CAAT กางยุทธศาสตร์ปี 63 เตรียมยกระดับกฎหมายควบคุมผู้ขับ “โดรน” - Forbes Thailand

CAAT กางยุทธศาสตร์ปี 63 เตรียมยกระดับกฎหมายควบคุมผู้ขับ “โดรน”

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT เปิดแผนยุทธศาสตร์การทำงานปี 2563 เตรียมยกระดับกฎหมายดูแลคนขับ "โดรน" พร้อมดีเดย์ 1 มี.ค.นี้ใช้เฮลิคอปเตอร์ด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้นอกเหนือจากสนามบิน

จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือซีเอเอที (CAAT) เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานในปี 2563 โดยเตรียมยกระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลผู้ควบคุมอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน และปลดล็อคการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์

“CAAT คือหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 งานส่วนใหญ่ของเราคือการออกนโยบาย ออกใบอนุญาต และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยทิศทางการดำเนินงานปี 2563 สำนักงานฯ ได้วางยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อมุ่งเน้นงานกำกับดูแลการบินพลเรือนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ

  1. การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอนาคต อาทิ การใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน, การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์
  2. การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการสายการบิน เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และอำนาจของ CAAT ในการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจตาม ...การเดินอากาศฉบับใหม่
  3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานของการบินของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในทุกด้าน

จุฬา ระบุว่า โดยไฮไลท์ของยุทธศาสตร์เชิงรุกในปี 2563 คือเรื่องการกำกับดูแลการใช้โดรน ซึ่งจะเร่งทบทวนเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่กำกับดูแล หรืออาจมีการออกกฎหมายใหม่ เนื่องจากมีคนมาขอใช้บริการเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น ผู้ควบคุมโดรนจะต้องมีใบอนุญาตเหมือนกับนักบิน และผู้ที่สอนขับโดรนก็ต้องได้รับใบรับรองจากสำนักงานฯ ด้วย

จุฬา สุขมานพ

กฎหมายเรื่องโดรนมีมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวก็อาจไม่ทันสมัยแล้ว เพราะในยุคแรกคนใช้โดรนไปเพื่อการนันทนาการ แต่ปัจจุบันโดรนเริ่มถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบการก่อสร้าง, การดูแลสายไฟฟ้า, ใช้เพื่อการเกษตร เป็นต้น คือมีการใช้โดรนในหลายๆ ด้านมากขึ้น ซึ่งอาจมีกรณีไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ จึงอาจต้องมีการพิจารณาทบทวนการจดทะเบียนผู้ควบคุมโดรนใหม่

ปัจจุบันในการใช้งานโดรนนั้น เจ้าของโดรนจะต้องนำโดรนไปจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากการควบคุมโดรนนั้นจะใช้คลื่นวิทยุ ส่วนผู้ควบคุมโดรนหรือผู้ขับโดรนจะต้องมาขึ้นทะเบียนที่ซีเอเอที โดยปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 15,358 ราย แบ่งเป็น บุคคลธรรมดา 10,286 ราย, นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3,300 ราย, บริษัท 1,386 แห่ง และหน่วยงานของรัฐ 386 หน่วยงาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่ได้มีการระบุว่าผู้ควบคุมโดรนแต่ละคนใช้โดรนประเภทไหนบ้าง ทำให้การพิจารณากฎหมายใหม่ของซีเอเอทีจะเน้นไปที่การจดทะเบียนผู้ควบคุมโดรนแบบจำแนกจุดประสงค์ของการใช้งานโดรน โดยเฉพาะโดรนที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ซึ่งปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนประเภทนี้ 1 รายเท่านั้น รวมถึงทบทวนจุดประสงค์ของผู้ที่ขึ้นทะเบียนไปแล้วด้วย โดยคาดว่าจะได้เห็นกฎหมายใหม่ในช่วงปลายปีนี้

ซีเอเอทีได้วางแผนให้มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAS license เพิ่มเติมจากประกาศผู้ควบคุมโดรนเดิมให้มีมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดของ ICAO นอกจากนี้จะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของซีเอเอที โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตโดรนนี้ต้องได้รับการอบรมที่ถูกต้องจากสถาบันที่มีมาตรฐาน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

จุฬา กล่าวว่า นอกจากนี้ อีกไฮไลท์สำคัญคือการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ HEMS ซึ่งสิ่งที่ซีเอเอทีจะส่งเสริมในปีนี้คือการปลดล็อคให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดในสถานที่นอกเหนือจากสนามบินได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จากเดิมที่จอดได้เฉพาะที่สนามบินเท่านั้น

ซีเอเอทีได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่งทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นด้วย ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินสากล และมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งองค์กรหรือโรงพยาบาลที่จะให้บริการนี้จะต้องได้รับการรับรองจากซีเอเอทีด้วย

 

เปิดสถิติการบินน่าสนใจ

สำหรับภาพรวมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าสถิติการขนส่งผู้โดยสารในปี 2562 จะมีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็น ผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 76.20 ล้านคน ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.3

โดยจุดหมายปลายทางที่มีผู้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้วไปเยือนปลายทางเหล่านี้มากที่สุด ได้แก่ จีน, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง และอินเดีย ตามลำดับ

จุฬา กล่าวว่า จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงเทศกาล ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมสายการบินของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certification : AOC) เพิ่มขึ้น 2 ราย จากเดิม 23 ราย ส่วนจำนวนผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operator License : AOL) เพิ่มขึ้น 3 ราย จากเดิม 40 ราย

จากตัวเลขสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินในไทยมีภาวะการเติบโตแบบชะลอตัว เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุถึงปัจจัยที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมสายการบินโลกว่ามีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ค่าจ้างบุคลากรที่สูงขึ้น เป็นต้น

  อ่านเพิ่มเติม