ขณะที่กำลังเดินทางท่องเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนที่ประเทศเนปาลในปี 2013 Eric Gnock Fah และ Ethan Lin รู้สึกตกใจที่พวกเขาต้องจ่ายทุกอย่างด้วยเงินสด แม้แต่บริษัทที่ให้บริการร่มร่อน หรือพาราไกลดิง (paragliding) ที่พวกเขาวางแผนมาเล่น ก็ไม่รับบัตรเครดิตหรือการชำระผ่านดิจิทัล ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาต้องแบกเงินสดหลายพันดอลลาร์ไปเที่ยว
“ขณะที่พวกเรากำลังใช้เวลาอย่างมากในการหาข้อมูลและวางแผนการเดินทาง แต่กลับไม่มีปุ่มวิเศษใดๆ ที่จะทำให้การธุรกรรมเป็นเรื่องสะดวก ไม่ยุ่งยาก” Gnock Fah ผู้ร่วมก่อตั้ง Klook กล่าว
ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ Gnock Fah และ Lin ซึ่งทั้ง 2 คนเคยทำงานในวาณิชธนกิจในฮ่องกง เกิดไอเดียสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นักท่องเที่ยวสามารถจองและชำระเงินค่ากิจกรรมต่างๆ ไว้ล่วงหน้าได้ พวกเขาจึงค้นหาวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดที่พวกเขาสามารถหาได้ใน LinkedIn และได้พบกับ Bernie Xiaokang Xiong จากนั้นจึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทที่ให้บริการจองกิจกรรมท่องเที่ยวนี้
โดยขณะนี้ Gnock Fah อายุ 32 ปี และเคยติดอันดับ 30 Under 30 Asia 2017 โดยนิตยสาร Forbes ด้วย
ปัจจุบันบริษัทของพวกเขามีพนักงานมากกว่า 1,000 คนในสำนักงาน 20 แห่งทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง ซึ่ง Xiong รับหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี Gnock Fah เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และ Lin เป็นซีอีโอ
สตาร์ทอัพรายนี้ได้รับการระดมทุนมาแล้วมากกว่า 521 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนักลงทุนหลายรายด้วยกัน อาทิ Goldman Sachs, Matrix Partners และ Sequoia Capital China โดยการระดมรอบล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนไปได้ 225 ล้านเหรียญ มีนักลงทุนหลักคือ Softbank Vision Fund และนั่นส่งผลให้บริษัทของพวกเขากลายเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ
หลังจากเริ่มให้บริการในเดือนกันยายน 2014 Klook ที่ย่อมาจาก “keep looking” ก็ให้ผู้ใช้สามารถค้นหา, จอง และชำระเงินแบบออนไลน์สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ, ทัวร์, การเดินทาง และบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว เหลือเพียงตั๋วเครื่องบินและโรงแรมเท่านั้นที่จองไม่ได้ ซึ่งผู้ก่อตั้งตัดสินใจว่าบริการที่มีอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว
ตลาดบริการจองกิจกรรมโตแรง
Phocuswright บริษัทวิจัยด้านการเดินทางจาก New York คาดการณ์ว่า ตลาดบริการจองกิจกรรม หรือที่เรียกอีกอย่างว่า in-destination-market จะเติบโตจนมีมูลค่าถึง 1.83 แสนล้านเหรียญในปี 2020 จากปี 2016 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านเหรียญ
“เรามองไปที่แหล่งท่องเที่ยว แล้วถามตัวเองว่า ‘เราสามารถเพิ่มมูลค่าในที่ไหนได้บ้าง?’” Gnock Fah ผู้ที่ย้ายจาก Mauritius มาอยู่ฮ่องกงตั้งแต่ปี 2007 เพื่อทำงานที่ Morgan Stanley กล่าว และว่า “ตลาดการจองกิจกรรมนั้นสุกงอมจนถึงเวลาที่ต้องถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยีแล้ว”
ปัจจุบัน Klook นำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวและบริการมากกว่า 100,000 กิจกรรม จากผู้ขายกว่า 10,000 รายใน 300 เมืองทั่วโลก และมีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากกว่า 30 ล้านครั้ง/เดือน และแน่นอนว่ามีกิจกรรมที่เปลี่ยนความผิดหวังมาเป็นแรงบันดาลใจอย่างพาราไกลดิงในเนปาล ที่เหล่าผู้ก่อตั้งเคยต้องจ่ายเป็นเงินสด แต่ตอนนี้สามารถจองบนเว็บไซต์ของพวกเขาได้แล้ว
สตาร์ทอัพรายนี้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นในเดือนมีนาคม 2015 ซึ่งในระยะแรกให้บริการเฉพาะบน Apple iTunes store ใน 14 ประเทศและภูมิภาคทั่วเอเชีย ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่นักลงทุนในระยะต้นอย่าง Zhuyan Li รองประธาน Matrix Partners China ได้พบกับแอพฯ และติดต่อเข้ามาเพื่อลงทุน
Li ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Baidu เล็งเห็นโอกาสการเติบโตแบบทวีคูณของสตาร์ทอัพรายนี้ในระดับสากล “เราคิดว่า Klook อาจกลายเป็น Meituan เวอร์ชั่นอินเตอร์” Li กล่าว โดย Meituan คือเว็บขายดีลส่วนลดที่ขยายธุรกิจมาสู่บริการเดลิเวอรีอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนจาก Tencent สามารถระดมทุนได้ถึง 4.2 พันล้านเหรียญ ในการเปิดขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน
“จากบริษัทในฮ่องกงที่มีผู้ใช้ทั่วเอเชีย เรามองเห็นแนวโน้มที่ Klook จะขยายไปในตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือได้” Li กล่าว
โดยปัจจุบันบริษัทสามารถขยายการให้บริการไปยังโซนยุโรปแล้ว และมีสำนักงานอยู่ที่เมือง Amsterdam, Barcelona และ London แต่ก็ต้องเจอกับการแข่งขันกับผู้เล่นเจ้าถิ่นอย่าง GetYourGuide จาก Berlin ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสามารถระดมทุนไปได้ 500 ล้านเหรียญจากกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Softbank
Gnock Fah กล่าวว่า Klook นั้นนำเสนอบริการที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงบริการเช่ารถและบริการรับ-ส่งสนามบิน ซึ่งทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้กว้างขึ้น
อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพรายนี้ยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเอเชีย และประมาณ 35% ของผู้ใช้แอพฯ นั้นมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ “เราอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการเติบโตของตลาดจีน” Gnock Fah กล่าว แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่ได้เป็นคู่แข่งกับแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Ctrip ซึ่งเป็นผู้เล่นที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการจองบริการท่องเที่ยวของจีน
“เราโฟกัสไปที่ธุรกิจรูปแบบเอาท์บาวด์” Gnock Fah ระบุ
Klook ยังขยายธุรกิจด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับโรงแรมแชงกรี-ลา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ต ในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงเทพฯ, ฮ่องกง และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังดึงกิจกรรมอย่างคอนเสิร์ตและอีเวนต์อื่นๆ เข้ามาให้บริการเพิ่มด้วย เพื่อตอบโจทย์ทั้งการเดินทางและการพักผ่อน
“หลังจากปีแรกหรือปีที่ 2 ผมก็รู้ว่าการเดินทางนั้นไม่ใช่การเดินทางแบบที่เราเข้าใจ เพราะมันไม่ใช่แค่การออกเดินทางไปท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงการพักผ่อนและสร้างความทรงจำด้วย” Gnock Fah กล่าว
เรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติม- Sonder ธุรกิจให้เช่าที่พัก คู่แข่ง Airbnb ผู้กลายเป็นสตาร์ทอัพพันล้านรายใหม่ของวงการ
- โอกาส “5.8 แสนล้านบาท” จาก “นักท่องเที่ยวจีน”
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine