จำนวนบ้านร้างในญี่ปุ่นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ทะลุ 9 ล้านหลัง มากพอให้ประชากรในนิวยอร์กซิตี้เข้าไปอยู่หลังละคน เนื่องด้วยแดนอาทิตย์อุทัยกำลังเผชิญกับจำนวนประชากรที่ลดลงมหาศาล ผลพวงจากสังคมผู้สูงอายุ และเด็กเกิดใหม่น้อย
บ้านร้างหรือที่เรียกว่า อากิยะ หมายถึง บ้านที่ถูกทิ้งร้างตามชนบทของญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันมีจำนวนบ้านร้างในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น ทั้งโตเกียวและเกียวโต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทางรัฐบาลต้องรีบแก้ไขพร้อมๆ กับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงในแต่ละปี
“บ้านร้างคือปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนการลดลงของจำนวนประชากรญี่ปุ่น” Jeffrey Hall อาจารย์จาก Kanda University of International Studies ในจังหวัดชิบะกล่าว “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การสร้างบ้านมากเกินไป แต่ปัญหาคือการมีคนไม่พอ”
อ้างอิงตัวเลขที่กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารรวบรวมมา อสังหาริมทรัพย์สำหรับอยู่อาศัย 14% จากทั้งหมดในญี่ปุ่นนั้นว่างเปล่า ซึ่งรวมถึงบ้านหลังที่สองและบ้านที่ถูกทิ้งร้างด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น เจ้าของบ้านไม่อยู่เพราะต้องไปทำงานต่างประเทศ
บ้านเหล่านี้ไม่ได้ถูกทิ้งให้ทรุดโทรมเหมือนบ้านร้างเก่าๆ ไปเสียทั้งหมด โดยผู้เชี่ยวชาญเผยกับ CNN ว่าในชุมชนที่มีบ้านร้างและบ้านที่ไม่ได้อยู่ในสภาพดีเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ แก่รัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่น เช่น บ้านเหล่านี้อาจพังลงมา หรือไม่ก็เพิ่มความเสี่ยงในการกู้ภัยเมื่อต้องเผชิญภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวหรือสึนามิ
บ้านเยอะเกินไป
อากิยะมักเป็นบ้านที่ถูกส่งต่อมาหลายรุ่น แต่ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำลง บ้านหลายหลังจึงถูกทิ้งร้างโดยปราศจากทายาทมาอยู่อาศัยต่อ หรือไม่ก็มีทายาทมารับ แต่ไม่ได้อยู่อาศัยเพราะย้ายไปอยู่ในเมือง และไม่ได้คิดย้ายกลับมายังชนบท
อากิยะหลายหลังก็ไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานท้องถิ่น เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เนื่องด้วยขาดการบันทึกในระบบ ส่งผลต่อการฟื้นฟูชุมชนชนบทที่ทั้งคนและบ้านมีอายุมากให้ยากขึ้นไปอีก ฝั่งคนหนุ่มสาวเมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งขาดความสนใจ ไม่คิดจะมาอยู่ อีกทั้งด้วยกฎหมายด้านภาษีของญี่ปุ่น ทำให้เจ้าของบ้านหลายคนมองว่าปล่อยไว้แบบนี้จะประหยัดกว่าการรื้อถอนเพื่อสร้างขึ้นใหม่ และแม้พวกเขาจะอยากขาย ก็อาจหาผู้ซื้อได้ยาก
Hall ให้เหตุผลว่า “บ้านเหล่านี้หลายหลังไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ สาธารณสุข หรือกระทั่งร้านสะดวกซื้อ”
ไม่กี่ปีมานี้บนโลกโซเชียล มีหลายๆ คน (ส่วนใหญ่แล้วเป็นต่างชาติ) กว้านซื้อบ้านในญี่ปุ่นราคาถูกแล้วปรับปรุงให้เป็นเกสต์เฮาส์และคาเฟ่ ดึงดูดผู้ติดตามจำนวนมาก แต่ Hall เตือนว่าทุกอย่างไม่ได้ง่ายดังที่เห็น
“ความจริงคือบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีไว้ขายต่างชาติ หรือไม่ก็ด้วยกระบวนการและกฎหมายต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่คนที่พูดหรืออ่านญี่ปุ่นไม่แตกฉานจะทำได้โดยง่าย” Hall อธิบาย “พวกเขาไม่อาจซื้อบ้านพวกนี้ในราคาถูกได้หรอกครับ”
คนน้อยเกินไป
ประชากรญี่ปุ่นมีจำนวนลดน้อยลงมาหลายปีแล้ว จากการเก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2022 จำนวนประชากรในปีนั้นหดตัวลงกว่า 800,000 คน จากปีก่อนหน้าที่มีจำนวนราว 125.4 ล้านคน ในปี 2023 นอกจากนี้ จำนวนเด็กเกิดใหม่ยังตกลงเป็นปีที่แปดติดต่อกัน ต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา
อัตราการเกิดของชาวญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.3 ต่อปี ต่ำกว่า 2.1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหมาะสมในการคงไว้ซึ่งจำนวนประชากร และเมื่อไม่นานมานี้กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารก็เพิ่งเผยว่าจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีในญี่ปุ่นลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 43 แล้ว โดย ณ วันที่ 1 เมษายน 2024 เหลือเพียงราว 14 ล้านคนเท่านั้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถตีความได้ว่าปัญหาบ้านเยอะ-คนน้อยจะยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะใหญ่
Yuki Akiyama ศาสตราจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมืองแห่ง Tokyo City University กล่าวว่า บ้านที่ไม่มีคนอยู่ก่อให้เกิดปัญหามากมายในอดีต ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้คือ หลังแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดสร้างความเสียหายแก่คาบสมุทรโนโตะในจังหวัดอิชิกาวะ บริเวณดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยอากิยะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวระหว่างแผ่นดินไหว และยังทำให้การซ่อมแซมต่างๆ หลังแผ่นดินไหวผ่านพ้นเป็นไปอย่างยากลำบาก
“เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิ มีความเป็นไปได้ที่บ้านร้างจะถล่มและพังลงมากีดขวางเส้นทางอพยพ” Akiyama กล่าว
หลังเกิดแผ่นดินไหว หน่วยงานต่างๆ ต้องคิดหนักว่าสามารถจัดการกับอสังหาฯ ที่ได้รับความเสียหายหลังใดได้บ้าง เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็น “อุปสรรคสำคัญในการซ่อมแซม”
Akiyama บอกด้วยในชนบทบริเวณอื่นซึ่งมีจำนวนบ้านร้างสูง อากิยะก็มีสภาพไม่สู้ดีนัก เมื่ออสังหาฯ เหล่านี้ไม่มีใครมาคอยดูแลรักษา “มูลค่าของพื้นที่เหล่านั้นก็จะลดลง เพราะเป็นพื้นที่ที่คุณไม่สามารถซื้อหรือขายอย่างถูกต้องได้ อีกทั้งยังไม่สามารถดำเนินการพัฒนาโครงการใหญ่ได้ด้วย”
“ผู้คนจะคิดว่าสถานที่แห่งนี้ไร้ราคา และราคาอสังหาฯ โดยรวมของบริเวณนั้นก็จะค่อยๆ ตกลงอย่างต่อเนื่อง”
Akiyama ยังมีการประดิษฐ์โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อนำมาคาดคะเนว่าบริเวณไหนที่เสี่ยงกลายเป็นศูนย์รวมอากิยะบ้าง แต่เขาชี้ว่าปัญหานี้ยังคงใหม่สำหรับญี่ปุ่น ไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาหรือหลายประเทศในยุโรปที่เคยเผชิญปัญหานี้มาก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมในญี่ปุ่นทำให้สถานการณ์ของแดนอาทิตย์อุทัยดูจะเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะมูลค่าบ้านในญี่ปุ่นไม่ได้วัดจากความโบราณ ต่างจากฝั่งตะวันตก อันจะเห็นได้จากการที่คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยให้คุณค่าการอาศัยอยู่ในบ้านเก่าแก่มากนัก
“ที่ญี่ปุ่น ยิ่งบ้านใหม่เท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งสูงครับ” Akiyama กล่าว
แปลและเรียบเรียงจาก Super-aged Japan now has 9 million vacant homes. And that’s a problem
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Apple, McDonald’s และ Tesla เจ็บหนัก ในวันที่ตลาดจีนไม่ง่ายอีกต่อไป
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine