เมื่อค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง กลายเป็นปัจจัยหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาศาลหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น จนล่าสุดทั้งร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเริ่มพิจารณาการเก็บค่าบริการ ‘ราคาพิเศษ’ สำหรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนแล้ว
ทั้งนี้ ระบบการคิดค่าบริการจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่าผู้ใช้บริการในประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก เพราะสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศพัฒนาแล้วก็ใช้ระบบนี้ แต่ในกลุ่มชาวญี่ปุ่นบางส่วนกังวลว่า หากนำระบบนี้มาใช้จริงอาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับบน และอาจทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลายธุรกิจมองว่าระบบนี้ไม่ใช่ ‘การเอาเปรียบ’ นักท่องเที่ยว แต่เป็น ‘ความจำเป็นเร่งด่วน’ โดยให้เหตุผลถึงค่าแรงที่สูงขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
“จะให้เราคิดราคาของคนในท้องที่ซึ่งพูดภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก มาใช้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องให้บริการพิเศษด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างไรกันครับ?” Shogo Yonemitsu เจ้าของร้านอาหารบุฟเฟต์อาหารทะเล Tamatebako ในเขตชิบูย่าอันคึกคักกล่าว
นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ร้าน Tamatebako ได้เริ่มแบ่งราคาบุฟเฟต์พร้อมเครื่องดื่มเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราคา 7,678 เยน (ในวันธรรมดา) สำหรับชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นจะคิดราคาเพียง 1,100 เยนเท่านั้น
“ในแต่ละวันเรามีลูกค้า 100-150 คน พื้นที่ภายในร้านจะรองรับลูกค้าได้ 35 ที่นั่ง ทุกวินาทีจึงเป็นเหมือนสงครามที่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน เราต้องใช้เวลาที่มากกว่าในการดูแลลูกค้าต่างชาติ เช่น อธิบายว่าบุฟเฟต์ของเราเป็นอย่างไร ต้องย่างแบบไหน ทานอย่างไร โดยใช้ภาษาอังกฤษ” Yonemitsu อธิบายพร้อมชี้ว่าร้านต้องเพิ่มค่าแรงเพื่อจ้างพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งยังต้องมีการอบรมพิเศษเพื่อบริการลูกค้าต่างชาติ
แม้ร้านอาหารบางแห่งแก้ปัญหาโดยการขึ้นราคาเมนู แต่ Yonemitsu มองว่าการคิดราคาพิเศษกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สูงกว่าชาวญี่ปุ่นและคนในพื้นที่นั้นไม่ยุติธรรม
พนักงานหญิงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ทำงานร้านอาหารไทยย่านโตเกียวมองว่า ระบบคิดค่าบริการ 2 ราคาเป็นเรื่องที่ดี “ยิ่งตอนนี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ฉันคิดว่าจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มก็ไม่เป็นไร” เพื่อนร่วมงานของเธอก็บอกว่าที่ไทยเองก็มีการเก็บเงินชาวต่างชาติคนละราคากับคนในประเทศเช่นกัน โดยจะเห็นได้ตามวัดซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
องค์กรที่เป็นผู้ดูแลสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในญี่ปุ่นเองก็พิจารณาจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม เนื่องจากผู้มาเยือนจำนวนมหาศาลทำให้ค่าดูแลและบำรุงรักษาสถานที่สูงขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น นายกเทศมนตรีประจำเมืองฮิเมจิ เปิดเผยว่า กำลังวางแผนที่จะเก็บค่าเข้าชมปราสาทฮิเมจิจากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สูงกว่าชาวญี่ปุ่น 4 เท่า
ปราสาทฮิเมจิเป็นปราสาทเก่าแก่ยุคต้นศตวรรษที่ 17 สร้างจากไม้ทั้งหลัง และค่าเข้าชมปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 เยนสำหรับบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดย UNESCO และสมบัติของชาติญี่ปุ่น
รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดโอซาก้าก็กำลังหารือเกี่ยวกับการเก็บภาษีพิเศษกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยอาจเริ่มในเดือนเมษายนปี 2025 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่จะมีการจัดงาน World Exposition 2025 ทั้งนี้ เพื่อนำรายได้มาใช้บริหารจัดการกับนักท่องเที่ยวที่ล้นทะลักล้นเข้ามานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าทั้งธุรกิจและองค์กรต่างๆ ควรไตร่ตรองให้ดี และระมัดระวังในการอธิบายเหตุผลที่จะนำระบบคิดค่าบริการ 2 ราคา ซึ่งจะเก็บเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่าคนในพื้นที่มาใช้ เช่น ควรชี้แจงว่าราคาที่แพงขึ้นเพื่อยกระดับประสบการณ์ที่ผู้มาเยือนจะได้รับ
Loyalty Marketing Inc. บริษัทผู้เชี่ยวชาญข้อมูลการตลาดในญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับระบบคิดค่าบริการ 2 ราคาและเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า เกือบ 60% ของผู้ทำแบบสำรวจในประเทศเห็นด้วยกับการนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ โดยผู้ทำแบบสำรวจบางส่วนแนะนำว่าหากจะเก็บเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม ควรมีบริการเป็นภาษาต่างประเทศในหลายภาษา มีคู่มือ มีบริการพิเศษ หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ มอบให้ด้วย
“นักท่องเที่ยวหากมีมากในระดับหนึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่หากมีมากเกินไปก็อาจเป็นปัญหา” Nick Sakellariou นักท่องเที่ยวจากสวีเดนที่มาเยือนญี่ปุ่นเห็นด้วยว่าควรคิดค่าบริการต่างๆ กับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ในช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวญี่ปุ่นมีเสียงตอบรับมากกว่าปกติ ทั้งนี้เขาก็แสดงความคิดเห็นอีกมุมมองหนึ่งว่าหากเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา ระบบ 2 ราคานี้อาจถูกมองว่าเป็น ‘การเหยียดเชื้อชาติ’ หรือ ‘การกีดกันทางเชื้อชาติ’
แน่นอนว่าระบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และหลายสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลกมีการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกันมากขึ้น โดยเฉพาะที่ที่เจอปัญหาภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง เช่น เวนิสในอิตาลีที่เก็บเงินค่าเข้าเมือง 5 ยูโรต่อวัน หรืออุทยานแห่งชาติไดมอนด์ เฮดในรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนรัฐฮาวายเข้าได้ฟรี แต่นักท่องเที่ยวจากต่างรัฐและต่างชาติต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 5 เหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มา: Surge in inbound tourists pushes Japan to explore dual pricing
ภาพ: Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘คนไทยรายได้สูง’ กว่า 55% วางแผนเที่ยว 3-4 ครั้งในปี 67 ส่วนใหญ่อยากไปเชียงใหม่-ภูเก็ต
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine