SAM รับลูกหลัง ธปท. ผุด “หน่วยงานกลางแก้ปัญหาหนี้” รวมศูนย์ติดตามหนี้บัตรเครดิต - Forbes Thailand

SAM รับลูกหลัง ธปท. ผุด “หน่วยงานกลางแก้ปัญหาหนี้” รวมศูนย์ติดตามหนี้บัตรเครดิต

SAM ปรับโครงสร้างองค์กรพร้อมรับบริหารติดตามแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลตามนโยบายแบงก์ชาติ รวมศูนย์จัดการแก้หนี้สินลดภาระธนาคาร-ลดความซับซ้อน ด้านธุรกิจบริหารหนี้เสีย เตรียมงบลุยซื้อ NPL 5,000 ล้านบาท เป้าหมายรายได้ปี’60 1 หมื่นล้านบาท เผยธนาคารเทขายหนี้สินเชื่อบ้านเพียบ

นิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเตรียมจัดแผนกใหม่ ตอบรับการจัดตั้งศูนย์กลางบริหารหนี้สินที่ไม่มีหลักประกันตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยหนี้สินดังกล่าวจะเป็นหนี้สินรายย่อย เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ SAM จะรับจ้างเข้าไปบริหารจัดการ จากธุรกิจปกติที่จะรับซื้อหนี้สินที่มีหลักประกันมาบริหาร ศูนย์กลางบริหารหนี้สินดังกล่าว จะเป็นการรวมข้อมูลหนี้สินไม่มีหลักประกันของบุคคลหนึ่งซึ่งอาจจะมีหนี้อยู่กับหลายธนาคาร มารวมศูนย์แห่งเดียวและให้ SAM เป็นผู้บริหารแก้ปัญหาหนี้แทนธนาคารแต่ละแห่ง โดย SAM ได้รับค่าธรรมเนียมการจัดการ โมเดลนี้จะทำให้สะดวกทั้งฝ่ายธนาคารและฝ่ายลูกหนี้ คาดว่า ธปท.จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจและไทยรัฐเมื่อปลายปีก่อนว่า ศูนย์กลางบริหารหนี้สินจะทำให้ธนาคารประหยัดต้นทุนค่าทนายติดตามหนี้สินได้ 20-30% เป็นโมเดลเหมือนกับในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ด้าน ปรีดี ดาวฉาย ประธาน สมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีสมาชิกสมาคมธนาคารไทย 15 รายเข้าร่วมก่อนจะขยายไปยังผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) หากโมเดลประสบความสำเร็จ มีประโยชน์ที่จะมีคนกลางจัดระเบียบธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้หลัก-เจ้าหนี้รอง และลูกหนี้จะลดความวุ่นวายซับซ้อนที่ต้องติดต่อชำระหนี้ทีละธนาคารลงได้   ลุยซื้อ NPL เข้าพอร์ต 5,000 ล้าน นิยต กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานธุรกิจบริหารหนี้เสียของบริษัทเมื่อปี 2559 ประสบความสำเร็จในแง่การทำรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้และขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) สามารถนำเงินส่งคืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ 7,500 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12% อย่างไรก็ตาม การลงทุนประมูลซื้อหนี้เสีย (NPL) เข้าพอร์ตเพิ่มลงทุนไปเพียง 1,000 กว่าล้านบาท เนื่องจากปีก่อนพบว่าธุรกิจบริหารหนี้เสียมีการแข่งขันมากขึ้น โดยมีหนี้เสียเปิดขายกว่า 6 หมื่นล้านบาท และมีบริษัทบริหารหนี้เสียเข้าประมูลกว่า 40 ราย รวมถึงธนาคารปรับการเปิดขายพอร์ตมูลค่าต่อครั้งเล็กลง จากเดิม 800-1,000 ล้านบาทต่อพอร์ต เป็น 300-400 ล้านบาท ทำให้บริษัทขนาดเล็กมีโอกาสเข้ามาประมูลแข่งขันสูงขึ้น และราคาการประมูลเพิ่มขึ้นจาก 3-4 ปีก่อนมาก ส่วน เป้าหมายการดำเนินงานปี 2560 และพอร์ต NPL มูลค่าสะสมของ SAM ได้แก่ - ลงทุนซื้อ NPL ใช้งบลงทุน 5,000 ล้านบาท สิ้นไตรมาส 1/60 ซื้อ NPL แล้ว 1,000 ล้านบาท - เรียกเก็บเงินสด 1.02 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินสดจากการปรับโครงสร้างหนี้ 6,300 ล้านบาท และจากการขายทรัพย์ NPA 3,900 ล้านบาท โดยสิ้นไตรมาส 1/60 เรียกเก็บเงินสดได้แล้ว 1,446 ล้านบาท - พอร์ต NPL มูลค่าภาระหนี้สะสมปัจจุบัน 3.6 แสนล้านบาท - รายการทรัพย์สิน NPA สะสม 3,800 รายการ มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้มีทรัพย์เด่นที่เปิดประมูลขาย อาทิ ที่ดินเปล่า 238 ไร่บนเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา หน้าหาดยาว 1.2 กม. ราคา 358 ล้านบาท, ที่ดิน 109 ไร่เหมาะสำหรับสร้างโรงงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ราคา 553 ล้านบาท ฯลฯ   แบงก์เทขายหนี้สินเชื่อบ้านต่อเนื่อง นิยตยังกล่าวอีกว่า เชื่อว่าปี 2560 ธนาคารจะยังคงขายหนี้ NPL เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินเชื่อบ้าน, หนี้ไม่มีหลักประกัน และหนี้เอสเอ็มอี ซึ่ง SAM จะร่วมประมูลซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเท่านั้น โดยในพอร์ตภาระหนี้ปัจจุบันยังเป็นหนี้สินเชื่อธุรกิจและหนี้เอสเอ็มอีเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่าหนี้สินเชื่อบ้านที่แบงก์เทขายมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี’58 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สถาบันการเงินยังตัดสินใจขายหนี้เสียเร็วขึ้น จากเดิมจะบริหารเอง 6 เดือน-1 ปีก่อนตัดขายหนี้เสีย ปัจจุบันหากครบ 90 วันมักจะพิจารณาขายทันที นิยตกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาในการจัดซื้อทรัพย์สิน NPA ของ SAM เพื่อพัฒนาเป็นปั๊มน้ำมันชุมชนขนาด 1-2 ไร่ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาที่ดิน 4-5 แปลง คาดว่าจะมีการซื้อขายกันเร็วๆ นี้