C9 Hotelworks เผยผลสำรวจธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตผุดโรงแรมรอการอนุญาตกว่า 1,295 แห่ง หวั่นกระทบการท่องเที่ยวภูเก็ตไม่ได้มาตรฐาน แนะภาครัฐเร่งออกใบอนุญาตแก้ไขปัญหา
จังหวัดภูเก็ตนับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่สุดในเอเชียที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกแต่นักท่องเที่ยวหลายล้านคนที่เดินทางมาเยือนภูเก็ตในแต่ละปีอาจเข้าพักในโรงแรมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สอดคล้องกับรายงานฉบับใหม่ของ
C9 Hotelworks บริษัทที่ปรึกษาด้านการโรงแรม ระบุว่า โรงแรมในภูเก็ตที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องมีเพียงหนึ่งในสี่ของจำนวนโรงแรมทั้งหมด (429 แห่งจาก 1,724 แห่ง) จากจำนวนโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต 1,295 แห่งในภูเก็ต มีเพียง 6 แห่งเท่านั้นที่คำร้องได้รับใบอนุญาตแล้ว อีก 1,001 แห่งกำลังรอการอนุมัติ และอีก 288 แห่งยังไม่ได้ยื่นคำร้อง
Bill Barnett กรรมการผู้จัดการ
C9 Hotelworks ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลกด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว เปิดเผยถึงประเด็นความล่าช้าหลังจากปลายปีที่ผ่านมา โชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในช่วงนั้น ได้ประกาศมาตรการจัดการกับโรงแรมที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ รณรงค์เรียกร้องให้นักเดินทางไม่เข้าพักในโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 มกราคม 2560 ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ก็ยังคงไม่ดีขึ้น เนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวด ซับซ้อน และล่าช้าเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการออกใบอนุญาตนั่นเอง ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดกำลังเร่งพิจารณาทบทวนข้อกำหนดต่างๆ
“เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีความหนักใจกับปัญหานี้เนื่องจากความต้องการจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอยู่สูงส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงภูเก็ตเพิ่มขึ้นอย่างมาก”
Bill Barnett กรรมการผู้จัดการ C9 Hotelworks กล่าว
ทั้งนี้เขาได้เปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเดินทางมาที่สนามบินนานาชาติภูเก็ตเพิ่มขึ้น 17% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ในขณะที่ผู้โดยสารขาเข้าจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% โดยขณะนี้มี
17 สายการบินตรงจากจีนมายังภูเก็ต มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 2 ใน 3 ของนักเดินทางที่เดินทางมายังสนามบินแห่งนี้
จากบทวิเคราะห์ของ C9 Hotelworks ขณะนี้มีโรงแรม 33 แห่งทั่วเกาะที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะเพิ่มห้องพักให้กับภูเก็ตอีก 5,738 ห้อง ประกอบด้วยโรงแรมแบรนด์ระดับโลกที่สำคัญอาทิ Best Western, JW Marriott, Sheraton โดย บิล บาร์เน็ต ได้เปิดเผยอีกว่ามีโรงแรม1,295 แห่งในภูเก็ตได้ยื่นคำร้องเพื่อขอใบอนุญาต
นอกจากนั้น ปัจจัยที่ทำให้โรงแรมที่ให้บริการไม่ถูกต้องตามกฏหมายไม่ยอมจดทะเบียนให้ถูกต้อง ได้แก่ 1. การหลีกเลี่ยงภาษี 2. ข้อจำกัด สำหรับโรงแรมในแง่ของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกระบวนการ EIA และ IEE กล่าวคือไม่ผ่านการประเมินนั่นเอง และอีกประการหนึ่ง คือการเข้ามาของธุรกิจโรงแรมคอนโดมิเนียม (Condo Hotels) ซึ่งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กำลังพยายามขายห้องที่มีสัญญาเช่าที่พักอาศัย รวมไปถึงธุรกิจ AirBnb มีข้อตกลงด้านภาษีมากกว่า 200 ฉบับกับแต่ละเมืองทั่วโลก อาทิ ในกรุงปารีส AirBnB ต้องชำระภาษีโรงแรมในการจองและส่งเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่น เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลจึงควรนำตัวอย่างการแก้ปัญหาดังกล่าวมาปรับใช้กับไทย
ด้านภาพรวมตลาดโรงแรมและรีสอร์ทหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันกับภูเก็ต หนึ่งในนั้นคือ บาหลี ซึ่งมีจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการอยู่ 317 แห่ง รวมจำนวนห้องพัก 33,599 ห้อง ข้อมูลจาก Badan Pusat Statistik รัฐบาลอินโดนีเซีย