ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ กับภารกิจ ‘Strategic Enabler’ เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี GIS สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับชาติ - Forbes Thailand

ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ กับภารกิจ ‘Strategic Enabler’ เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี GIS สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับชาติ

    ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้พลิกโฉมโลกใบเดิมสู่โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ขณะที่การมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT), ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ไม่เพียงสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ยังทำให้โลกใบเดิมก้าวสู่ยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน และขับเคลื่อนด้วย "ข้อมูล" (Data) อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

    เมื่อ "ข้อมูล" กลายเป็นขุมทรัพย์อันทรงพลัง ที่สามารถนำมาขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และความมั่นคงของประเทศ การมีเทคโนโลยีที่สามารถนำ "ข้อมูล" มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้

    หนึ่งในเทคโนโลยีที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือ GIS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาเพื่อรวบรวม จัดเก็บ จัดการ วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geospatial Data) อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย แม้เทคโนโลยี GIS จะถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ GIS ไม่ใช่เทคโนโลยีเฉพาะกลุ่ม หากแต่เป็นระบบที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ตั้งแต่ระบบขนส่ง การวางผังเมือง ไปจนถึงการจัดการภัยพิบัติ ความท้าทายสำคัญจึงไม่ใช่แค่การใช้งานเทคโนโลยี แต่คือการสร้างความเข้าใจใหม่ว่า GIS คือเครื่องมือสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่เทคโนโลยีของผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มเดียว ที่สำคัญยังช่วยในการบูรณาการข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับการตัดสินใจเชิงพื้นที่ให้แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์อนาคต

​    ดังนั้น เพื่อทลายกำแพงดังกล่าว และสร้างการรับรู้ว่า GIS คือเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับการวางแผน กำหนดนโยบาย หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างแม่นยำในทุกภาคส่วนของประเทศ ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท จีไอเอส จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้นำให้บริการระบบภูมิสารสนเทศแบบครบวงจร ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมยกระดับตัวเองสู่ Strategic Enabler เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี GIS ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Infrastructure)

​ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท จีไอเอส จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีดีจี

    GIS เทคโนโลยีที่ใกล้ตัวและมีประโยชน์กว่าที่คิด

    ดร.ธนพร เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นว่า เมื่อพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะนึกถึงเพียงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดาต้าเซ็นเตอร์ ไปจนถึงระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง แต่ในความเป็นจริง GIS ก็เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญและเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ด้วยมูลค่าตลาด Geospatial Analytics หรือเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเติบโตแตะที่ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นในฐานะเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่สามารถเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI, IoT และ Cloud ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมือง การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน หรือการตอบสนองต่อภัยพิบัติ โดยเทคโนโลยี GIS กำลังกลายเป็นแกนกลางสำคัญของการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

    ในยุคที่ข้อมูลและ "ตำแหน่งที่ตั้ง" กลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด เทคโนโลยี GIS กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย แม้จะถูกใช้งานมานานแล้ว เช่นเดียวกับที่เทคโนโลยีอย่าง AI กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในวันที่โลกพร้อมใช้งานจริงในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จุดเด่นของ GIS ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มทำแผนที่ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่จากโลกจริง สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลได้ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประชากร ลักษณะภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม หรือ โครงสร้างเมือง เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

    ไปจนถึง การจัดทำผังเมือง การกำหนดพื้นที่เขตเสี่ยงน้ำท่วม การบริหารสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการบริหารจัดการภัยพิบัติ สามารถสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญหากข้อมูลจากทุกภาคส่วนสามารถเชื่อมโยงกันผ่านแพลตฟอร์มกลางที่มีมาตรฐาน ก็จะช่วยลดความซ้ำซ้อน และเปิดทางให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันบนข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ GIS เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับชาติ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงอย่างยั่งยืน

​    ดร.ธนพร ยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GIS มาใช้งานในหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคม ซึ่งช่วยให้หลายหน่วยงานสามารถวางแผนโครงการ นโยบาย และงบประมาณบนชุดข้อมูลเชิงพื้นที่เดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ เช่น เขตพัฒนาเมือง ถนน โรงพยาบาล ไปจนถึงการจัดการเมืองในภาพรวม ทั้งเรื่องน้ำเสีย ขยะ การจราจร รวมถึงบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่สามารถวิเคราะห์และการจำลองสถานการณ์แบบเรียลไทม์ได้ เช่น การสำรวจอาคารหน่วยงานรัฐที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เพื่อประเมินความเสียหาย พร้อมส่งข้อมูลกลับไปยังหน่วยงานเจ้าของอาคารได้ทันที

    ทั้งหมดนี้อยู่บนระบบฐานข้อมูลกลางที่แม่นยำและเชื่อมโยงกัน ทำให้การตอบสนองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังถูกใช้ในการจำลองสถานการณ์น้ำท่วมล่วงหน้า รวมถึงเพื่อวางแผนเข้าช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดความสูญเสียและรับมือป้องกันได้ทันท่วงที หรือกระทั่งการวางแผนบริการสาธารณสุข การศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานให้ตรงกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำ รองรับการพัฒนาในระดับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

    ดร.ธนพร ยังกล่าวว่า ภาคเอกชนหลายอุตสาหกรรมก็ได้นำเทคโนโลยี GIS มาใช้เป็นรากฐานของนวัตกรรมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งด้านโลจิสติกส์ ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ กระทั่งการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์ทั้งการวางแผนเครือข่ายขนส่ง ลดต้นทุนเชื้อเพลิง วิเคราะห์ทำเลที่ตั้ง การกำหนดพื้นที่ให้บริการ (Trade Zone) ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า GIS คือตัวเร่งนวัตกรรมในภาคธุรกิจที่จับต้องได้จริง


​ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ 
ประธานบริษัท จีไอเอส จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีดีจี

​    สร้างการรับรู้ - พัฒนาคน ผลักดัน GIS สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับชาติ

    แม้ดร.ธนพร เชื่อมั่นว่า หากประเทศไทยนำเทคโนโลยี GIS มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ จะพลิกประเทศสู่ยุค Data -Driven อย่างแท้จริง แต่ความท้าทายสำคัญ กลับไม่ได้อยู่ที่เรื่องเทคโนโลยี หากแต่อยู่ที่การสร้างการตระหนักรู้ร่วมในระดับประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้นำที่กำหนดนโยบาย และตัดสินใจไปจนถึงภาคประชาชน เห็นพ้องร่วมกันว่า GIS ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ซับซ้อนหรือไกลตัว แต่เป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การบริหารเมือง ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของทุกคน ดังนั้น GIS จะไม่ใช่เทคโนโลยีของคนบางกลุ่ม แต่ควรถูกยกระดับให้เป็นเครื่องมือกลางของประเทศ ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จริง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนา "แพลตฟอร์มกลาง" ที่สามารถเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหมายรวมถึงข้อมูลของประเทศในหลายด้าน เพื่อให้การวางแผนและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

​    ด้วยความมุ่งมั่นนี้เองทำให้จีไอเอส ไม่จำกัดบทบาทตัวเองไว้เพียงแค่การให้บริการระบบ สารสนเทศภูมิศาสตร์ แต่ยังเดินหน้าอย่างจริงจังในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ GIS ในระดับสังคม ควบคู่กับการพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา เพื่อปูทางสู่การใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ และเปลี่ยนจากเทคโนโลยีที่เคยเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ไปสู่เครื่องมือกลางของประเทศที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้พร้อมทั้งให้คำแนะนำเชิงวิชาการและเชิงระบบ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม

    พันธกิจนี้ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของประเทศ เราเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยี GIS คือ Backbone หรือกลไกหลักของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็นของประเทศ เพราะข้อมูลเชิงพื้นที่คือหนึ่งในรากฐานสำคัญของการบริหารจัดการยุคใหม่ที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ จากการใช้ GIS แยกกันรายหน่วยงาน ไปสู่การสร้าง "ศูนย์ข้อมูลกลางระดับชาติ" ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างแท้จริง เพื่อสร้างระบบข้อมูลที่แม่นยำ เชื่อมโยง และพร้อมรองรับการวางแผนเชิงพื้นที่ เรามั่นใจว่าด้วยศักยภาพของจีไอเอส เราจะก้าวข้ามจากเพียง Partner (คู่ค้า)หรือผู้ให้บริการ สู่บทบาทของ Strategic Enabler ของประเทศ เพื่อสนับสนุนภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันให้เทคโนโลยี GIS กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเปิดทางให้นวัตกรรมใหม่ๆ เติบโตบนฐานข้อมูลเดียวกันได้อย่างยั่งยืน

    ทั้งหมดนี้ สะท้อนแนวคิดของดร.ธนพร ในฐานะผู้นำของจีไอเอส ในการผลักดันให้เทคโนโลยี GIS ก้าวขึ้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ที่มีระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกัน พร้อมนำไปสู่การใช้งานจริง เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว และสร้างข้อได้เปรียบให้ประเทศไทยสามารถมองเห็นปัญหา ชี้เป้าการแก้ไข และขับเคลื่อนการพัฒนาได้อย่างแม่นยำกว่าที่เคย