MICHELIN เปิดตัว green star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” - Forbes Thailand

MICHELIN เปิดตัว green star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก”

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Jul 2021 | 07:30 AM
READ 2105

MICHELIN เปิดตัว green star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” หลังจากเข้าถือหุ้น ‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ไวน์ แอดโวเคท’ นิตยสารไวน์ระดับโลก ประเดิมเปิดตัวปีแรกโดยมีโรงผลิตไวน์ 24 แห่งจากทั่วโลกได้รับตราสัญลักษณ์

ภายหลัง ‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ไวน์ แอดโวเคท’ นิตยสารไวน์ระดับโลกซึ่งกลุ่มมิชลินได้เข้าถือหุ้นทั้งหมดเมื่อปี 2562 กลายมาเป็นพลังสำคัญร่วมกับคู่มือ มิชลิน ไกด์ในการรังสรรค์ “ประสบการณ์สุดพิเศษตามแบบฉบับของมิชลิน” (Michelin Experiences) ได้เผยโฉมตัวกรองการค้นหา (Search Filter) ใหม่ล่าสุด 2 ประเภท บนเว็บไซต์ RobertParker.com ได้แก่ ตัวกรองสำหรับค้นหาไวน์ที่ผ่านการรับรองว่าเป็นไวน์ออร์แกนิก (Certified Organic) ซึ่งปลอดสารเคมีและสารพิษ และตัวกรองสำหรับค้นหาไวน์ที่ผ่านการรับรองว่าเป็นไวน์ไบโอไดนามิก (Certified Biodynamic) ซึ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ ปลอดสารเคมี และใช้กระบวนการอันเป็นศาสตร์​เฉพาะตัวที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว Robert Parker Green Emblem ตราสัญลักษณ์ใหม่สีเขียวซึ่งจะมอบเพื่อเป็นเกียรติแก่โรงผลิตไวน์ที่ยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คำจำกัดความ

ผ่านการรับรอง (Certified): ไวน์ที่ผ่านการรับรองว่าเป็นไวน์ออร์แกนิก (Certified Organic) หรือไวน์ไบโอไดนามิก (Certified Biodynamic) เป็นไวน์ที่ผ่านการปลูกและ/หรือผลิตโดยใช้กรรมวิธีที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้วว่าเป็นแบบ “ออร์แกนิก” หรือ “ไบโอไดนามิก” ตามกฎระเบียบที่กำหนดโดยองค์กรบุคคลที่สาม (Third-Party Organization) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ออร์แกนิก (Organic): การปลูกองุ่นแบบออร์แกนิกต้องเป็นไปตามหลักการเกษตรที่กำหนดไว้ โดย ระดับความเข้มงวดเมื่อเทียบกับการเกษตรแบบดั้งเดิมนั้นขึ้นอยู่กับว่าปลูกองุ่นในประเทศใดและจำหน่ายไวน์ที่ใด ทั้งนี้ การใช้คำว่า “ออร์แกนิก” ในที่ต่างๆ ทั่วโลก ได้รับการควบคุมและปกป้องทางกฎหมาย ส่งผลให้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมีความแตกต่างกันเพื่อแจ้งให้ทราบว่าองุ่นที่นำมาใช้ปลูกแบบออร์แกนิก ผู้ผลิตไวน์จำเป็นต้องขอใบรับรองในประเทศที่ทำการปลูกองุ่นจากสถาบันตรวจสอบซึ่งเป็นบุคคลที่สามและได้รับการยอมรับ โดยทั่วไป ไร่องุ่นจำเป็นต้องผ่านระยะปรับเปลี่ยน (Conversion Period) เป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางด้านกฎหมายของประเทศนั้นๆ ซึ่งระหว่างนั้นจะมีการบันทึกข้อมูลและสุ่มตรวจสอบ จากนั้นจึงจะได้รับใบรับรองมาตรฐานการเกษตรแบบออร์แกนิก การปลูกองุ่นออร์แกนิกไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆ ในไร่องุ่น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช หรือสารกำจัดศัตรูพืชสังเคราะห์     ประเทศส่วนใหญ่อนุญาตให้ใช้สารจากธรรมชาติแทนได้ในขอบเขตที่จำกัดและเข้มงวดกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม อาทิ การใช้กำมะถัน (Sulfur) และทองแดง (Copper) ฉีดพ่นในไร่องุ่นเพื่อให้ได้ “องุ่นที่ปลูกแบบออร์แกนิก” สำหรับใช้ผลิตไวน์ ทั้งนี้ องค์กรซึ่งให้การรับรองการเพาะปลูกแบบออร์แกนิกรายใหญ่ระดับโลก ได้แก่ Ecocert, USDA Organic, BioGro NZ, Australian Certified Organic และ EU Organic ไบโอไดนามิก (Biodynamic): “ไบโอไดนามิก” เป็นแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่เน้นหลักปรัชญามากกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2467 โดย รูดอล์ฟ สไตเนอร์(Rudolf Steiner) การเกษตรรูปแบบนี้ใช้หลักการพื้นฐานเดียวกับการเกษตรแบบออร์แกนิก อาทิ การไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ แต่นำมาต่อยอดเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น การนำปุ๋ยหมักสูตรพิเศษและน้ำหมักสมุนไพร (Herbal Infusion) มาใช้ในไร่องุ่นภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมักนำการเคลื่อนไหวและช่วงระยะการเปลี่ยนแปลงของวัตถุต่าง ๆ บนท้องฟ้ามาใช้เพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสมของขั้นตอนปฏิบัติในการทำไวน์ ทั้งนี้ มีหลายองค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานการเกษตรแบบไบโอไดนามิก อาทิ Demeter และ Biodyvin  ตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem: มอบให้เพื่อเป็นเกียรติแก่โรงผลิตไวน์หรือผู้ผลิตไวน์ที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทสูงกว่าข้อกำหนดที่ระบุไว้สำหรับการยื่นขอใบรับรองมาตรฐานการเกษตรแบบออร์แกนิกและ/หรือการเกษตรแบบไบโอไดนามิก

หลักเกณฑ์ในการมอบตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem

ผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับมอบตราสัญลักษณ์นี้ คือ โรงผลิตไวน์ทั้งที่เคยหรือไม่เคยได้รับใบรับรองการเป็นไวน์ออร์แกนิกและ/หรือไวน์ไบโอไดนามิก โดยต้องมีความโดดเด่นในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนผ่านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาว ทั้งนี้ การมอบตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยมอบให้เพื่อยกย่องความทุ่มเทที่โดดเด่นและมีความพิเศษเฉพาะตัว  ในแต่ละปีนับจากนี้เป็นต้นไป นักวิจารณ์ของ ‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ไวน์ แอดโวเคท’ จะเสนอชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในภูมิภาคภายใต้ความรับผิดชอบของตน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem รายชื่อเหล่านี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการค้นคว้าข้อมูลและอภิปรายร่วมกันในกองบรรณาธิการ หากผ่านการเห็นชอบ ผลิตภัณฑ์ไวน์ทั้งหมดของโรงผลิตไวน์แห่งนั้นจะได้รับตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem ซึ่งสามารถใช้ได้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับโรงผลิตไวน์ที่ส่งผลให้เกิดการยกเลิกสิทธิ์ในการใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว Nicolas Achard ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ไวน์ แอดโวเคท’ เปิดเผยว่า “เราตระหนักว่าผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้นที่จะเห็นการปลูกองุ่นเป็นไปอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งยังต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น ทีมงานของเราจึงได้หยิบยกประเด็นนี้มาอภิปรายร่วมกันและตัดสินใจพัฒนาตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem ขึ้นเพื่อยกย่องไร่องุ่นที่ผสานความเข้มข้นของรสชาติเข้ากับการปลูกองุ่นอย่างยั่งยืน เรามุ่งหวังที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตไวน์ซึ่งใส่ใจในสิ่งแวดล้อมกลุ่มนี้ได้พบปะกัน พวกเขาต่างพิสูจน์ให้เราเห็นว่าการเคารพสิ่งแวดล้อมถือเป็นการสดุดีต่อสภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ และต้นองุ่น โดยยังคงรักษารสชาติและคุณภาพของไวน์เอาไว้ได้ดังเดิม”

