Airbnb เปิดทิศทางธุรกิจปี 2018 กับการทำงานผ่านเทรนด์นักท่องเที่ยวยุคมิลเลเนียมกับเเนวคิด Sharing Economy - Forbes Thailand

Airbnb เปิดทิศทางธุรกิจปี 2018 กับการทำงานผ่านเทรนด์นักท่องเที่ยวยุคมิลเลเนียมกับเเนวคิด Sharing Economy

Chris Lehane เผยแนวคิด Sharing Economy ผ่านเทรนด์นักท่องเที่ยวเปลี่ยนบ้านส่วนตัวเป็นพื้นที่แบ่งปันเชื่อมนักเดินทางด้วยเทคโนโลยี ที่พร้อมสร้างโลกในอุดมคติลดคาร์บอนไดออกไซด์

Airbnb เชิญสื่อมวลชนไทยเป็นส่วนหนึ่งในการสัมภาษณ์ Chris Lehane อดีตที่ปรึกษาทางด้านการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่ง Global Policy and Public Affairs แห่ง Airbnb ในหัวข้อแนวคิด Sharing Economy ณ บ้านพักที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Airbnb ย่านพระราม 1 Chris Lehane เผยถึงการเริ่มต้น ธุรกิจ Airbnb จากกลุ่มสตาร์ทอัพ 3 คน ได้แก่ Nathan Blecharczyk (ตำแหน่ง CTO), Brian Chesky (ตำแหน่ง CEO) และ Joe Gebbia (ตำแหน่ง CPO) ที่เกิดไอเดียแบ่งที่พักให้คนมาเช่าฟูกนอนเป่าลมสามหลังพร้อมเลี้ยงมื้อเช้า ด้วยการประกาศลงเว็บไซต์พร้อมระบุแผนที่อย่างง่ายปรากฏว่ามีคนมาเช่าจริงจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเกิดเป็นโมเดล Airbnb ขึ้นในปี 2008 และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยมีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าหากย้อนไปเมื่อปี2001 5 บริษัทที่ติดอันดับโลกมีเพียงบริษัททางด้านเทคโนโลยีแห่งเดียวที่ติดเข้าสู่อันดับ แต่ในปัจจุบัน 5 บริษัทอันดับแรกของโลกคือกลุ่มบริษัททางด้านเทคโนโลยีทั้งสิ้น สอดคล้องกับรายงานจาก World Bank ที่เปิดเผยด้วยว่า 75% ของประชากรโลกมีโทรศัพท์มือเป็นของตนเอง และคาดการณ์ด้วยว่าภายในปี 2025 ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจะพุ่งสูงขึ้น 4.7 พันล้านคน
(จากซ้าย) Brian Chesky, Nathan Blecharczyk และ Joe Gebbia
  แรงเคลื่อน Sharing Economy Chris ได้ทบทวนตัวเลขสถิติของ Airbnb ในเราฟังว่า ระหว่างปี 2009 ถึง 2016 มีผู้ใช้บริการราว 300 ล้านคน กระจายอยู่ใน 81,000 เมือง 196 ประเทศ หากคิดเป็นนาที ทุกๆ 2 นาทีจะมีคนเช็คอิน 400 คน จากตัวเลขที่เกิดขึ้น "Sharing Economy" ได้สร้างแรงขันเคลื่อนสำคัญ และยังสอดคล้องกับ “ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของโลก” โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่เป็นส่วนสำคัญให้อากาศเปลี่ยนแปลงและทารุณมากยิ่งขึ้น Chris กล่าวเพิ่มเติมว่าการสร้างโรงแรมหรือที่พักขึ้นใหม่จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำลายอากาศเป็นจำนวนหลายล้านตัน ในขณะเดียวกันกลับมีอาคารบ้านเรือนที่ถูกทิ้งร้างเพิ่มมากเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างประเทศไทยเองติดอันดับสามของโลกที่มีแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสภาวะการเปลี่ยนบรรยากาศโลกกับแนวคิด Sharing Economy เกี่ยวข้องกันอย่างไร Chris เผยให้ฟังถึงเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวยุคมิลเลเนียม เพราะนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้เป็นสัดส่วนกว่า 60 % ของนักเดินทางทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวของคนกลุ่มนี้คือการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมากกว่าคนในยุคก่อน อะไรที่ลดภาระให้กับโลกคือสิ่งที่เขาเลือก รวมการเดินทางแบบที่เราเรียกว่า Healthy คือดีต่อสุขภาพใจ เน้นหนักที่คุณภาพ ได้ใกล้ชิดกับวิถีชุมชน “อย่างโอลิมปิกที่บราซิล จำนวนคนเดินทางเพื่อร่วมมหกรรมนี้เกินกว่าครึ่งของขีดความสามารถของการบริการโดยรวม ทำให้ แอร์บีเอ็นบี มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับโอลิมปิกเกาหลีใต้คนเลือกใช้แอร์บีเอ็นบีมากถึง 15,000 คน จึงถือเป็นการลดภาระที่จะเกิดกับโลกค่อนข้างมาก สิ่งหนึ่งที่พวกเขาชอบก็คือการได้ใกล้ชิดกับวิถีชุมชนของท้องถิ่นนั้นๆ อย่างมากทำให้ต่อยอดไปสู่อีกหนึ่งจุดมุ่งหมายหลักคือการกระจายรายได้” Chris Lehane กล่าว   รายได้กระจายตัว สิ่งที่เรียกว่า Sharing Economy ยังได้ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมไม่ได้กระจุกตัวแค่ในเมืองใหญ่แต่กระจายตัวไปถึงชานเมืองทำให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์ Chris เปิดเผยว่าหน้าที่ของ Airbnb คือการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโลกออนไลน์เข้ากับสังคม แต่สิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้คือการบริการ แล้วสิ่งที่จะเชื่อมคนต่างถิ่นเข้าหากันคือ “ความสุข” และนั่นคือภารกิจของธุรกิจเรา โดย Airbnb ได้พัฒนาระบบการคะแนนซึ่งกันและกันระหว่างผู้ใช้บริการและเจ้าของบ้านคือต้องให้คะแนนกันและกัน เป็นการบีบบังคับให้ทั้งสองฝ่ายทำตัวให้ดี ซึ่งมันต่างจากการให้คะแนนโรงแรมที่เป็นการให้คะแนนส่วนอื่น หรือองค์กร “มันเหมือนเป็นการเปิดใจ เมื่อแขกมาอยู่ในบ้าน ต่างฝ่ายต่างทำตัวให้ดี อย่างตัวผมเอง ไปพักที่โรงแรมไม่เคยพับที่นอนเลยนะ แต่พอใช้บริการแอร์บีเอ็นบี จะพับตลอด เพราะในขณะที่เราให้ดาวเขาเยอะๆ เพราะพอใจมาก เราก็อยากได้ดาวกลับเป็นการการันตีว่าเราก็เป็นแขกที่ดี” Chris กล่าว
Chris Lehane Global Policy and Public Affairs แห่ง Airbnb
สำหรับประเทศไทย Chris เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่าที่พัก Airbnb ในประเทศไทย มีมากกว่า 61,400 แห่ง โดยระหว่างกุมภาพันธ์ ปี 2560 – 2561 สร้างรายได้รวมกันเป็นจำนวน 119 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเดินทางพักราว 1.2 ล้านรายในประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่า 66% “โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวจะเข้าพักเป็นเวลา 4.2 คืน และโดยเฉลี่ยจะมีผู้เข้าพัก 2.7 คนต่อการเข้าพักหนึ่งครั้ง โดยจุดหมายของเดินทางทางยังประเทศไทยคือเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ เป็นหลักรวมไปถึงภูเก็ต” Chris เผยและเสริมว่าเจ้าของที่พัก Airbnb ในกรุงเทพมหานครแชร์บ้านเขาตัวเองให้กับผู้เข้าพักถึง 485,000 คน สร้างรายได้รวมเป็นจำนวน 34.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายหลังการสัมภาษณ์ Chris ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “เป้าหมายของเราอีกประการคือการทำให้โลกกลายเป็นโลกที่เปิดไปด้วยกัน และทำให้การเดินทางเป็นการเดินทางเสรีมากขึ้น เราพร้อมเปิดรับคนแปลกหน้ามากขึ้น ไว้ใจกันและกันมากกว่าเดิม และเมื่อจบการเดินทางเราจะไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไป เราจะกลายเป็นเพื่อนกันผ่านเทคโนโลยีเพื่อสร้างสังคมการแบ่งปันที่ยั่งยืน”