กลยุทธ์ GC หลังเข้าซื้อกิจการ allnex ต่อยอดความแข็งแกร่งธุรกิจสู่ความยั่งยืน
นับเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ก็ว่าได้ หลังจาก PTTGC International (Netherlands) B.V. (GC Inter B.V.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการ Allnex Holding GmbH (allnex) กับ Allnex Holdings S.à.r.l and Allnex S.à.r.l, ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การบริหารของ Advent International (Advent) มูลค่า 1.48 แสนล้านบาท เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา
คำถาม คือ ดีลมูลค่ามหาศาลนี้มีความน่าสนใจอย่างไร ทำไม GC ถึงตัดสินใจเลือกเสริม พอร์ตโฟลิโอด้วยการเข้าซื้อกิจการของ allnex ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เรซินชนิดพิเศษ เพื่อใช้ในการผลิตสารเคลือบอุตสาหกรรม (Coating Resins) ที่สำคัญ allnex จะเป็นอีกหนึ่งจิกซอร์ตัวสำคัญที่เข้ามาต่อยอดกลยุทธ์และเสริมแกร่งให้ GC อย่างยั่งยืนได้อย่างไร
เพื่อไขทุกข้อข้องใจ ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ฉายภาพให้เห็นว่า การลงนามสัญญาซื้อขายในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ GC เพราะไม่เพียงเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของ GC ในการเป็น “เคมี...ที่เข้าถึงทุกความสุข” แต่ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของ GC ควบคู่กับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการ Synergy ธุรกิจของทั้งสองฝ่าย ในฝั่ง GC เอง ถือเป็นการปรับพอร์ตฟอลิโอ เพิ่มความหลากหลายของเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ รวมถึงผสานนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะเดียวกัน GC จะเป็นพันธมิตรด้านกลยุทธ์ระยะยาวให้กับ allnex ในการพัฒนาตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และขยายไปยังตลาดเกิดใหม่
“หนึ่งในเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจระยะยาวของ GC คือ การสร้างโอกาสการเติบโตด้วยกลยุทธ์ Step Out ผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและการแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ Step Up ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนด้วยการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งการเข้าซื้อกิจการของ allnex เป็นไปตามแผนของกลยุทธ์ดังกล่าว”
สำหรับความน่าสนใจของ allnex นั้น ดร. คงกระพัน กล่าวว่า allnex เป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 70 ปี เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท เช่น ไม้ เหล็ก พลาสติก เป็นต้น ครอบคลุมการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก ยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงเป็นผู้นำในการนำเสนอโซลูชั่นการพัฒนาแอปพลิเคชันการเคลือบต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผลิตภัณฑ์ของ allnex จะมีการปล่อยสาร VOCs (Volatile organic Compounds) ซึ่งเป็นสารระเหยที่ไม่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด
ที่สำคัญ เมื่อมาดูกลยุทธ์ในการเจริญเติบโตที่ allnex วางไว้ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เป็นผู้นำในตลาด Coating Resins คุณภาพสูง มุ่งแสวงหาการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดใหม่ๆ และมุ่งมั่นพัฒนาสารเคลือบที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ก็ล้วนสอดคล้องกับพันธกิจหลักของ GC ทำให้มั่นใจว่า GC พร้อมจะทำงานร่วมกับทีมงาน allnex เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และสร้างคุณค่าให้กับสังคมร่วมกัน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนชุมชนและสิ่งแวดล้อม
“ผลจากการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก บวกกับการบริหารพอร์ตฯ ให้มีการกระจายความเสี่ยง มีเครือข่ายโรงงานการผลิตที่ทันสมัย 33 แห่งใน 18 ประเทศ ศูนย์การวิจัยและเทคโนโลยีอีก 23 แห่ง มีพนักงานประมาณ 4,000 คนทั่วโลก ทำให้ allnex เป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ในอุตสาหกรรมเคลือบผิว ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แม้จะเป็นปีที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤติโรคระบาดก็ตาม โดยผลประกอบการที่ผ่านมาของ allnex ค่อนข้างแข็งแกร่ง มีรายได้ประมาณ 2,000 ล้านยูโร (ราว 7.4 หมื่นล้านบาท) มีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) อยู่ที่ 17-19%”
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ซึ่งดร.คงกระพัน มองว่า น่าจะเป็นดีลที่ใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ GC ทำมา ไม่เพียงจะต่อยอดในแง่กลยุทธ์การเติบโตและความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างยั่งยืน แต่จะส่งผลดีต่อรายได้รวมของ GC ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 10 % เนื่องจากในปี 2565 จะมีการบันทึกผลประกอบการของบริษัท Allnex Holding GmbH (allnex) ที่ได้ซื้อกิจการเข้ามาในงบการเงิน หลังการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ในส่วนของรายได้และกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 2% จากเดิมที่อยู่ราว 8-9% เนื่องจาก EBITDA ของ allnex อยู่ในระดับสูงกว่าที่ระดับ 17% หรือมูลค่าราว 400 ล้านยูโร ในส่วนของกำไรสุทธิของ allnex คาดว่าจะอยู่ระดับ 50% ของ EBITDA
สำหรับแหล่งเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการนั้น ดร.คงกระพัน กล่าวว่า GC มีกระแสเงินสดเพียงพอในการซื้อกิจการโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะบริษัทมีกระแสเงินสดกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีเงินบางส่วนจากการขายหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และวงเงินกู้จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อีก 73,920 ล้านบาท รวมถึงยังมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินอีกราว 15,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังและ EBITDA ที่จะเพิ่มขึ้นมาหลังจากการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้
ในส่วนของสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (DE) ปัจจุบัน GC มี DE ที่ 0.3 เท่า และภายหลังการเข้าซื้อกิจการของ allnex DE จะอยู่ที่ 0.6-0.7 เท่า ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและยังมีโอกาสในการกู้เงินได้อีกพอสมควร จึงทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องการเพิ่มทุน หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ในอนาคต รวมทั้งจะไม่กระทบกับการจ่ายเงินปันผล
สำหรับแผนในอนาคต ดร.คงกระพัน ทิ้งท้ายว่า GC ยังมองหาและศึกษาดีลการเข้าซื้อกิจการ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง หรือ High Value Business (HVB) โดย GC ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจ HVB เป็น 25% ในปี 2573
TAGGED ON