รายชื่อผู้รับมอบตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem ในปีแรก

‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ไวน์ แอดโวเคท’ ประกอบด้วยทีมนักวิจารณ์ไวน์มากประสบการณ์ระดับโลกรวม 10 ราย ซึ่งล้วนมุ่งมั่นนำเสนอไวน์ที่ดีที่สุดในโลก โดยเน้นความสำคัญของสภาพภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศที่ยอดเยี่ยม ความหลากลายทางชีวภาพ ตลอดจนเกษตรกรผู้มีทักษะความชำนาญพิเศษ และวัฒนธรรมที่อยู่เหนือกาลเวลา ทีมนักวิจารณ์ไวน์ นำโดย Lisa Perotti-Brown หัวหน้ากองบรรณาธิการและผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ของ ‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ไวน์ แอดโวเคท’ ได้ค้นหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิภาคต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตน และดำเนินการพิจารณาอย่างรอบคอบในการคัดสรรโรงผลิตไวน์ไว้ในรายชื่อผู้รับมอบตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem ปีแรกนี้ โดยรายชื่อผู้รับมอบตราสัญลักษณ์ Robert Parker Green Emblem ประจำปี 2564 ประกอบด้วยโรงผลิตไวน์ 24 แห่ง ใน 8 ประเทศ จาก 5 ทวีป ซึ่งล้วนมีชื่อเสียงไร้ที่ติในเรื่องความยั่งยืน  “การพัฒนาตัวกรองใหม่สำหรับใช้ค้นหาไวน์ออร์แกนิกและไวน์ไบโอไดนามิกบนเว็บไซต์ของเรา รวมทั้ง ตราสัญลักษณ์สีเขียว Robert Parker Green Emblem เป็นการตอบสนองต่อแนวโน้มที่ผู้บริโภคไวน์ให้ความสำคัญมากขึ้นกับแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนในการผลิตไวน์ เว็บไซต์ของเราจึงโดดเด่นเหนือกว่าเว็บไซต์ประเภทเดียวกันอื่นๆ เพราะอำนวยความสะดวกให้แก่คนรักไวน์ที่ต้องการดื่มไวน์อย่างยั่งยืนมากขึ้น     โดยพัฒนาการดังกล่าวบนเว็บไซต์ของเราช่วยให้สมาชิกสามารถค้นหาไวน์ชั้นเยี่ยมที่ผลิตขึ้นตามหลักปรัชญาในการรักษาสุขภาวะและความน่าอยู่ของโลกเอาไว้อย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต” Perotti-Brown กล่าว

โรงผลิตไวน์ 24 แห่งจากทั่วโลก

ออสเตรเลีย (2): Cullen Wines, Henschke ออสเตรีย (1): Weingut Ernst Triebaumer ฝรั่งเศส (8): Champagne Larmandier-Bernier, Gerard Bertrand, Domaine Leroy & Domaine d’Auvenay, Domaine Bruno Lorenzon, Chateau Pontet-Canet, Louis Roederer, Felix et Gabin Richoux, Domaine Valentin Zusslin เยอรมนี (1): Weingut Odinstal อิตาลี (3): Alois Lageder, Salcheto, Tasca d’Almerita นิวซีแลนด์ (1): Millton Vineyards & Winery แอฟริกาใต้ (2): Reyneke, Sadie Family Wines สเปน (1): Descendientes de J. Palacios สหรัฐอเมริกา (5): The Eyrie Vineyards, Horsepower Vineyards, Littorai Wines, Ridge Vineyards, Spottswoode Estate อ่านเพิ่มเติม: “Facebook ประเทศไทย” เผยเครื่องมือล่าสุด สนับสนุนการช้อปปิ้งแห่งโลกอนาคต
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine