เบื้องหลังยุคบูมครั้งใหม่ของเส้นทางบินระยะไกล (ultra-long-haul) - Forbes Thailand

เบื้องหลังยุคบูมครั้งใหม่ของเส้นทางบินระยะไกล (ultra-long-haul)

ในการแข่งขันเอาชนะธรรมชาติ เที่ยวบินตรงยาว 19 ชั่วโมงของสายการบิน Singapore Airlines น่าจะครองตำแหน่งชนะเลิศในแง่ของระยะทาง เที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปยังสนามบิน Newark ใน New York นั้นยาวถึง 9,500 ไมล์ ในขณะที่นกปากแอ่นหางลายจะบินเป็นระยะทาง 7,000 ไมล์ในฤดูอพยพระหว่างรัฐ Alaska กับประเทศนิวซีแลนด์ ความแตกต่างอย่างเดียวระหว่างทั้งคู่คือฝูงนกเหล่านี้จะต้องบินต่อเนื่องถึง 9 วัน

เที่ยวบินใหม่ของ Singapore Airlines นับว่าได้รับความสนใจจากสื่อมาก เมื่อพิจารณาว่าเที่ยวบินนี้เคยทำการบินมาแล้วเมื่อ 9 ปีก่อน ก่อนที่จะหยุดดำเนินการไปในปี 2013 จากภาวะราคาน้ำมันพุ่งกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  สื่อมวลชนหลายรายยกให้การนำเที่ยวบินนี้กลับสู่ตารางบินอีกครั้งของ Singapore Airlines เป็นศักราชใหม่ของไฟลท์บินตรงระยะไกล (ultra-long-haul) สำนักข่าว BBC พาดหัวเชิงตั้งคำถามว่า “นี่คืออนาคตของเที่ยวบินระยะไกลหรือไม่?” ขณะที่นิตยสาร Fortune พาดหัวยาวเหยียด “19 ชั่วโมงสู่ Newark: Singapore Airlines กลับมาทวงบัลลังก์ศึกเที่ยวบินระยะไกลของโลก”  ถึงแม้ว่าเที่ยวบินข้ามโลกแบบนี้จะกินใจมนุษยชาติที่ต่างมีโลกแฟนตาซีของการได้บินเคียงคู่ไปกับฝูงนก แต่ในแง่มุมความเป็นจริงเชิงเศรษฐศาสตร์นั้นแตกต่างออกไป การแข่งขันรอบล่าสุดของไฟลท์บินระยะไกลเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2000s ด้วยตัวแปรสำคัญคือเครื่องบิน Boeing 777 และ Airbus A340 (777-200LR และ A340-500) สายการบินต่างแสวงหาข้อได้เปรียบจากโมเดลเครื่องบินใหม่ที่สามารถบินได้นาน 18 ชั่วโมงนี้ด้วยการออกเที่ยวบินเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับสหรัฐอเมริกา จนถึงปี 2008 มีไฟลท์บินไกลกว่า 8,000 ไมล์ทั้งหมด 10 เที่ยวบินในตาราง แต่ในความเป็นจริงนั้น หลายสายการบินต้องเผชิญปัญหา สายการบินไทยยกเลิกไฟลท์บินจากกรุงเทพฯ สู่ L.A. และ New York ขณะที่ Singapore Airlines เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินสู่ New York เป็นเที่ยวบินชั้นธุรกิจทั้งลำ 100 ที่นั่งซึ่งดำเนินการอยู่ 5 ปีก่อนจะต้องยอมจำนนและยกเลิกไป
การบินไทยเองก็เคยมีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่ Los Angeles และ New York ซึ่งต้องใช้เวลาบินนานถึง 18 ชั่วโมง
เหตุและผลนั้นง่ายดาย นั่นคือ การที่คุณจะบินได้ไกลขึ้น คุณต้องแบกเชื้อเพลิงที่มากขึ้นไปด้วย และเมื่อต้องเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิง คุณก็ต้องสละพื้นที่ว่างบนเครื่องซึ่งควรจะนำมาใช้สร้างรายได้  ถึงแม้ว่าบริษัทผลิตเครื่องบินจะอ้างว่าโมเดลเครื่องรุ่นใหม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ 25% แต่เครื่องบินเหล่านี้ก็ยังบริโภคน้ำมันประมาณ 6 ตันต่อชั่วโมง ดังนั้นการบินระยะไกลเพิ่มขึ้นอีก 4 ชั่วโมงแปลว่าเครื่องจะต้องการน้ำมันเพิ่มอีกอย่างน้อย 25 ตัน ปริมาณเชื้อเพลิง 25 ตันที่จะทำให้เครื่องขาดพื้นที่บรรทุกคนหรือสิ่งของเพิ่มเพียงเพื่อทำให้เครื่องไม่ต้องหยุดแวะกลางทางแม้แต่จุดเดียว นอกจากนี้ยังมีต้นทุนอื่นๆ อีกสำหรับเที่ยวบินไม่แวะพักยาว 18 ชั่วโมง นั่นคือลูกเรือ 2 ชุดสำหรับสับเปลี่ยนระหว่างที่อีกชุดหนึ่งพักผ่อน, บริการอาหารที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงน้ำสำหรับดื่มและสำหรับบริการห้องน้ำบนเครื่องบิน หากต้องการรายได้ที่ครอบคลุมต้นทุนเหล่านี้ เที่ยวบินนั้นๆ จะต้องได้ค่าพรีเมียมที่สูงกว่าไฟลท์บินแบบแวะพักทั่วไป แม้ต้นทุนจะสูงแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาจำนวนเที่ยวบินระยะไกลก็เริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เส้นทางบินในตารางเดือนตุลาคมนี้ที่มีเที่ยวบินไกลกว่า 8,000 ไมล์ถึง 26 เส้นทางรวมถึงอีก 3 เส้นทางที่กำลังจะประกาศเร็วๆ นี้(ข้อมูลจาก OAG วิเคราะห์โดย ICF)  ผู้ที่สนับสนุนเที่ยวบินระยะไกลมักกล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีเครื่องบินโมเดลใหม่ เช่น เครื่องบินเครื่องยนต์คู่ A350-ULH นั้นประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องบินรุ่นก่อนๆ จนสามารถเปลี่ยนสมการการบินพาณิชย์ได้ ซึ่งตัวแปรนี้อาจจะเป็นไปได้สำหรับบางเส้นทาง
Dubai ฮับการบินพาณิชย์ของโลกซึ่งกลายเป็นตัวแปรใหม่ของเส้นทางบินระยะไกล ( PHOTO CREDIT: Emirates)
อย่างไรก็ตาม มีปรากฏการณ์อื่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย กล่าวคือ เที่ยวบินระยะไกลหลายเส้นทางในยุคบูมก่อนหน้านี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเมืองหลักทางธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยเป็นเส้นทางที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ยินดีจ่ายค่าพรีเมียมเพื่อเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B โดยไม่แวะพัก  ในทางกลับกัน ครึ่งหนึ่งของเส้นทางบินไกลทุกวันนี้เป็นการเชื่อมต่อไปยังฮับขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง ยกตัวอย่างเช่น ไฟลท์บิน Dubai-Auckland ที่เริ่มบินเมื่อปี 2016 พนันได้เลยว่าผู้โดยสารจำนวนมากต้องการไปเปลี่ยนเครื่องที่ Dubai เพื่อเดินทางสู่จุด C ต่อไป สำหรับผู้โดยสารกลุ่มนี้ ไฟลท์บินระยะไกลเส้นทางใหม่จากจุด A ตรงไปจุด C น่าจะเป็นการเชื่อมต่อที่ดี แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารเหล่านี้จะยอมจ่ายค่าพรีเมียมหรือไม่? แน่นอนว่ามีผู้โดยสารกลุ่มหนึ่งที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อบินข้ามโลกแบบไม่แวะพัก นั่นคือผู้โดยสารธุรกิจ เตียงนอนราบ 180 องศาและคืนแห่งการพักผ่อนที่ดีนั้นคุ้มค่าพอที่พวกเขาจะจ่ายเพิ่มอีก 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเส้นทางบินระยะไกลประมาณ 10 เส้นทางทั่วโลกนั้นมีดีมานด์ดังกล่าวมากพอจะสร้างรายได้จากค่าพรีเมียม โดย 5 เส้นทางในจำนวนนั้นเป็นไฟลท์บินไป-กลับจากออสเตรเลีย ส่วนเส้นทางบินระยะไกลใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดตัวนั้นยังยากที่จะตัดสินความคุ้มค่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ไฟลท์ระยะไกลเส้นทางใหม่เหล่านี้จะยังคงถูกจับตามอง เราอาจจะลืมเวทมนต์ของการบินไปในเส้นทางระยะใกล้ แต่เมื่อเป็นการบินไกลถึง 8,000 ไมล์บนฟากฟ้า สิ่งนี้จะยังคงเป็นความมหัศจรรย์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการบินของนกอพยพหรือนกเหล็กก็ตาม   แปลและเรียบเรียงจาก What's Behind The New Boom In Ultra-Long-Haul Airline Flights โดย Samuel Engel รองประธานและกรรมการผู้จัดการด้านการบิน ICF ตีพิมพ์ใน forbes.com