคลาวด์ครบวงจรที่รองรับระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นรายแรก โดยไม่ได้เน้นจุดขายเฉพาะการตั้งเวิลด์คลาสคลาวด์ในประเทศไทยอย่างเดียว แต่ยังแสดงศักยภาพด้าน AI ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกธุรกิจในอนาคต โดยจากนี้ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI ไม่จำเป็นต้องใช้บริการคลาวด์นอกประเทศ แต่สามารถใช้บริการ เทนเซ็นต์คลาวด์กับ ทรู ไอดีซี ในประเทศไทยได้ อีกกลยุทธ์สำคัญที่ศุภรัฒศ์นำมาใช้ คือ การสร้าง Regional Data Center and Cloud Command Center ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อยกระดับการให้บริการเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ซึ่งจากกลยุทธ์ทั้งหมดที่ดำเนินมา 12 เดือน ไม่เพียงถูกบอกเล่าถึงข้อดีผ่านผู้นำองค์กร แต่สะท้อนให้เห็นเป็นตัวเลขผลประกอบการที่สูงเป็นประวัติการณ์ "นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ผมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรมากเช่นกัน เพราะมากกว่าครึ่งของพนักงาน ทรู ไอดีซีเป็นกลุ่มที่ทำงานกับเรามาเกือบ 15 ปี ดังนั้นเราจึงดูแลทุกคนเสมือนคนในครอบครัว นอกจากจะมีแผนพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมและก้าวนำกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลอย่างชัดเจน ยังปรับโครงสร้างกระบวนการทำงาน ลดช่องว่างของแต่ละหน่วยงานให้สอดประสานกับกลยุทธ์ของบริษัททั้งในและต่างประเทศ ภายใต้โครงสร้างแบบใหม่ให้มีความเป็นเอกภาพ (Regional Structure) เพราะเรามองว่าธุรกิจเทคโนโลยีนั้นไร้พรมแดน ไม่ได้จำกัดกรอบว่าให้บริการอยู่ในประเทศไหน ตัวอย่างเช่น แผนกการตลาด แทนที่จะมีทีมหนึ่งดูไทย อีกทีมดูพม่า เรารวบเหลือทีมเดียว เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ การบริการเร็วขึ้น ต้นทุนไม่เพิ่ม" ก้าวต่อไปของ ทรู ไอดีซี สำหรับวิสัยทัศน์จากนี้ ศุภรัฒศ์ ฉายภาพให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ทั่วโลก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 15% ส่วนธุรกิจคลาวด์ จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 24% ซึ่งสวนทางกับมุมมองของทรู ไอดีซีที่มองว่า การเติบโตของตลาดน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ เนื่องจาก 3 เหตุผลหลัก ซึ่งเอ็มดี คนเก่งค่อยๆ  ชี้ให้เห็นทีละข้อ "ข้อแรก ถึงวันนี้ไทยจะมีการพูดเรื่องฟินเทคค่อนข้างมาก แต่มีอีก 2 ธุรกิจหลักที่ ทรู ไอดีซี มองว่ายังไม่ได้เริ่มต้นกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีชัดเจน นั่นคือ ธุรกิจเมดิคอล และ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการตื่นตัวค่อนข้างมาก ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งผมเชื่อว่ากระแสการตื่นตัวนี้จะนำมาซึ่งดีมานด์มหาศาลในการใช้ดาต้า เซ็นเตอร์และคลาวด์  เช่นเดียวกับธุรกิจด้านเมดิคอล ที่เราเริ่มเห็นดีมานด์ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ดังนั้นทั้งสองธุรกิจนี้จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ทรู ไอดีซี ต้องทำความเข้าใจ เพราะเราไม่สามารถเป็นเพียงผู้ให้บริการหรือแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่เราต้องเข้าใจธุรกิจของลูกค้าที่มีโอกาสเติบโตชัดเจน" "ปัจจัยถัดมาคือ นโยบายรัฐบาล เราสนับสนุนให้ดาต้าที่มีความสำคัญอยู่ในประเทศ เพื่อที่จะสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุน และก่อให้เกิดการเรียนรู้ รวมถึงเพิ่มรายได้ในการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล" "ปัจจัยที่สาม คือ โฉมหน้าของลูกค้าที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ลูกค้ากลุ่มธุรกิจจะไม่ใช่ธุรกิจที่มาจากฝั่งยุโรปหรืออเมริกาอีกต่อไป แต่ลูกค้าที่จะมีบทบาทเพิ่มในอาเซียน คือ จีน วันนี้จีนมาลงทุนในไทย เพราะนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเป็นอันดับหนึ่ง และไทยยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีคนจีนโยกย้ายมาอาศัยอยู่มากที่สุด ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจากจีนหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งผมมองว่านอกเหนือจากการให้บริการ ต้นทุนที่จะเป็นแต้มต่อในโอกาสครั้งนี้ เรายังต้องเข้าใจธรรมชาตินักธุรกิจจีน  เข้าใจวัฒนธรรม ซึ่ง ทรู ไอดีซี ได้มีวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับเตรียมความพร้อมพนักงาน" อย่างไรก็ตาม ศุภรัฒศ์ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า แม้เราจะมีนโยบายทำเพื่อธุรกิจ แต่เป้าหมายสูงสุดของ ทรู ไอดีซี  คือ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอินโดไชน่าอย่างแท้จริง "นอกจากธุรกิจทรู ไอดีซี จะเติบโต เรายังเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีดาต้า เซ็นเตอร์ และ คลาวด์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้ว ยังมีศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นมาตรฐานระดับโลก และมีคลาวด์ระดับโลกตั้งอยู่ในไทย วันนี้เราพร้อมแล้วสำหรับการร่วมผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ Digital Economy และเป็นศูนย์กลางของอินโดไชน่าอย่างแท้จริง"