พฤกษากางแผนปี 67 ตั้งเป้ารายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท เล็งเปิด 30 โครงการ มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท - Forbes Thailand

พฤกษากางแผนปี 67 ตั้งเป้ารายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท เล็งเปิด 30 โครงการ มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท

พฤกษาโฮลดิ้ง เผย ปี 2567 เล็งต่อยอดธุรกิจ เพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ ตั้งเป้ารายได้รวม 28,000 ล้านบาท วางแผนเปิด 30 โครงการ มูลค่า 29,000 ล้านบาท คาดเพิ่มรายได้ธุรกิจพรีคาสท์เติบโต 50% ชูกลยุทธ์ Ready To Thrive สร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน


    อุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เผย ผลการดำเนินงานปี 2566 ว่า พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้ 26,132 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีการพัฒนาแบรนด์สินค้าใหม่ “บ้านกรีนเฮ้าส์” ในการนำเทคโนโลยีและออกแบบการก่อสร้างแบบใหม่มาใช้ ให้ลูกค้าสามารถผ่อนกับธนาคารได้ เพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

    สำหรับทิศทางในปีนี้ มุ่งเพิ่มสัดส่วนในสินค้าในกลุ่มเซกเมนต์กลาง-บน ให้สูงขึ้นมากกว่า 50% จากเดิมในปี 2562 ที่มีสัดส่วนสินค้ากลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ราว 70% ก็จะปรับลดให้เหลือราว 40% ในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากขึ้น


    ทั้งนี้ ช่วงปีที่ผ่านมาทางกลุ่มก็ได้มีการปรับโครงสร้าง และโมเดลธุรกิจหลายอย่าง ได้นำบริการด้านสุขภาพจากเครือวิมุต ผนวกกับเทคโนโลยีระบบ Smart Home จากแอปพลิเคชัน MyHuas นำเข้ามาปรับใช้ในการออกแบบโครงการ เพื่อเสริมความแข่งแกร่งของธุรกิจหลัก  ด้วยการแยกกลุ่มธุรกิจ ออกมาอีก  4 แกน ได้แก่  

    1. ธุรกิจเฮลท์แคร์ ครอบคลุมบริการทางสุขภาพตั้งแต่โรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลเทพธารินทร์ มีการสร้างความร่วมมือ และการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การลงทุน เข้าถือหุ้น 25% ในบริษัท เค.พี.เอ็น ซีเนียร์ ฮอสปิตัล กรุ๊ป เตรียมขยายการบริการเนอร์สซิ่งโฮม ตั้งเป้าขยาย 600 เตียงภายใน 3 ปี 

ซึ่งทางกลุ่มยังมีแผนลงทุน 3,500 ล้านบาท ขยายโรงพยาบาลเฉพาะทางที่สุขุมวิท ขยายเตียงที่โรงพยาบาลวิมุตเป็น 150 เตียง พร้อมเติบโตสู่เป้า 2,300 ล้านบาทในปี 2567

    2. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้การดำเนินงานของ  บริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด ในเครือพฤกษา ตั้งเป้าโต 5x ในปี 2567 และหวังสร้างรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี จะนำเสนอสินค้าและบริการเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแอปพลิเคชัน MyHaus เพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะดูแลทั้งเรื่องความปลอดภัยภายในบ้าน เป็นต้น


    3. กลุ่มหน่วยธุรกิจใหม่ ที่แยกออกมาเพื่อรองรับการเติบโต เช่น ธุรกิจพรีคาสท์ จากความประสบความสำเร็จจากการแลกหุ้น ร่วมกับ บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL เพื่อเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ “อินโน พรีคาสท์” เพิ่มโอกาสในการจำหน่ายแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ ทำยอดคำสั่งซื้อและติดตั้ง (Backlog) ทั้งจากพฤกษาและลูกค้ารายอื่น ๆ สูงขึ้นทะลุเป้าหมายอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท สู่ผู้นำที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งเป้ารายได้โต 50% สู่ 3,500 ล้านบาท ในปี 2567 

    และกลุ่มยังมีการแยกหน่วยงาน ธุรกิจรับก่อสร้าง สำหรับอาคารที่พักอาศัย ออกมาเป็นบริษัทใหม่ “อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น” ซึ่งเป็นการปรับองค์กรครั้งใหญ่เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ตั้งเป้าปี 2567 จะสร้างรายได้ 5,600 ล้านบาท จากพฤกษาและลูกค้ารายอื่นนอกจากกลุ่ม มุ่งสู่ความเป็นบริษัทรับก่อสร้างบ้านแนวราบที่ใหญ่ที่สุดในไทย  

    4. การลงทุนเพื่อรองรับการขยายห่วงโซ่ธุรกิจ ขยายการลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์และอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพจากประกาศความร่วมมือกับ 2 องค์กรชั้นนำจากสิงคโปร์และไต้หวัน 

    จัดตั้งกองทุน “CapitaLand SEA Logistics Fund” มูลค่าทรัพย์สินเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท และการลงทุนในกองทุน CapitalLand Wellness Fund ( C-Well) มูลค่าทรัพย์สินเป้าหมาย 72,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ

    ด้วยการรีโมเดลธุรกิจ และโครงสร้างองค์กรในปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2567 นี้ พฤกษา โฮลดิ้งพร้อมด้วยกลุ่มบริษัทในเครือทั้งหมด มีความพร้อมทั้งด้านการปฏิบัติการและความพร้อมทางการเงิน ที่จะเดินหน้าสู่ทิศทางแห่งการเติบโตอย่างก้าวไกลไปอีกขั้น ตามกลยุทธ์ Ready To Thrive จึงตั้งเป้ารายได้ปี 2567 ทั้งกลุ่มรวม 28,000 ล้านบาท พร้อมเปิดโครงการใหม่มูลค่าราว 29,000 ล้านบาท

    ขณะที่สถานะทางการเงินของพฤกษายังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อหุ้นทุนสุทธิ (Net Gearing Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.27 เท่า และจากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการบริษัทฯ ก็ได้อนุมัติจะนำเสนอผู้ถือหุ้นที่จะจ่ายเงินปันผลเท่ากับ 65 สตางค์ รวมเงินปันระหว่างกาลแล้วจ่ายทั้งสิ้นเท่ากับ 96 สตางค์ 

    กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) ที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 1 มี.ค. โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เมษายน 2567 มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ากับ 7.5% และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พ.ค.นี้  

    ด้าน ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2566 พฤกษาทำรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ราว 22,357 ล้านบาท มียอดขาย 18,540 ล้านบาท เปิดโครงการใหม่รวม 13 โครงการ มูลค่า 14,200 ล้านบาท 

    ส่วนในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายที่ 27,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดโอนที่  25,500 ล้านบาท วางแผนเปิดโครงการใหม่ 30 โครงการ แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 10 โครงการ ทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 3 โครงการ  รวมมูลค่าทั้งหมดราว 29,000 ล้านบาท


    ขณะที่ นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด   เผยผลการดำเนินงานปี 2566 ว่า กลุ่มวิมุตมีการเติบโตขึ้นในทุกมิติ มีรายได้รวม 1,820 ล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน มีจำนวนผู้ป่วย Non-COVID ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลวิมุตเพิ่มขึ้น 49%  ในปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลวิมุตประสบความสำเร็จในการเปิดศูนย์ส่องกล้องและหน่วยเฉพาะทางการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร (ENDOSCOPY & GI MOTILITY UNIT)  ผลักดันการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ 

    เราได้เปิดตัวโปรแกรมการทำเลสิก (LASIK) และ โปรแกรมตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้เฉพาะบุคคล (Gut Microbiome Test) ร่วมกับแอมิลิ (AMILI) บริษัทเฮลท์เทคชั้นนำจากสิงคโปร์   เป็นต้น สำหรับปี 2567 กลุ่มวิมุตตั้งเป้ารายได้ที่ 2,300 ล้านบาท มีแผนการรีแบรนด์โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ให้เป็น “โรงพยาบาลวิมุต เทพธารินทร์” พร้อมเปิดตัวในช่วงเดือนเมษายนนี้


    อย่างไรก็ตาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมทิ้งท้ายด้วยว่า "พฤกษายังคงมุ่งมั่นสู่การสร้างความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2566 กลุ่มได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ลงได้ 10,000 ตัน และยังคงเดินตามแผนที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573 และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593"


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ณุศาศิริ จับมือ BHS พลิกโฉม PARC EXO เป็นคอนโดเพื่อ ‘สูงวัย’