3 หน่วยงานจับมือพัฒนา "สตาร์ทอัพสายอาร์ต" ดันศักยภาพทัดเทียมโลก - Forbes Thailand

3 หน่วยงานจับมือพัฒนา "สตาร์ทอัพสายอาร์ต" ดันศักยภาพทัดเทียมโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Aug 2019 | 07:00 PM
READ 6117

ซีอีเอ-ทีเส็บ-เอ็นไอเอ ผนึกกำลังเดินหน้าพัฒนา อุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการใช้นวัตกรรม โฟกัสสร้างระบบนิเวศให้ MAR Tech ดันศักยภาพการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติ

อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ซีอีเอ (CEA) กล่าวว่า ซีอีเอในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ให้มีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (TCEB) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ (NIA) ดำเนินโครงการ “การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย” บนพื้นฐานการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ

“ปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีอยู่ 15 สาขา ถ้าเราร่วมมือกันและสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เติบโตไปได้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมไมซ์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยก้าวไปอยู่ในตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น โดยนอกจากมุ่งเป้าไปที่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างและใช้นวัตกรรมเพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการแล้ว เรายังโฟกัสไปที่การส่งเสริมการลงทุนและสร้างระบบนิเวศในสาขาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ด้านดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการ (MAR Tech) ของไทย ที่ความสามารถของคนไทยไม่น้อยหน้ากว่าชาติอื่น”

อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล

อภิสิทธิ์ ระบุว่า การส่งเสริมการพัฒนา อุตสาหกรรมไมซ์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยบนพื้นฐานการใช้นวัตกรรมใหม่นั้นจะดำเนินการผ่าน 3 กิจกรรมหลัก คือ 1.การพัฒนาองค์ความรู้ที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดสิ่งที่เรามีอยู่แล้วด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ (Grooming)

“2.การสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายในการพัฒนาผลงานด้วยองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม (Enhancing with Innovation) และ 3.การมีพื้นที่ในการจัดเทศกาล กิจกรรม เพื่อจัดแสดงผลงานและสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนหรือต่อยอดการพัฒนาผลงาน โดยร่วมมือกับพื้นที่ชุมชนและผู้จัดงานระดับสากล เช่น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ, เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ และอีสานครีเอทีฟเฟสติวัล”

“การร่วมมือกันครั้งนี้ เราหวังว่าในอนาคตอันใกล้โครงการนี้จะมีกิจกรรมหรือผลงานเป็นรูปธรรม และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะช่วยส่งเสริมภาวะการลงทุนและการท่องเที่ยว และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแผนที่ของอุตสาหกรรมนี้ของโลกต่อไป”

จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่าย MICE Intelligence & Innovation สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ได้ตระหนักถึงนโยบายเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมสำคัญ 10 อุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์นานาชาติ และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

“เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงความสำเร็จในทุกๆ ด้านของธุรกิจ ทีเส็บจึงเข้ามาร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีเสถียรภาพและมีโอกาสนำเสนอผลงานสู่เวทีนานาชาติ บนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมระดับโลก ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกต่อประเทศไทยทั้งในแง่ของการกระตุ้นการลงทุนทางธุรกิจจากชาวต่างชาติ รวมไปถึงการขยายเวลาพำนักของนักเดินทางธุรกิจต่างชาติในอนาคต”

จารุวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไมซ์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมหลากหลายแขนง อาทิ การท่องเที่ยว โรงแรม การบริการ โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างดี ซึ่งล่าสุดได้รับการจัดอันดับจากสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลกปี 2561 ให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ของเอเชียด้านการประชุมนานาชาติ รองจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลี และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน นอกจากนี้ กรุงเทพฯยังถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 2 ของโลกด้านการประชุมนานาชาติระดับเมือง

จารุวรรณ สุวรรณศาสน์

“อีกขั้นหนึ่งในการผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตได้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเข้ามาช่วย เพื่อเป็นการสร้างมูลค่า ยกตัวอย่าง เวลาที่เราไปเสนอให้ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างของไมซ์ เราสามารถขายความคิดสร้างสรรค์ของเราได้เพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ และมูลค่าเพิ่มได้” จารุวรรณ กล่าวกับ Forbes Thailand

“ซีอีเอเหมือนเป็นต้นน้ำที่มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนเอ็นไอเอเป็นส่วนที่ทำให้ความคิดนั้นออกมาในเชิงพาณิชย์ และทีเส็บเป็นส่วนเชื่อมโยงในการหาตลาดหรือเวทีต่างๆ เพื่อต่อยอดหาลูกค้านั่นเอง ทั้งนี้ ทีเส็บคาดหวังว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการสร้างเวทีการสนับสนุนงานเมกะอีเวนต์นานาชาติ เพื่อให้สมาชิกสตาร์ทอัพในวงการครีเอทีฟได้มีโอกาสแสดงผลงานและโชว์ศักยภาพของผู้ประกอบการและวิสาหกิจเริ่มต้นในด้านดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการ”

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ (NIA) กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมาเอ็นไอเอเริ่มส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆ มาตลอด จนทำให้เมื่อ 2 ปีก่อน กรุงเทพฯถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่คนอยากมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพอันดับ 7 ของโลก อันดับ 1 ในเอเชีย

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

“ทั้งนี้ ‘เมือง’ กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญในการทำนวัตกรรมแบบเปิด ที่นำเอาองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ไปแปรสู่ความเป็นจริงได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นจากเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์คือศิลปะ ดังนั้น นอกจาก Deep Technology แล้ว นวัตกรรมที่เราอยากจะทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาก็คือ MAR Tech ที่ไทยมีอยู่แล้วและยังมีโอกาสเติบโต”

“การทำงานร่วมกันทั้ง 3 องค์กร เป็นการตอบภาพดีเอ็นเอของไทยที่ชัดมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในสู่ระบบนวัตกรรมของประเทศผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมกับการพัฒนานวัตกรรมในทั้ง 2 อุตสาหกรรม”

  รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine