เอฟเอฉบับ “บู๊” และ “บุ๋น” ของสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม นำทัพล่าตลาดเพื่อนบ้าน - Forbes Thailand

เอฟเอฉบับ “บู๊” และ “บุ๋น” ของสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม นำทัพล่าตลาดเพื่อนบ้าน

เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: สุภชัย รอดประจง พลังที่ไร้วันหมดของ สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม แม่ทัพใหญ่แห่งกลุ่มเอพีเอ็ม บวกกับ “ความบู๊” และสไตล์การทำงานที่ “ถึงลูกถึงคน” กำลังผลักแบรนด์เอพีเอ็มที่ปรึกษาทางการเงินของเขา “พุ่ง” ไปข้างหน้าในตลาดอาเซียน จนเป็นที่รู้จักในแวดวงตลาดทุนในประเทศเพื่อนบ้านและกลายเป็นบริษัทหนึ่งที่น่าจับตา บรรยากาศค่ำคืนงานเลี้ยงฉลองของบมจ.สุวันนี โฮมเซ็นเตอร์ หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ลาวเป็นผลสำเร็จ ณ ร้านอาหารชื่อดัง In Town กลางกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมของปีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความชื่นมื่น สมภพ ในฐานะผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท หลักทรัพย์เอพีเอ็มลาว จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของสุวรรณีฯ เดินไปมาในงานพร้อมกับแก้ววิสกี้ ด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข เขาแวะเวียนจากโต๊ะสู่โต๊ะ ทักทายแขกร่วม 100 คน ทั้งคนไทยและลาวอย่างสนิทสนมเป็นกันเอง สลับกับการกระโดดขึ้นบนเวทีร้องเพลงสร้างความครึกครื้นให้กับงาน บมจ.สุวันนีฯ เป็นเจ้าของ “สุวันนี โฮมเซ็นเตอร์” จำหน่ายสินค้าที่เกี่ยววัสดุก่อสร้างครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของสปป.ลาว กลายเป็นลูกค้าของเอพีเอ็มลาว รายที่ 2 โดยรายแรกคือ บมจ.ปิโตรเลียมเทรดดิ้ง บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่สุดของลาว มีปั๊มน้ำมันเป็นของตนเองภายใต้ชื่อ “PLUS” ที่เอพีเอ็มลาวเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ลาวปลายปี 2557 สมภพก่อตั้งเอพีเอ็มลาวในปี 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เนื่องจากเห็นโอกาสในตลาดลาว เพราะเป็นตลาดใกล้บ้าน มีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ที่เศรษฐกิจอยู่ระหว่างการเติบโต “ตลาดลาว ต้องทำการตลาดเชิงรุก ดังนั้น คาแรคเตอร์ของเราจึงทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น...ลึกๆ มีความยากและง่ายของมันเอง ที่จะบรรลุเป้าหมาย ในฐานะนักการเงินในเชิงนักการตลาด ต้องใช้โอกาส convince ผู้ประกอบการ และการเติบโตตลาดทุนนี้ยังเป็นกลไกทำให้เศรษฐกิจลาวโตอีกด้วย” สมภพกล่าว วันคำ วอระวง ผู้อำนวยการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์ลาว กล่าวกับ Forbes Thailand ว่า เอพีเอ็มลาว เป็นหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์ลาวให้รุดไปข้างหน้า ไม่เพียงบริษัทจะทำธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ยังคงให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหลักทรัพย์และตลาดทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นในเวลาเดียวกัน เพื่อการพัฒนาของตลาดฯ ผลที่ตามมา คือ วันนี้มีบริษัทต่างๆ ของลาวเริ่มให้ความสนใจเข้าตลาดฯ เพื่อระดมทุนกันมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาตลาดทุนของประเทศในอนาคต หลังจากธุรกิจที่ปรึกษาการเงินมีอนาคตสดใส สมภพยังต้องการขยายธุรกิจทางการเงินอื่นๆ ในลาวอีกด้วย โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เขาตั้งใจจะเข้าสู่ธุรกิจเช่าซื้อ ภายใต้ชื่อ เอพีเอ็ม ลิสซิ่งโดยเอพีเอ็ม ลาว จะถือหุ้น 80% และที่เหลือ 20% เป็นนักลงทุนท้องถิ่น โดยเน้นปล่อยสินเชื่อทั้งรถยนต์เก่าและใหม่ รวมไปถึงอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องจักรการเกษตร เหตุผลที่เข้าตลาดนี้ เนื่องจากว่า ตลาดเช่าซื้อ โดยเฉพาะรถยนต์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคนลาวมีกำลังซื้อมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ปัจจุบันมีบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ประมาณ 14 แห่งใน สปป.ลาว ทั้งเป็นคนท้องถิ่นและต่างชาติ ธุรกิจนี้มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องหนี้เสีย ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้น เอพีเอ็มจะปล่อยสินเชื่อเน้นให้กับกลุ่มข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชนที่สามารถตรวจสอบประวัติได้ เพื่อป้องกันหนี้สูญ หากธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี เขาวาดแผนที่จะระดมทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อขยายวงเงินสินเชื่อ ด้านการระดมทุนนั้น สมภพบอกว่า ไม่เป็นเรื่องยากสำหรับเอพีเอ็ม ที่เป็นที่รู้จักในตลาดเงินเป็นอย่างดี ณ ขณะนี้ และในปี 2560 บริษัทยังมีแผนที่จะขยายงานเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย ภายใต้แบรนด์เอพีเอ็มอีกด้วย “เราต้องการสร้างโมเดลธุรกิจที่นี่ (ลาว) เพื่อที่จะนำใช้ในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยมี 3 ธุรกิจคือ หลักทรัพย์ เช่าซื้อ และประกัน” เขากล่าว ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน นอกจาก สปป.ลาวแล้ว กัมพูชาเป็นประเทศน่าสนใจสุดสำหรับเอพีเอ็ม เนื่องจากเป็นประเทศใกล้บ้าน มีประชากร 16 ล้านคนและตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการพัฒนา ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน 2 บริษัท มีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน 10 กว่าแห่ง ซึ่ง สมภพยอมรับว่า ตลาดนี้ท้าทายและเต็มไปด้วยโอกาส แต่บริษัทต้องออกแรงเยอะ ไม่เพียงหาลูกค้า แต่ยังต้องให้ความรู้กับตลาดและคนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนา ขณะที่เมียนมา บริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่นั่นแล้ว ประเทศสิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของสมภพ เขาตั้งใจจะไปตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่เกาะอันร่ำรวยแห่งนี้ คาดว่าน่าจะใช้ชื่อว่า APM International มีทุนจดทะเบียน 1.25 แสนเหรียญสิงคโปร์ เพื่อใช้เป็นฐานการระดมทุนในภูมิภาค ทั้งนักลงทุนต่างชาตินอกสัญชาติอาเซียนที่ต้องการมาลงทุนในตลาดอาเซียน หรือลูกค้าอาเซียนที่ต้องการไประดมทุนในเกาะมั่งคั่ง ก่อนหน้านี้ สมภพได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก MAS Monetary Authority of Singapore และ Singapore Stock Exchange ว่า ตลาดอาเซียนเติบโตไปด้วยดี โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่ม CLMV (เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กำลังเปิดตัวออกรับเงินทุน ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นด้วยที่จะดึงบริษัทเหล่านั้นเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายบนเกาะ และเขาย้ำว่า เอพีเอ็มจะเป็นสะพาน “เชื่อม” ให้กับบริษัทเหล่านั้นเข้าถึงเงินทุน นอกจากนี้ การไปสิงคโปร์ยังตอกย้ำบทบาทของบริษัทในระดับ  “ภูมิภาค” ให้ชัดมากขึ้น “อาเซียนมีเสน่ห์ เป็นตลาดใหม่ นักลงทุนสายสถาบันเอนเอียงมาตลาดอาเซียน 600 ล้านคน เงินจะมาลงทุน มี yield ที่ดี น่าจะเป็นโอกาส อีกทั้งเรามีวัฒนธรรม ที่ถูกสอนให้เท้าติดดิน เราไปได้ทุกที่” เขากล่าว
คลิ๊กอ่าน "เอฟเอฉบับ “บู๊” และ “บุ๋น” ของสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม นำทัพล่าตลาดเพื่อนบ้าน" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine