Pet tourism เทรนด์ที่มาพร้อมโอกาสทางธุรกิจ เมื่อเจ้าของต้องการเที่ยวกับสัตว์เลี้ยง - Forbes Thailand

Pet tourism เทรนด์ที่มาพร้อมโอกาสทางธุรกิจ เมื่อเจ้าของต้องการเที่ยวกับสัตว์เลี้ยง

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Nov 2024 | 12:00 PM
READ 197

เทรนด์ Pet tourism หรือการท่องเที่ยวพร้อมสัตว์เลี้ยง เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้มีสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะจากกระแส Pet humanization ซึ่งทำให้เจ้าของอยากพาสัตว์เลี้ยงของตนออกไปท่องเที่ยวเพื่อทำกิจกรรม พร้อมทั้งได้ใช้เวลาและสร้างประสบการณ์พิเศษร่วมกันมากขึ้น จึงส่งผลให้ตลาด Pet tourism กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต


    สำหรับ 4 ปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเทรนด์นี้ ได้แก่

    1. กระแส Pet humanization จากที่ในปัจจุบันกลุ่มผู้มีสัตว์เลี้ยงหันมาเลี้ยงสัตว์เสมือนลูกหรือสมาชิกครอบครัว (Pet parent) มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนโสด ส่งผลให้เจ้าของยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อสัตว์เลี้ยงค่อนข้างมาก ทั้งด้านอาหาร ด้านสุขภาพ รวมถึงการพาสัตว์เลี้ยงออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน

    2. จำนวนสัตว์เลี้ยงและผู้มีสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้ง สุนัข แมว และสัตว์อื่น ๆ เช่น นก ปลา เพิ่มขึ้นราว 2.5%CAGR และยังสอดคล้องกับจำนวนครัวเรือนที่มีสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน อีกทั้ง ในช่วงปี 2568-2571 จำนวนสัตว์เลี้ยงยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 2.6%CAGR

    3. จำนวนธุรกิจที่พร้อมให้บริการด้าน Pet tourism เพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเติบโต 17%CAGR ในช่วงปี 2558-2566 ทั้งในกลุ่มขายปลีกอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มบริการทางการแพทย์ และกลุ่ม Pet care อีกทั้ง ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารจำนวนมากยังขยายบริการใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะด้วย

    4. การสนับสนุนจากภาครัฐ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทรนด์ Pet tourism จึงจัดทำโครงการ Amazing Happy Paws เพื่อประชาสัมพันธ์และโปรโมต Pet tourism ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีสัตว์เลี้ยง ควบคู่ไปกับการสร้างฐานข้อมูลธุรกิจ Pet friendly เพื่อกลุ่ม Pet tourist โดยเฉพาะด้วย ซึ่งส่งผลให้การพาสัตว์เลี้ยงไปท่องเที่ยวได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น



    SCB EIC ประเมิน 4 ธุรกิจที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโตจากกลุ่ม Pet tourist ดังนี้

    1. ธุรกิจโรงแรมและที่พัก โดยมีโอกาสจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าเข้าพักสำหรับสัตว์เลี้ยง อีกทั้ง คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยของทั้งโรงแรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วยจากการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อย่างผู้มีสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ธุรกิจโรงแรมจะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้แก่สัตว์เลี้ยงที่เข้าพักด้วย

    2. ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งจะตอบโจทย์กลุ่มผู้นิยมพาสัตว์เลี้ยงไปรับประทานอาหารมากขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มรายได้จากการขายเมนูอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษ ทั้งในรูปแบบอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่ม

    3. ธุรกิจขนส่งและการบิน จากการที่ผู้มีสัตว์เลี้ยงเริ่มพาสัตว์เลี้ยงเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยมากขึ้นในเส้นทางในประเทศและต่อเนื่องไปยังเส้นทางระหว่างประเทศ อีกทั้ง ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยพร้อมสัตว์เลี้ยงด้วย ทำให้สายการบินสามารถเพิ่มรายได้จาการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษในส่วนนี้ได้เช่นกัน

    4. ธุรกิจ Pet healthcare & Wellness ด้วยการให้บริการในหลายด้าน เช่น การบริการ Pet care และ Pet grooming เพื่อเตรียมความพร้อมให้สัตว์ก่อนออกไปเที่ยว การตรวจสุขภาพและออกใบรับรองสุขภาพพร้อมฝังไมโครชิพเพื่อใช้ในการเดินทาง และการให้บริการด้านเวลเนสแก่สัตว์เลี้ยง อย่างเช่น การทำสปา การฉีดวัคซีน และการพาไปออกกำลังกายหรือว่ายน้ำ



    ความท้าทายของภาคธุรกิจในการรองรับ Pet tourism คือการสร้างสมดุลในการให้บริการระหว่างกลุ่มลูกค้ารักสัตว์และกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับสัตว์/เป็นภูมิแพ้สัตว์ และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริการที่เพิ่มขึ้น โดยในด้านแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินธุรกิจจะต้องพึ่งพาลูกค้าทั้งกลุ่มรักสัตว์และกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับสัตว์/เป็นภูมิแพ้สัตว์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต้องแบ่งแยกพื้นที่ให้บริการของแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน และกำหนดมาตรฐานความสะอาดในการให้บริการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจแก่ลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม

    ในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรองรับกลุ่ม Pet tourist ที่จะต้องบริหารจัดการในรูปแบบของต้นทุนในการทำความสะอาด บุคลากรที่มารองรับการให้บริการ การบำรุงรักษา และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับสัตว์เลี้ยง

    ทั้งนี้แนวทางการดึงดูด Pet tourism ของภาคธุรกิจ ควรประกอบด้วย

    1. การนำเสนอบริการที่ได้มาตรฐาน มีกฎระเบียบที่ชัดเจนและตรงตามความคาดหวังของกลุ่ม Pet tourist จากการกำหนดค่าบริการและการออกข้อกำหนดของสัตว์เลี้ยงให้ชัดเจนและยุติธรรม

    2. การเพิ่มการประชาสัมพันธ์ด้วยรูปสัตว์เลี้ยง จะช่วยดึงดูด Online engagement ได้มากขึ้นและสามารถสื่อสารถึงกลุ่มผู้รักสัตว์ได้ตรงจุด

    และ 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดีหรือระดับพรีเมียมเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้ารักสัตว์ที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง


ภาพ: SCB EIC และ Unsplash.com


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คนไทยชอบไป ‘ญี่ปุ่น’ มากสุด แต่ ‘จีน’ เริ่มมาแรง อานิสงส์ฟรีวีซ่า สรุปข้อมูลอินไซต์จาก Agoda

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine