‘แสนสิริ’ จัดทำคู่มือออกแบบอาคารสูงเผยแพร่สาธารณะ ตอบรับแนวโน้มกรุงเทพฯผุดตึกระฟ้า-ทรงแปลกอีกเพียบ - Forbes Thailand

‘แสนสิริ’ จัดทำคู่มือออกแบบอาคารสูงเผยแพร่สาธารณะ ตอบรับแนวโน้มกรุงเทพฯผุดตึกระฟ้า-ทรงแปลกอีกเพียบ

ไม่น่าเชื่อว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีตึกสูง (อาคารที่สูงมากกว่า 8 ชั้น) มากที่สุดในอาเซียน ติดอันดับ 4 ในเอเชีย และอันดับที่ 11 ของโลก โดยเมืองหลวงของเรามีอาคารสูงรวม 2,810 อาคารกระจุกตัวอยู่ในใจกลางกรุง และมีแนวโน้มที่จะขยายจำนวนมากขึ้นไปอีก ทั้งยังออกแบบให้สูงขึ้น และรูปทรงแปลกตายิ่งขึ้นกว่าในอดีต ท่ามกลางความหวั่นใจของประชาชนว่าอาคารสูงเหล่านั้นจะมีความแข็งแรงปลอดภัยหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ทำให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องการคุมเข้มด้านความปลอดภัยในการออกแบบอาคารสูงโดยจัดทำเป็นคู่มือ แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูง และเมื่อจัดทำสิ่งอันเป็นประโยชน์แล้วจึงเลือกเผยแพร่คู่มือแนวทางปฏิบัติฯ นี้ออกสู่สาธารณะด้วย โดย ปิติ จารุกำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารโครงการแนวสูง บมจ.แสนสิริ เปิดเผยว่า แสนสิริเริ่มต้นพัฒนาคู่มือดังกล่าวเมื่อ 1 ปีก่อน โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานเอกชนอีก 8 แห่ง ในการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติฯ
ปิติ จารุกำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารโครงการแนวสูง บมจ.แสนสิริ 
ปิติ กล่าวว่า ปัจจุบัน 55% ของจำนวนตึกสูงในกรุงเทพฯ ใช้ประโยชน์เป็นอาคารที่พักอาศัย และอีก 45% เป็นออฟฟิศบิลดิ้ง ซึ่งตึกสูงทั้งสองรูปแบบมีอัตราการขยายตัวรวดเร็ว ตามดีมานด์ของคนเมืองที่ต้องการอาศัยอยู่ใกล้รถไฟฟ้าเพื่อความสะดวก และกรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนและการเปิดสำนักงานของบริษัทข้ามชาติ ทำให้สำนักงานให้เช่าถูกพัฒนาขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้อาคารสมัยใหม่ยังมีความสูงเพิ่มขึ้นและได้รับการออกแบบให้แปลกตา ซึ่งจะทำให้การคำนวณตามหลักวิศวกรรมศาสตร์มีความยากลำบากสูงขึ้น ประกอบกับในฝั่งผู้ออกแบบโครงการคือวิศวกร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีวิศวกรรุ่นใหม่จำนวนมาก ด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้การตีความหลักการทางวิศวกรรมอาจแตกต่างกัน จึงต้องการจัดทำแนวทางปฏิบัติฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงาน ด้าน ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ฉายภาพถึงสถานการณ์โดยรวมของเหตุอาคารถล่มในไทยว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับตึกสูงไม่เกิน 8 ชั้น และมักเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างมากกว่าหลังสร้างเสร็จ ตัวอย่างเหตุการณ์หลายครั้งความผิดพลาดเกิดจากการเปลี่ยนแบบระหว่างก่อสร้าง การเร่งก่อสร้าง และลดวัสดุก่อสร้างน้อยกว่าที่มาตรฐานกำหนด อย่างไรก็ตาม โครงสร้างอาคารสูงมากกว่า 8 ชั้นที่ออกแบบก่อสร้างไม่ปลอดภัยก็เคยเกิดขึ้นเช่นกัน จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีถึงความร่วมมือในวงการวิศวกรครั้งนี้
ตัวอย่างข้อมูลภายในเล่ม แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างอาคารสูง
ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า รายละเอียดภายในคู่มือแนวทางปฏิบัติฯ จะมีทั้งหมด 10 บท อาทิ การสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ของโครงสร้าง การออกแบบโครงสร้างให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหว การคำนวณแรงลมและการตอบสนองของอาคาร ซึ่งปกติแล้วประเทศไทยมีกฎหมายควบคุม เพียงแต่ไม่มีรายละเอียดเชิงปฏิบัติในการคำนวณ การจัดทำคู่มือครั้งนี้จึงเป็นการหารือร่วมกันของทุกฝ่ายโดยอ้างอิงงานศึกษาวิจัยของต่างประเทศเพื่อสรุปเป็นหลักการปฏิบัติ “อาคารสูงโดยเฉพาะที่มีหน้าตาแปลกไป ตำราเก่าอาจจะใช้อ้างอิงไม่ได้แล้ว จึงต้องออกแบบให้รัดกุมมากขึ้น ยกตัวอย่างการเกิดแผ่นดินไหวซึ่งความรู้เดิมสรุปว่าไทยไม่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่จริงๆ แล้วแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น แผ่นดินไหวในเมียนมาร์ขนาด 7.5 แมกนิจูด สามารถส่งแรงมาถึงตึกสูงของกรุงเทพฯ จนรู้สึกได้ จึงไม่ควรประมาทและทำตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด” ฉัตรพันธ์กล่าว วิโรจน์ บุญญภิญโญ นักวิจัยด้านวิศวกรรมแรงลม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อในประเด็นการคำนวณทิศทางแรงลมในทำนองเดียวกันว่า ตึกรูปทรงแปลกตาทำให้การตรวจสอบทิศทางลมยากลำบากขึ้น ซึ่งการบีบช่องทางลมอาจมีผลต่ออาคารได้ เช่น กระจกหน้าต่างแตก อาคารไหวเอน แม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรฐานการคำนวณแรงลมฉบับใหม่ มีค่าการคำนวณที่กำหนดให้สำหรับสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน เช่น ที่โล่ง ชานเมือง ในเมือง ริมทะเล แต่อาจจะยังไม่แม่นยำพอ จึงแนะนำทางออกที่ดีที่สุดคือ การทดสอบในอุโมงค์ลม โดยเฉพาะตึกรูปทรงแปลกซึ่งไม่สามารถหาค่าคำนวณได้ ปิดท้ายที่ สุทธิพล วิวัฒนทีปะ ประธานกรรมการ บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด กล่าวในฐานะเอกชนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในการออกแบบโครงสร้างอาคารว่า ประเทศไทยมีหลักการปฏิบัติน้อยมาก วิศวกรส่วนใหญ่จะอ้างอิงจากต่างประเทศในการทำงาน ซึ่งทำให้การทำงานแต่ละแห่งต่างกันแล้วแต่ว่าอ้างอิงจากประเทศใด ซึ่งคู่มือแนวทางปฏิบัติฯ เล่มนี้จะช่วยเสริมการทำงานให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น ปัจจุบัน แสนสิริจัดพิมพ์ แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างอาคารสูง แล้วทั้งหมด 200 เล่ม แจกจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชนที่สนใจ โดยมีโครงการที่จะแจกเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ในอนาคต ระหว่างนี้หากมีผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับฉบับพิมพ์ได้ที่แสนสิริ www.sansiri.com