The Incubation Network การรวมตัวเพื่อมุ่งแก้ปัญหา “ขยะพลาสติก” - Forbes Thailand

The Incubation Network การรวมตัวเพื่อมุ่งแก้ปัญหา “ขยะพลาสติก”

ปัญหา ขยะพลาสติก ของไทย ติดอันดับ 6 ของโลก เปิดตัว The Incubation Network รุกบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เร่งแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในประเทศ ประเดิมรับเงินลงทุน 2 ล้านเหรียญ สร้างนวัตกรรมจัดการปัญหาขยะพลาสติก สร้างโอกาส 5 ด้านเศรษฐกิจไทย

The Incubation Network โครงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุสถานการณ์จัดการขยะของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง โดยไทย เป็นประเทศที่ก่อมลพิษจาก ขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นปริมาณขยะราว 322,000 ตัน จากขยะจำนวนทั้งสิ้น 8-12 ล้านตันในแต่ละปี ขยะส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง โดยถูกเผาและฝังกลบในพื้นที่ที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาล หรือรั่วไหลปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของไทย ก่อให้เกิดการรั่วไหลของพลาสติกเกือบร้อยละ 60 ของจำนวนพลาสติกทั้งหมดสู่สิ่งแวดล้อม คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี The Incubation Network เป็นโครงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการสนับสนุนจาก SecondMuse และ The Circulate Initiative โดยเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยรวมถึงประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยร่วมมือกับพันธมิตร 3 ราย ได้แก่ Seedstars, Alliance to End Plastic Waste และ STEAM Platform และล่าสุดได้รับเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 68 ล้านบาท) จาก ECCA Family Foundation เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ด้วยการลดการใช้ การใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิล Christian Algot Enevoldsen ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ ECCA Family Foundation กล่าวว่า การสนับสนุน The Incubation Network ในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะช่วยนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก พัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่มีหน้าที่จัดการขยะ และสนับสนุนการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย “เราเห็นถึงความพยายามของประเทศไทยในการจัดการกับความท้าทายด้านปัญหาขยะพลาสติก โดย The Incubation Network จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิค สร้างเครือข่ายธุรกิจ และเงินทุนเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและผู้ประกอบการของไทย ให้สามารถพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” ประธานกรรมการ ECCA Family Foundationระบุ

ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฎสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัท SecondMuse กล่าวว่า The Incubation Network ให้ความสนใจกับประเทศไทย เนื่องจากเสียงเรียกร้องของประชาชนเพื่อให้มีการแก้ปัญหามลพิษทางทะเลจาก ขยะพลาสติก และจากการที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืน ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวทำให้สตาร์ทอัพและผู้พัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยมีโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของภูมิภาค “โครงการของภาครัฐและเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาขยะในปัจจุบันสามารถต่อยอดและขยายผลได้ด้วยการเพิ่มการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและการสนับสนุนเชิงเทคนิคเพื่อพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถปรับให้เหมาะกับขนาดของปัญหา” ดร.ศิรินทร์ชญากล่าว The Incubation Network และพันธมิตรทั้ง 3 องค์กรในประเทศไทยมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันระบบนิเวศด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น Thailand Plastics Circularity Accelerator ซึ่งเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคที่ออกแบบเฉพาะสำหรับธุรกิจที่ได้รับการเลือกให้ร่วมโครงการ โปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจระยะเวลา 3 เดือนสำหรับธุรกิจที่อยู่ในระยะเริ่มต้น รวมถึงการสร้างเครือข่าย Waste Action Network ระดับประเทศ ทั้งนี้ The Incubation Network จะสนับสนุนเงินทุนและช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้าถึงคำปรึกษาและแนวปฏิบัติในการจัดการปัญหาขยะมลพิษในประเทศไทย จากรายงานของ The Incubation Network ระบุถึงโอกาส 5 ด้าน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบระบบ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดของเสียให้ได้มากที่สุด และลดขยะพลาสติกไปพร้อมๆ กัน โดยโอกาสทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย หนึ่ง คือ การช่วยผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลให้เข้าถึงความต้องการผลิตภัณฑ์รีไซเคิล สอง คือ การใช้วัสดุที่มีนวัตกรรมช่วยลดการใช้งานพลาสติกผลิตใหม่ สาม คือ การให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานจัดเก็บขยะนอกระบบ สี่ คือ การรณรงค์ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และ ห้า คือ การส่งเสริมให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บขยะมีระบบงานที่สามารถนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ที่ผ่านมา The Incubation Network ได้ให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพมาแล้วกว่า 75 รายในการขยายธุรกิจ ผ่านโครงการบ่มเพาะที่เน้นแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแต่ละประเทศ เช่น โครงการศึกษา บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว (Flexible Packaging) ไม่เป็นที่นิยมนำมารีไซเคิลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสิงคโปร์ รวมถึงการแนะนำ วิธีแนะนำหลักการพื้นฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่สตาร์ทอัพ ในอินโดนีเซีย เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม: ไทยเบฟ เปิดแผน PASSION 2025 มุ่งครองตลาดผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารครบวงจรในอาเซียน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine