เชฟรอนเดินหน้าสู่ทศวรรษที่ 7 มุ่งสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางพลังงาน - Forbes Thailand

เชฟรอนเดินหน้าสู่ทศวรรษที่ 7 มุ่งสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางพลังงาน

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Dec 2022 | 10:50 AM
READ 6904

ตลอดระยะเวลา 60 ปี เชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ในประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้ภารกิจสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และยังคงเดินหน้าสานต่อความสำเร็จสู่ทศวรรษถัดไปท่ามกลางความท้าทายมากมาย ทั้งด้านความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเชฟรอนยังได้วางกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่เป็นเมกะเทรนด์ในโลกยุคปัจจุบัน

ย้อนเส้นทางความสำเร็จตลอด 60 ปี

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยถึงเส้นทางความสำเร็จตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมาของบริษัทว่า เชฟรอนซึ่งในขณะนั้นคือ บริษัท ยูเนียนออยล์ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นบริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด และบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในปัจจุบัน เป็นบริษัทพลังงานแห่งแรกที่ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยเมื่อปี 2505 และเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ในห้วงเวลาถัดมา

“ในปี 2524 การผลิตที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเริ่มเป็นครั้งแรกภายหลังการค้นพบ ในปี 2516 หลังจากนั้นก็มีแหล่งอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ แหล่งสตูล แหล่งฟูนาน แหล่งปลาทอง และแหล่งไพลิน ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นยุคโชติช่วงชัชวาลเนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เอง เป็นการช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งการผลิตก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันในประเทศไทยยังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ปิโตรเคมี เนื่องจากคอนเดนเสท หรือก๊าซธรรมชาติเหลวที่เป็นผลผลิตจากก๊าซธรรมชาติสามารถ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก ช่วยสร้างงานและทำให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

​“การที่บริษัทเชฟรอนเป็นผู้บุกเบิกทางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศไทย สิ่งสำคัญคือการพัฒนาคน เชฟรอนจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่เข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับปิโตรเลียม โดยบริษัทได้ก่อตั้งศูนย์เศรษฐพัฒน์ในปี 2523 เพื่อพัฒนาช่างเทคนิคปิโตรเลียมชาวไทยให้มีทักษะ และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานบนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงช่างในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งช่วยวางรากฐานให้กับอุตสาหกรรมนี้”

​โดยตลอดระยะเวลา 60 ปี ของการดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงให้กับประเทศไทย บริษัทมียอดการผลิตก๊าซธรรมชาติสะสมกว่า 17 ล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว 520 ล้านบาร์เรล และน้ำมันดิบ 545 ล้านบาร์เรล ในระหว่างปี 2524 ถึงเดือนกันยายนปี 2565

​เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางพลังงานสู่ทศวรรษที่ 7

แม้ปัจจุบันบริษัทเชฟรอนได้ส่งมอบแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานลงคืนให้แก่รัฐ เชฟรอนยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทพลังงานที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันเรามีแหล่งผลิตปิโตรเลียมอยู่ 2 แหล่งใหญ่คือ แปลง B8/32 หรือแหล่งเบญจมาศ ซึ่งอยู่ตอนเหนือสุดของอ่าวไทย และเป็นแหล่งผลิตน้ำมันเป็นหลัก และแปลง B12/27 ซึ่งอยู่เกือบใต้สุดและผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งยังคงความสำคัญที่จะต้องเดินหน้าจัดหาพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยต้องการพลังงานที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีความสะอาดยิ่งขึ้น เชฟรอนสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้”

สำหรับภารกิจสำคัญที่เชฟรอนเดินหน้าสานต่อเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมที่มีอยู่ให้สามารถสร้างผลลัพธ์ให้ได้มากที่สุด และมองหาโอกาสในการลงทุนในแหล่งใหม่ๆ โดยล่าสุดทางเชฟรอนได้ยื่นข้อเสนอขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 รวมทั้งการยื่นขอต่อระยะเวลาการผลิตของแปลง B12/27 หรือแหล่งไพลิน ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในปี 2571 โดยบริษัทจะขอต่อระยะเวลาไปอีก 10 ปี ถึงปี 2581 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิต

​เชฟรอนยังมีอีกหลายโครงการที่จะสร้างความต่อเนื่องในการส่งพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว หนึ่งในนั้นซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทคือ โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจร่วม ซึ่งเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชาหรือ TCOCA (Thailand-Cambodia Overlapping Claims Area) โดยภาครัฐระหว่างประเทศไทย และกัมพูชาเริ่มมีการพูดคุยและมีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ Joint Technical Committee

​ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่า TCOCA เป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียม และช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาว เพราะจะเป็นแหล่งพลังงานที่มาทดแทนแหล่งผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยที่มีกำลังการผลิตลดลงเรื่อยๆ ซึ่งหากไม่มีแหล่งพลังงานใหม่ๆ เข้ามาทดแทนประเทศไทยจะต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะลดลง

​“สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม และปริมาณความต้องการพลังงานที่สูงจากเขตเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลก ในขณะที่ปริมาณพลังงานในตลาดโลกลดน้อยลงทำให้เกิดวิกฤตทางพลังงาน ทั้งราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน การสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ในประเทศโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดมากกว่าพลังงานฟอสซิลอื่นๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง” ชาทิตย์กล่าว

คุณชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง

ชูเทคโนโลยีพลังงานพร้อมมุ่งสู่ Net Zero

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายธุรกิจพลังงาน เชฟรอนจึงมีการพัฒนาในเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่จะลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินการของบริษัทในประเทศไทยให้ได้ 20% ภายในปี 2571 และมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2593 ซึ่งเป็นเป้าหมายองค์กรจากบริษัทแม่

“ในปีที่ผ่านมาเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเชฟรอนประเทศไทย ได้ตั้งหน่วยงานใหม่คือ Chevron New Energies โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งเดินหน้าหาทางออกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และสร้างศักยภาพในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาด หรือ Renewable Energy ไม่ว่าจะเป็นพลังงานโซลาร์ พลังงานลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฮโดรเจนซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการเติบโตของบริษัทต่อไปควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในอนาคต”

​สำหรับแนวทางการลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอน 20% ตามเป้าหมายในปี 2571 ของเชฟรอน ได้แก่

1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ในแหล่งผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อใช้พลังงานลดลง แต่ยังสามารถให้ผลผลิตได้เท่าเดิม

2. การลดการเผาก๊าซส่วนเหลือ หรือ Flare and Vent ในแหล่งผลิตเพื่อลดความดันจากอุปกรณ์ซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัย โดยสามารถทำได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น นำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจจับก๊าซส่วนเกินจากระบบเพื่อลดความดันภายในท่อก๊าซ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเผาไหม้ก๊าซส่วนเกินได้ หรือการใช้เทคโนโลยีตรวจเช็กประสิทธิภาพของอุปกรณ์ เป็นต้น

​3. การศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยี Renewable Energy เข้ามาใช้ในการดำเนินการที่แหล่งผลิต เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนแท่นผลิต หรือการนำพลังงานลม (Wind Turbine) เข้ามาใช้เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน และทำให้การดำเนินงานที่แหล่งผลิตมีความสะอาดมากขึ้น โดยบริษัทจะเริ่มโครงการนำร่องสำหรับการใช้ Renewable Energy ที่แท่นผลิตในปีหน้า

​นอกจากนี้ เชฟรอนยังอยู่ในระหว่างศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี Carbon Cap­ture, Utilization and Storage หรือ CCUS ที่จะทำให้การดำเนินงานที่แหล่งผลิตมีความสะอาดมากขึ้นจากการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งผลิตและอัดกลับเข้าไปในชั้นหิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593

​ปัจจุบันบริษัทแม่ของเชฟรอนเริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ที่ออสเตรเลียและกำลังศึกษาศักยภาพในการนำมาใช้ที่แคนาดา โดยที่ประเทศไทยเชฟรอนร่วมกับบริษัทผู้ร่วมทุนอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage หรือ CCS มาใช้ที่แหล่งอาทิตย์ และวางแผนขยายไปยังแหล่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น แหล่งไพลิน เป็นต้น

​นอกจากนี้ ด้วยความรู้ความเข้าใจในสภาพทางธรณีวิทยาของอ่าวไทยและประสบการณ์ที่สั่งสมจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 6 ทศวรรษ ตลอดจนความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและการปฏิบัติงานทั่วโลก ทำให้เชฟรอนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้

​ทั้งนี้ เชฟรอนเป็นบริษัทพลังงานระดับโลกที่บริหารโดยผู้บริหารคนไทยเป็นหลัก และมีพนักงานเป็นคนไทยถึง 99% ประกอบกับการมีวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างให้บุคลากรสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง โดยเน้นการพัฒนา “พลังคน” การทำงานร่วมกันเป็นทีม มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้าง และเคารพความหลากหลาย ตลอดจนส่งเสริมให้พนักงานทดลองคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ จึงทำให้แตกต่างจากบริษัทอื่น

พันธมิตรที่ดีคู่สังคมไทย

“นอกจากความมุ่งมั่นในภารกิจจัดหาพลังงานให้กับประเทศ สิ่งหนึ่งที่เชฟรอนดำเนินควบคู่กันไปอยู่เสมอคือ การสร้างประโยชน์ให้กับสังคมผ่านกิจกรรม CSR ต่างๆ โดยเน้นเรื่องการพัฒนาการศึกษาและการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม”

​หนึ่งในโครงการ CSR ที่เชฟรอนมีความภาคภูมิใจและได้รับเสียงชื่นชมคือ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่เริ่มขึ้นในปี 2558 มีระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี โดยเน้นเรื่องการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM: Science, Technology, Engineering and Mathematics ทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างรากฐานสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยให้ไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันโครงการสร้างประโยชน์ให้กับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมแล้วกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ

​อีกโครงการที่เป็นความภาคภูมิใจของเชฟรอนคือ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคนมาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ผ่านกิจกรรมลงพื้นที่และการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 20,000 คน ซึ่งต่างได้รับความรู้และแรงบันดาลใจในการนำศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติจนเห็นผลสำเร็จ

​“เชฟรอนยังคงมุ่งมั่นกับภารกิจสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว เราพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และเดินหน้าสู่ทศวรรษที่ 7 เพื่อสานต่อความสำเร็จสู่อนาคตแห่งพลังงานที่ยั่งยืน” ชาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย