ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ เผยแผนธุรกิจ โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา - Forbes Thailand

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ เผยแผนธุรกิจ โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา เผยแผนธุรกิจและกลยุทธ์เติบโตในปี 2565 ลุยเปิดอีก 8 แห่ง 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าขยายโรงแรมและรีสอร์ตในเครือจากปัจจุบัน 88 แห่ง ให้ได้เป็น 200 แห่ง ภายในปี 2569 ทำให้สัดส่วนจำนวนโรงแรมในไทยและต่างประเทศอยู่ที่จำนวนที่ใกล้เคียงกัน

โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารามีผลดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4 ปี 2564 ว่ามีรายได้รวม 1.09 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลดำเนินธุรกิจมากขึ้นในปี 2565 นี้ โดยได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงผลประกอบการของโรงแรมในต่างประเทศทั้งในตลาดตะวันออกและมัลดีฟส์ที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นั้น เซ็นทาราจะเดินหน้าเปิดโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเพิ่มอีก 8 แห่ง (จำนวน 1,066 ห้อง) ให้ครอบคลุมจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวหลักในไทย อาทิ กรุงเทพฯ โคราช และอุบลราชธานี และในต่างประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โอมาน และกาตาร์ หนึ่งในกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจที่สำคัญของเซ็นทารา คือการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำเพื่อเปิดให้บริการโรงแรม ทั้งภายใต้แบรนด์เดิมที่มีอยู่แล้วและแบรนด์น้องใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในปีนี้ ขณะที่กระแสตอบรับอันของโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ซึ่งเป็นแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ แห่งแรกที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 เซ็นทาราจึงเตรียมขยายแบรนด์นี้สู่หัวเมืองท่องเที่ยวหลักอื่นๆ อย่างเช่น กระบี่ รวมถึงโปรเจ็กต์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาหาข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อไป อาทิ เกาะลันตาและชะอำ นอกจากนั้น เซ็นทารายังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Wellness segment) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูลร่วมกับกลุ่มบริษัทจากยุโรป โดยเซ็นทารามองเห็นถึงศักยภาพของเกาะเต่าและเกาะสมุยสำหรับการเปิดโรงแรมด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต

ขานรับรายได้ต่างประเทศ

สำหรับการขยายสาขาในต่างประเทศ โรงแรมในมัลดีฟส์แห่งใหม่ 2 แห่งนั้นเพิ่งได้รับการรับรองผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงสามารถเริ่มดำเนินงานก่อสร้างได้ ต่อจากก่อนหน้าที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 3 แห่ง โดยจะมี 2 แห่งที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เซ็นทารามีโรงแรมในในมัลดีฟส์ที่เปิดให้บริการทั้งสิ้นเป็น 4 แห่ง นอกจากนั้น โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างเซ็นทารา บริษัท Taisei Corporation และ Kanden Realty & Development ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างก็มรความคืบหน้า และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2566 รวมถึงโรงแรมโคซี่ ภูเย็น ในเวียดนาม ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริหารในปี 2566 โดยจะถือเป็นโรงแรมโคซี่แห่งแรกของเซ็นทาราในต่างประเทศ ในส่วนของการเติบโตในตลาดต่างประเทศ เซ็นทารานั้นมุ่งหน้าขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบมหาสมุทรอินเดีย ญี่ปุ่น จีน ตะวันออกกลาง รวมถึงซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการฑูตกับไทย อีกทั้งยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดยุโรปด้วยเช่นกัน สำหรับตลาดสำคัญของกลุ่มโรงแรมได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย และ จีน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนของกลุ่มเซ็นทาราเป็นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง (FIT) ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 เป็นหลัก ธีระยุทธ คาดการณ์อีกว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาเดินทางอีกครั้งจะทำให้รายได้กลับมาตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนการเกิดวิกฤตโควิด ขณะที่โรงแรมในประเทศมัลดีฟต์ยังคงเป็นกลุ่มทำเงินจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ขณะที่เมืองดูไบเองก็มียอดผู้เข้าพักดีขึ้นเป็นลำดับและมีจำนวนผู้เข้าพัก "2 ปีที่ผ่านเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดของกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งปัจจุบันยังเปิดโรงแรมไม่ครบ 100% อย่างโรงแรมในภูเก็ตได้ปิดตัวไป 2 แห่ง" ธีระยุทธ กล่าวและเสริมว่าเราเราตั้งเป้าทำรายได้ราว 5.9 พันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้าจากสัดส่วนรายได้ทั้งในและต่างประเทศซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนโรงแรมที่ลงทุนเองและจากการบริหารที่ 88 แห่ง ใน 5 ข้างหน้าจากการทยอยเปิดและรับจ้างบริหารเพิ่มขึ้นราว 20 แห่ง หรือแตะ 100 แห่ง โดยแบ่งงบประมาณราว 1 พันล้านบาทเป็นการรีโนเวทโรงแรมเเก่าและ ราว 1 พันล้านในการลงทุนโรงแรมใหม่ในประเทศญี่ปุ่น

ภาพรวมการเข้าพักในประเทศ

ด้านการเดินทางเข้าพักของโรงแรมในประเทศ  ธีระยุทธ กล่าวว่า เริ่มเห็นสัญญาณการเดินทางเขาพักของนักท่องเที่ยวที่ดีไม่กว่าจะเป็น โรงแรมและรีสอร์ตในเกาะภูเก็ต ทั้งเป็นความผันผวนในการเดินทางเข้าพักของนักท่องเที่ยวภายในประเทศเกิดจากนโยบายรัฐฯ ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อาทิ นโนบาย Test and Go หรือนโยบายจากงบประมาณของรัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ที่คิดเป็นรายได้ราวร้อยละ 20 รวมถึงนโยบายผ่อนปรนด้านการท่องเที่ยวอย่าง Travel Buble เป็นต้น โดยในภาคส่วนของงานฝ่ายปฏิบัติการ เซ็นทารายังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเข้ามาใช้ หลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมดของบริษัทไปเมื่อไม่นานมานี้ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเว็บไซต์ ระบบการบริหารจัดการโรงแรม และระบบศูนย์กลางของการจองห้องพักทั้งหมด โดยกำลังจะเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่จะนำมาใช้กับระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ในเร็วๆ นี้อีกด้วย ทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมทำให้ระบบการขายนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น เสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบดูแลจัดการลูกค้า ที่สำคัญที่สุดคือทำให้ประสบการณ์การเข้าพักของลูกค้านั้นราบรื่นในทุกๆ มิติ ทั้งยังจะตรงกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ด้วยการจัดฝึกอบรมต่างๆ เพื่อเพิ่มความพร้อมและเสริมทักษะ ทั้งนี้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตในเครือมีพนักงานราว 5,000 คน ขณะที่ปัจจุบันมีพนักงานอยู่ที่ราว 2,900 คน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมาพร้อมกับแผนระยะยาวในการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำลงกว่า 20% ภายในระยะเวลา 10 ปี และตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราจะต้องได้รับการรับรองประกาศนียบัตรด้านความยั่งยืนให้ครบทุกแห่งอีกด้วย “ในขณะที่โลกกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รวมทั้งกฎเกณฑ์ข้อบังคับในเรื่องของการท่องเที่ยวที่ค่อยๆ บรรเทาลดน้อยลง เราก็มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสามารถพลิกฟื้นกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าเราอาจจะต้องเจอกับอุปสรรคและความยากลำบากในช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เซ็นทาราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดและขยายธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นใจ และในขณะนี้ที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2565 อย่างเต็มตัว เรายินดีที่จะประกาศแผนการในการเติบโตธุรกิจอันน่าตื่นเต้นที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เราตั้งเป้าเปิดโรงแรมและรีสอร์ทใหม่อีกหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงเปิดตัวแบรนด์โรงแรมใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้ จึงถือได้ว่าปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่เซ็นทาราจะมุ่งมั่นสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวขึ้นเป็นหนึ่งใน 100 แบรนด์โรงแรมระดับโลกให้ได้ตามที่เคยได้ตั้งเป้าไว้” ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าว อ่านเพิ่มเติม: