เอ็กซ์พีเดียเผยผลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้พักผ่อนระหว่างการเดินทางอย่างแท้จริง (Vacation Deprivation Study) ประจำปี 2560 ในหลากหลายประเด็น โดยเป็นงานวิจัยที่ทำมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ตั้งแต่ปี 2543
ซิมอน ฟิเก้ ผู้จัดการทั่วไป เอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เผยถึงการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่ขวางการลาพักร้อนเป็นประจำทุกปี โดยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของการลาพักร้อนที่แตกต่างกันในหลายทวีป แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จากหลากหลายประเทศร้อยละ 80-90 มองการลาพักร้อนทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขมากขึ้น ทั้งยังได้ใกล้ชิดกับครอบครัว ความเครียดลดลง และยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มสูงขึ้น
“แต่จากผลสำรวจที่เกิดขึ้น จำนวนของคนที่ไม่ใช้วันลาพักร้อนสูงขึ้นทั่วโลก ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในปี 2560 กลุ่มผู้ใหญ่ที่ทำงานเต็มเวลาทั่วโลกรู้สึกว่าไม่อยากลาหยุดพักร้อนมีจำนวนถึงร้อยละ 53 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2559 ที่มีจำนวนร้อยละ 49” ซิมอน ฟิเก้ เผยและกล่าวต่อว่า
นายจ้างไทยเองสนับสนุนให้มีวันลาพักร้อนประจำปีเพิ่มขึ้น แต่ลูกจ้างยังคงใช้วันลาพักร้อนน้อยกว่าที่กำหนด จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกพบว่าเหตุผลจริงๆ ที่ทำให้ลูกจ้างประจำคนไทยรู้สึกว่าตัวเขาไม่ได้ใช้วันลาพักร้อนประจำปีมีจำนวนถึงร้อยละ 51 ของจำนวนลูกจ้างประจำ และใช้วันลาพักร้อนเพียง 2-3 วันต่อปี ซึ่งน้อยกว่าวันหยุดประจำปีที่พวกเขาได้รับเสียอีก
โดยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ต้องการเก็บวันลาพักร้อนไว้ อาทิ เพื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันร้อยละ 45 ตารางการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยและบุคคลากรไม่เพียงพอ ร้อยละ 37 ความยุ่งยากในการจัดตารางเวลาวันหยุดให้เหมาะสมกับครอบครัว เพื่อนและคู่รัก ร้อยละ 37และความต้องการในการสะสมวันลาพักร้อนไว้ใช้ในปีถัดไป ร้อยละ 30
ทั้งนี้ผลสำรวจยังเผยให้เห็นอีกว่าแม้กลุ่มนักท่องเที่ยววัยทำงานกลุ่มนี้เดินทางท่องเที่ยวแต่ยังคงเช็คอีเมล ซึ่งจากข้อมูลการสำรวรวจนั้นคนกลุ่มนี้จำนวนร้อยละ 27 เข้าเช็คอีเมลอย่างน้อยวันละครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวนร้อยละ 24 โดยแบ่งเป็นชาวไต้หวันร้อยละ 48 ชาวอินเดียร้อยละ 39 ส่วนชาวไทยร้อยละ 28
นอกจากนี้ร้อยละ 48 จากกลุ่มตัวอย่างเผยด้วยว่าพวกเข้าต้องยกเลิกหรือเลื่อนวันลาพักร้อนออกไปเนื่องจากการทำงาน ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย โดยเป็นคนไทยร้อยละ 75 ชาวเอมิเรตร้อยละ 70 และชาวอินเดียร้อยละ 67
ด้าน
กริช ม่วงไหมทอง คุณหมอพิธีกรรายการ เดอะ ดร. ออซ ไทยแลนด์ ผู้ร่วมเสวนากล่าวเสริมในมุมมองที่เกี่ยวกับสุขภาพและประโยชน์ที่รับวันหยุด
“การลาหยุดเพื่อพักผ่อนไม่เพียงแต่เป็นผลดีสำหรับตัวคุณ แต่ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ยิ่งขึ้น เท่ากับส่งผลดีให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน ผมคิดว่านายจ้างควรเริ่มต้นการปลูกฝังและการฝึกให้ลูกจ้างรู้จักวางแผนการเรื่องความสมดุลในชีวิตทำงานและการพักผ่อนให้มากยิ่งขึ้น”