ประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านการขาย การตลาด การก่อสร้าง การเงินและการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ ทำให้ “กีรติ ศตะสุข” ผู้นิยามตนเองว่าเป็น “นักอสังหาริมทรัพย์ทฤษฎี” ปรับบทบาทจากนักธุรกิจบริษัทตัวเองและอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทอสังหาฯ หลายแห่งรวมทั้ง MQDC และผลงานปัจจุบันกับการลบภาพจำเดิมของ “ซี.พี. แลนด์” ให้กลายเป็นคนรุ่นใหม่และมีรสนิยม พร้อมวางเป้าหมายสุดท้าทาย รายได้ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2025
หนึ่งในธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี คือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง “บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน)” ที่ดำเนินธุรกิจทั้งที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม นิคมอุตสาหกรรม บริหารอาคาร พลังงาน และศูนย์ประชุม โดยมีโปรดักต์เด่นที่หลายคนคุ้นชื่ออย่างโรงแรมในเครือฟอร์จูน กรุ๊ป อาคาร CP Tower และศูนย์การค้า Fortune Town เป็นต้น
ซี.พี. แลนด์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 แต่ถึงอย่างนั้น ภาพจำของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอาณาจักรธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่คนภายนอกมองนั้น อาจเป็นดีเวลลอปเปอร์ที่ไม่ได้ “วัยรุ่น” ทั้งในแง่ภาพลักษณ์ วิธีการทำธุรกิจ ไปจนถึงโครงสร้างการทำงาน
จนกระทั่งในปีที่แล้ว ที่ซี.พี. แลนด์เริ่มเขย่าองค์กรครั้งใหญ่ มีการปรับโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนการทำงาน โดยดึงตัว “กีรติ ศตะสุข” ที่นั่งเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC มาเป็นเวลา 10 ปี เข้ามานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์ให้กับ ซี.พี. แลนด์ กระทั่งได้รับโอกาสให้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของซี.พี. แลนด์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
“เราจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จริงอยู่ที่ความเป็นองค์กรต้องพัฒนาให้มีกำไร แต่เราก็อยากเข้าถึงคุณภาพชีวิตของทุกๆ คนและทุกๆ ที่ จึงมีธุรกิจหลากหลาย โดยพัฒนาไปพร้อมยึดกับความยั่งยืนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน คือ ลูกค้า คู่ค้า ผู้บริหาร ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม” กีรติ กล่าวถึงพันธกิจของซี.พี. แลนด์ ที่ยึดมั่นตามคำกล่าวของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือซีพี ที่กล่าวไว้ว่าการทำธุรกิจของเครือซีพีจะต้องยึดหลักคิด 3 ประโยชน์ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และองค์กร
ลุยการตลาดปรับภาพลักษณ์
สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่กีรติเข้ามาบริหาร ซี.พี. แลนด์ คือการโหมทำแคมเปญการตลาดอย่างหนัก ทั้งการจัดโปรโมชั่น การสื่อสารบนโซเชียล การดึงศิลปินนักร้องเข้ามาทำกิจกรรมส่งความสุขให้ลูกค้าและลูกบ้าน
“แต่ก่อนซี.พี. แลนด์ ดูอายุมาก ผมมีหน้าที่ที่จะลบภาพนั้นให้เร็วที่สุด เราจะไม่ยอมให้การเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปในโลกนี้มาทำให้เราทำอะไรได้หรือไม่ได้” กีรติเล่า เขายังบอกอีกว่าแม้ ซี.พี. แลนด์ จะอายุเกือบ 40 ปีแล้ว แต่ก็ยังมองตัวเองว่าเป็นวัยรุ่นที่จะต้องท้าทายตัวเองเพื่อทำสิ่งใหม่ๆ
“ตั้งแต่เข้ามา ผมพยายามจะสร้างระบบและมายด์เซ็ตใหม่ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง Growth Mindset คือไม่กลัวที่จะทำอะไร ท้าทายที่จะทำสิ่งใหม่ เพราะคนไม่ทำอะไรจะไม่เห็นปัญหา”
กีรติบอกอีกว่า การปรับตัวของซี.พี. แลนด์ที่เขาวางไว้นั้นยึดอยู่บนแก่น 3 ข้อ คือ 1.ทันสมัย เปิดรับทุกเทคโนโลยี 2.มีรสนิยม และ 3.มีประสิทธิภาพ
การมีแก่นที่ชัดเจนทั้ง 3 แก่น ทำให้การดำเนินงานของซี.พี. แลนด์ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น การเปิดโครงการใหม่, การรีโนเวตโครงการเดิม, การออกแคมเปญการตลาด ฯลฯ ล้วนยึดอยู่บนแก่นทั้ง 3 ข้อนี้ ซึ่งจะนำมาสู่ผลการดำเนินงานทั้งรายได้ กำไร ภาพลักษณ์ใหม่ และความสุขที่ส่งต่อไปถึงผู้บริโภค
ลุยโปรเจ็กต์ใหม่
โครงการอสังหาฯ โครงการแรก หรือเรียกได้ว่าเป็นลูกคนแรกของกีรติในซี.พี. แลนด์ คือการเปิดตัวบ้านเดี่ยวระดับลักชัวรีแบรนด์แรกของบริษัทอย่าง LUXRIVA RESIDENCES นำร่องใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช ปักธงว่าเป็นโครงการที่หรูที่สุดในจังหวัด
โดยมีดีไซน์ผสมผสานแต่ทันสมัย ตั้งเป้าเจาะตลาดกลุ่มนักธุรกิจ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ หรือ Local Achiever ราคาเริ่มต้นที่ 12-20 ล้านบาท พร้อมรับประกันโครงสร้าง 10 ปี โดยรับประกันคุณภาพผ่าน Welcome Home Club by CP LAND คาดว่าเฟส 1 จะแล้วเสร็จต้นปี 2567
LUXRIVA RESIDENCES จ.นครศรีธรรมราช ไม่ใช่โครงการเดียวที่จะเห็นจากซี.พี. แลนด์ แน่นอน กีรติบอกว่านี่เป็นแบรนด์ใหม่ที่อาจจะไปเปิดที่อื่นอีก แต่แน่นอนว่าบ้านเดี่ยวที่ซี.พี. แลนด์จะบุก เป็นบ้านราคา 10 ล้านบาทต้นไป เฉลี่ย 12.9 ล้านบาท
ปีหน้าลงทุน 30,000 ล้านบาท
กีรติ ยังกล่าวอีกว่าปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 1,800 ล้านบาท ขณะที่รายได้ปี 2566 ประมาณการอยู่ที่ 3,300 ล้านบาท ขยายตัว 66% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยปัจจัยหลักมาจากภาพรวมของทุกธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว หลังจากช่วงโควิด-19 ยอดเข้าพักโรงแรมในเครือฟอร์จูนกรุ๊ปจำนวน 13 แห่งทั่วประเทศกลับมาคึกคัก
นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า หรือ CP Tower อาคารสำนักงานคุณภาพสูงระดับ AAA มีทั้งหมด 11 แห่ง มีอัตราการปล่อยเช่า (Occ) ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้จากการปล่อยเช่าศูนย์การค้า Fortune Town ก็มี Occ ที่สูงและมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนรายได้จากธุรกิจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) ก็เริ่มได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนในปี 2567 บริษัทขยับเป้ารายได้สู่ 5,500 ล้านบาท และวางเป้าหมายสุดท้าทายในปี 2568 รายได้จะทะยานสู่ 10,000 ล้านบาท
เขาอธิบายว่าทรัพย์สินของซี.พี. แลนด์ ที่มีอยู่เดิมนั้นสร้างรายได้ประจำที่ราวปีละ 2,200 ล้านบาท ส่วนเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทในปี 2568 จะเกิดขึ้นจากการรับรู้รายได้จากการลงทุนที่จะเห็นมากขึ้นในปีหน้า โดยบริษัทตั้งงบสำหรับลงทุนไว้ราว 30,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนในโครงการต่างๆ ดังนี้
-บ้านเดี่ยวราว 5 โครงการ
-คอนโดมิเนียมไฮไรส์ 3 โครงการ ราคาต่อยูนิตมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป มูลค่าแต่ละโครงการไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
-โรงแรม ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาซื้อโรงแรมเพิ่ม ปีหน้าจะได้เห็นดีลใหญ่
“คอนโดฯ เหมาะกับชีวิต Urban ทำให้การพัฒนา เราไม่ได้จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ เพราะที่จริงแล้วคอนโดฯ ยังสำเร็จในหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นจังหวัดธุรกิจตามแผนการขยายเมืองเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โคราช ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ศรีราชา ชลบุรี ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจขยายก็จะเป็นแหล่งงาน ผมสนใจแหล่งงานเป็นหลัก ถ้าแหล่งงานที่ใดฟื้นตัว ขยายตัว ได้รับการสนับสนุนจาภาครัฐให้มีต่างชาติเข้ามาทำงานได้ จังหวัดนั้นจะเป็นจังหวัดที่ซี.พี. แลนด์จะเข้าไป”
“ปี 2568 เป็นปีที่เราประเมินแล้วว่าดีมานด์จะกลับมา คนสบายใจที่จะซื้อ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น เราเชื่อว่าถ้าเราไม่พัฒนาโครงการในปีหน้า แล้วดีมานด์จะกลับมาในปลายปี 2568 เราจะไม่มีของขาย” กีรติอธิบายถึงที่มาของการเร่งลงทุนในปีหน้า เพื่อที่จะมีซัพพลายไว้รองรับดีมานด์ของผู้บริโภคนั่นเอง
แต่ที่แน่ๆ คือทุกโครงการจะพัฒนาและดำเนินงานภายใต้แก่น 3 ข้อที่วางไว้ คือ ทันสมัย มีรสนิยม และมีประสิทธิภาพ
“คุณภาพสินค้า-บริการ ผลประกอบการ และชื่อเสียงเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโต โดยล่าสุดจากการศึกษาของ Terra BKK หรือ เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จํากัด พบว่า ซี.พี. แลนด์ มีภาพลักษณ์เทียบเท่ากับแบรนด์ วอลโว่ แบรนด์สัญชาติสวีเดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการยกระดับคุณภาพแบรนด์ไฮแอนด์ระดับโลก และยังมีกลิ่นอายเทียบเท่าแบรนด์เอ็มจี
“และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ ซี.พี. แลนด์ เชื่อว่าจะส่งผลให้ธุรกิจยั่งยืน คือ การสร้างความเจริญสู่สังคม ตามแนวคิด 3 ประโยชน์ คือ ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน และต่อบริษัทเป็นอันดับสุดท้าย ซี.พี. แลนด์ จึงมุ่งมั่นกระจายการเติบโตของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและลดการย้ายถิ่นฐาน ส่งเสริมให้คนยังคงอยู่ในพื้นที่
“รวมถึงดึงดูดคนจากนอกพื้นที่เข้ามาอยู่อาศัยและลงทุนเพิ่มขึ้น มุ่งหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเพื่อให้กระทบต่อระดับจุลภาค และอาจกระเพื่อมได้ถึงระดับมหภาค ด้วยเหตุผลนี้ ซี.พี. แลนด์ จึงวางแผนกลยุทธ์และเดินหน้าลุยพัฒนาโครงการใหม่ในตลาดภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง” กีรติ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : CP LAND บุกตลาดบ้านเดี่ยวลักชัวรี ส่งแบรนด์ใหม่ราคา 12-20 ล้าน ปักธงนครศรีธรรมราช
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine