ท่องเที่ยวฟื้น Booking.com เผย 7 เทรนด์นักเดินทางปี 2567 - Forbes Thailand

ท่องเที่ยวฟื้น Booking.com เผย 7 เทรนด์นักเดินทางปี 2567

Booking.com เผยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัว เติบโตกว่าช่วงโควิดร้อยละ 24 มองผลกระทบสงครามระยะสั้น ร้อยละ 70 ของคนไทยวางแผนท่องเที่ยวในปี 2567 แบบระมัดระวัง ใช้ AI ช่วยในการวางแผน เผย 7 เทรนด์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ รับพฤติกรรมคนเปลี่ยนจากความกังวลเรื่องค่าครองชีพ ภัยพิบัติ และความยั่งยืน ญี่ปุ่น เวียดนาม ที่เที่ยวยอดฮิตของคนไทย


    แพลตฟอร์มให้บริการท่องเที่ยวครบวงจร เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางเพื่อคาดการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในปี 2567 โดย มิเชล เกา ผู้จัดการ Booking.com ประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมาฟื้นตัว โดยมีอัตราการจองที่พักเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อัตราการจองห้องพักเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคนไทยร้อยละ 70 วางแผนเดินทางท่องเที่ยวในปี 2567 แม้ร้อยละ 65 ของกลุ่มตัวอย่างจะมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพ


    ขณะที่ปัจจัยด้านสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสส่งผลระยะสั้น โดยหลังจากโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาจะมีการยกเลิกการจองห้องพักทั้งการเดินทางในประเทศและไปต่างประเทศ แต่หลังจากนั้นช่วงปลายเดือนตุลาคม ยอดจองที่พักเริ่มกลับมา โดยธุรกิจ Booking.com ในประเทศอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางคิดเป็นร้อยละ 5 ของธุรกิจทั่วโลก

    “การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาแล้ว แม้โลกจะไม่มีเสถียรภาพ นักท่องเที่ยวยังมีความมั่นใจในการเดินทาง เพราะพวกเขามองว่าการท่องเที่ยว คือชีวิต แต่สิ่งที่กังวล คือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนักเดินทางก็พร้อมที่จะปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีจำกัด รวมทั้งยังให้ความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ที่จะช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวของผู้คน” มิเชลกล่าว


เผย 7 เทรนด์ท่องเที่ยวในปี 2567

    มิเชล กล่าวว่า ผลสำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2567 พบว่านักเดินทางมองการท่องเที่ยว คือ ชีวิต ไม่ใช่แค่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนที่ผ่านมา โดยร้อยละ 74% มองว่าการท่องเที่ยวทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น และร้อยละ 88 มองว่าการเดินทางจะทำให้พวกเขามีความเป็นตัวเองมากที่สุด และมี 7 เทรนด์สำคัญของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้

1. ตามรอยต้นกำเนิดของความอร่อย การท่องเที่ยวของสายกิน สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งร้อยละ 92 อยากลิ้มลองอาหารพื้นเมืองมากขึ้นในปีหน้า โดยเน้นค้นหารสชาติอาหารดั้งเดิมที่ปรุงด้วยสูตรลับที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น และร้อยละ 78 สนใจเรียนรู้ต้นกำเนิดอาหารจานเด็ด และอาหารที่ “ห้ามพลาด” ในจุดหมายปลายทางนั้น ๆ มากกว่าที่เคยเป็นมา

2. ทริปหนีร้อนไปพึ่งเย็น จากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ และคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก กระตุ้นให้ผู้เดินทางมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสภาพภูมิอากาศเย็น เพื่อพักผ่อนสำหรับคลายร้อนและความกังวล โดยร้อยละ 78 ของผู้เดินทางชาวไทย เผยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อการวางแผนการท่องเที่ยวในปีหน้า และร้อยละ 84 เห็นด้วยว่าการได้พักผ่อนใกล้ชิดกับสายน้ำทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นได้ทันที 

3. ขอให้ได้ลุ้น ผู้เดินทางอยากปล่อยใจไปกับความเซอร์ไพรส์ ออกสำรวจสิ่งที่ไม่เคยเห็นหรือรู้จักมาก่อน และลองไปจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ ในระหว่างออกเดินทาง เปลี่ยนจากการวางแผนที่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเช็คลิสต์ มาเป็นการลุ้นดูว่าจะได้เจออะไรบ้าง และอยากสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่เหมือนเปิดกล่องสุ่ม โดยร้อยละ 82 เน้นวางแผนการเดินทางแบบไม่ละเอียดมาก โดยร้อยละ 70 ของคนกลุ่มนี้จะใช้ AI ช่วยในการวางแผนท่องเที่ยว


4. สุนทรียศาสตร์ของการเดินทางแบบยั่งยืน การท่องเที่ยวเดินทางอย่างยั่งยืนในความหมายของปี 2567 ให้ความสำคัญของการออกแบบ นวัตกรรม และความรับผิดชอบในแบบที่สร้างสรรค์มากขึ้น และนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยร้อยละ 78 กำลังมองหาที่พักที่มีนวัตกรรมด้านความยั่งยืนที่ดูตื่นตาตื่นใจ และร้อยละ 83 อยากเห็นการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม

5. ผ่อนคลายเพื่อฟื้นพลัง เมื่อสถานการณ์ที่บ้านเริ่มย่ำแย่เนื่องจากความวุ่นวายและสั่นคลอนทั่วโลก ผู้เดินทางที่กำลังเผชิญกับความวุ่นวายเหล่านี้จึงหันมาเน้นจองทริปที่เจาะจงแค่การพัฒนาร่างกายและจิตใจแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อเยียวยาความรู้สึกและคลายความเครียด โดยร้อยละ 76% วางแผนเดินทางคนเดียวในปีหน้า แบบไม่พาลูกและคู่ครองของตัวเองไปด้วยเพื่อรีชาร์จพลังชีวิตตัวเอง ขณะที่ร้อยละ 59 จะหาเวลาไปท่องเที่ยวเพื่อหาคู่หรือคนรักใหม่ และร้อยละ 75 ต้องการเดินทางเพื่อจะนอนหลับสนิทแบบไม่มีอะไรมากวนใจ


6. เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อออกเดินทาง ในปี 2567 ผู้เดินทางจะรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วยการสร้างตัวตนใหม่จากการเดินทางท่องเที่ยว โดยผู้เดินทางชาวไทยสองในสาม หรือร้อยละ 88 เชื่อว่าพวกเขาได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดระหว่างออกท่องเที่ยว สามารถหลีกหนีข้อจำกัดต่าง ๆ และเปิดรับบุคลิกภาพใหม่ ๆ ของตนเองได้อย่างเต็มที่ และร้อยละ 85 อยากนำตัวตนนั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

7. ยกระดับวันหยุดแบบ A La Carte จากวิกฤตการณ์ค่าครองชีพตลอดจนการเข้ามาของเทรนด์รวยแบบกระซิบ (Stealth Wealth) ที่เป็นกระแสในปี 2566 ส่งผลให้ผู้เดินทางในปี 2567 จะหันมาหาวิธีรัดเข็มขัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังต้องการยกระดับการท่องเที่ยวให้มีความหรูหราแบบ “ตามสั่ง” หรือ “A La Carte” ผ่านการใช้จ่ายแบบเต็มที่ในทริปสั้น ๆ หรือเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านหนึ่งเพื่อไปเต็มที่กับสิ่งที่ตนเองต้องการมากกว่า โดยร้อยละ 65 ยินดีจ่ายค่าบัตรผ่านรายวันเพื่อเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมห้าดาว แทนการเข้าพักจริง และร้อยละ 64 วางแผนที่จะเลือกจุดหมายปลายทางที่ค่าครองชีพถูกกว่าเมืองตัวเองอยู่ เพื่อใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่มากขึ้น 


    มิเชล กล่าวว่า สำหรับประเทศยอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวไทย อันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น และอันดับ 2 คือ เวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศมีความหลากหลายในสถานที่ท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน เช่น โตเกียว โอซาก้า หรืออย่างเวียดนาม สถานที่ยอดฮิต คือ ดานัง และ เกาะฟู้โกว๊ก เป็นต้น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยยังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศที่มีค่าครองชีพที่ถูกลง แต่ยังคงให้ความสำคัญกับที่พักที่มีความหรูหรา สะดวกสบาย ซึ่งปี 2567 Booking.com จะเปิดตัว AI Trip Planner เครื่องมือที่จะช่วยนักเดินทางวางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างตรงใจและเหมาะกับงบประมาณที่เหมาะสมของแต่ละคนมากขึ้น



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หุ้น JKN ร่วงติด floor หลังยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine