"อัลติจูด" บริษัทอสังหาฯน้องใหม่อายุ 8 ปี สร้างการยอมรับในตลาดอสังหาฯ ผลักดันยอดขายปีนี้ทะลุเป้า 2.4 พันล้านบาท ด้วยกลยุทธ์เด็ด “การตลาดคนรู้ใจ” มั่นใจเป็นเทรนด์ใหม่การตลาดต้องปรับทุกปี
หลังจากเปิดตัวมาก่อนหน้านี้ราว 3 ปี บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น้องใหม่ไฟแรงที่บริหารโดยคนรุ่นใหม่อย่าง ชยพล หรรรุ่งโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ก็ยืนยันความมั่นใจด้วยยอดขายปี 2562 ที่คาดว่าจะทำได้ถึง 2.4 พันล้านบาท มากกว่าทุกปีที่บริษัทดำเนินการมาตลอด 8 ปีในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และอีก 7 ปีในฐานะตัวแทนขายโครงการอสังหาฯ ซึ่งยอดขายปีนี้ถือว่าเติบโตสวนทางภาวะตลาดที่ชะลอตัว ผู้บริหารอัลติจูดทั้งสองคนกล่าวตรงกันว่า จุดขายสำคัญของบริษัทฯคือการมีรายละเอียดโครงการที่ตรงกับความต้องกการลูกค้ามากที่สุด ดังนั้นถึงแม้การขายจะมีเงื่อนไขว่าต้องดาวน์ไม่ต่ำกว่า 15-30% แต่ก็สามารถทำยอดขายได้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ภาพรวมตลาดมีโครงการอสังหาฯ เหลือตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
“โครงการล่าสุด อัลติจูด ยูนิคอร์น ที่ตลาดพลูเปิดตัวไม่นานยอดขายดีมากได้เกือบ 60% แล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย” ชยพลเผย และว่า ลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่ไม่ใช่นักลงทุน ยอมซื้อในเงื่อนไขเงินดาวน์ที่บริษัทฯกำหนดซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ LTV (Lone To Value หรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน) ถือว่าประสบความสำเร็จที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาอัลติจูดใช้เกณฑ์ให้ลูกค้าต้องวางเงินดาวน์หรือผ่อนดาวน์ที่ 15-30% อยู่แล้วก่อนขอสินเชื่อ จึงไม่มีปัญหาแม้จะมีกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบังคับใช้
ชยพล ยังบอกด้วยว่า ปี 2562 ในขณะที่คนอื่นบอกว่าตลาดชะลอตัวตลาดซบเซา แต่สำหรับอัลติจูดถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุดของบริษัท เพราะทำยอดขายได้สูงสุดเป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการขาย การอนุมัติสินเชื่อและการก่อสร้าง
“ผลงานปีนี้ทำให้เรามั่นใจว่าอนาคตที่เตรียมไว้ สำหรับแผนนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นไปตามเป้า ซึ่งเราประเมินว่าปี 2564 น่าจะเป็นปีที่เหมาะสมในการเข้าตลาดฯ” นั่นคืออีกเกือบ 2 ปีซึ่งผู้บริหารอัลติจูดคาดว่าในปีที่จะเข้าตลาดฯ บริษัทจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปถามแผนที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะทำยอดขายให้ได้ 7 พันล้านบาทภายใน 4 ปี ผ่านมาสองปีทำยอดขายได้ราว 2.7 พันล้านบาท ที่เหลือคาดว่าคงไม่ยากเกินกำลัง
ส่วนกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้บริษัทฯสามารถทำยอดขายได้เติบโตส่วนทางตลาด เป็นเพราะโครงการที่พัฒนาออกมาตอบโจทย์ตรงใจผู้ซื้อในแง่รายละเอียดของตัวสินค้า ซึ่งเรื่องนี้ขวัญชัยเผยว่า เป็นเพราะบริษัทใช้แนวทางการทำตลาดรูปแบบใหม่สำหรับอสังหาฯ แต่อาจเป็นวิธีการที่ใช้กันอยู่แล้วในแวดวงการตลาดสินค้าอื่นๆ นั่นคือการทำ personalised marketing หรือ “การทำตลาดแบบคนรู้ใจ” นั่นคือการเข้าไปหาข้อมูลเชิงลึกในแง่ความสนใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่า สนใจกิจกรรมอะไร หรือชอบสิ่งอำนวยความสะดวกไหน ก็นำมาประยุกต์ให้มีในโครงการ แทนที่จะเจาะตลาดแบบโครงสร้างประชากร (Demographic) แบบเดิมๆ ซึ่งไม่ทันยุคสมัยแล้วในปัจจุบัน
“เราใช้ creative data มาช่วย จากเคยจับ demographic ประชากร แต่เดี๋ยวนี้เราจับจาก interest จากความสนใจเป็นหลัก” กรรมการผู้จัดการอัลติจูด ย้ำและว่า รูปแบบการทำตลาดของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ นับจากนี้ไป คงต้องเปลี่ยนไปอีกมาก เพราะพฤติกรรมตลาดเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การตลาดแบบดั้งเดิมไม่อาจสร้างความสำเร็จที่รวดเร็วได้อีกต่อไป
10 ปีตลาดเปลี่ยนสู่ยุคคนรุ่นใหม่
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งกลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทต้องปรับตัว และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตามเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม ทำให้มองได้ว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ภาพรวมตลาดอสังหาฯ เมืองไทยน่าจะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ซึ่งขวัญชัยบอกว่า บริษัทที่มีแนวคิดใหม่ๆ มองตลาดแบบคนรุ่นใหม่ และทำตลาดในรูปแบบใหม่ จะกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจอสังหาฯ ขณะที่บริษัทเดิมๆ ที่ไม่ปรับตัวหรือปรับตัวได้น้อย ก็อาจจะตกไป หลุดจากอันดับผู้พัฒนาลำดับต้นๆ ลงไปเรื่อยๆ เป็นรอบการเปลี่ยนแปลงที่โลกของคนยุคใหม่ และการตลาดแบบแปลกใหม่จะเข้ามาแทนที่ ท็อป 10 ผู้ประกอบการปี 2562 จะเปลี่ยนไปในปี 2572 อาจเป็นรายเดิมหรือรายใหม่ที่ปรับตัวได้และมีการตอบรับที่ดีจากตลาด
“สำหรับอัลติจูด เรามั่นใจว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทอสังหาฯ ท็อป 10 ได้ และเมื่อถึงเวลานั้นยอดขายที่เราทำได้จะไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะเราไม่หยุดนิ่ง และเชื่อว่าการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยข้อมูลจะทำให้เราเกาะติดและเท่าทันการเปลี่ยนไปของตลาดได้” ขวัญชัยย้ำ
เช่นเดียวกับซีอีโอ อัลติจูด ที่ยืนยันว่าจุดแข็งของบริษัทไม่ใช่ที่โปรดักต์เท่านั้น แต่มาจากการที่บริษัทรู้จักความสนใจและความต้องการที่แท้จริงของลูกค้ามากกว่า รู้ว่าลูกค้าสนใจอะไรก็นำสิ่งนั้นมาใส่เป็นรายละเอียดในโครงการ ซึ่งจะเห็นว่าโครงการต่างๆ ของอัลติจูดมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต่างจากคนอื่น เช่น คอนโดฯ ระดับราคา 2-3 ล้านบาท แต่มีห้องดูหนังแบบสวีทเธียเตอร์ มี co-kitchen มีห้องอี-สปอร์ต มีบาร์ชื่อดังมาเปิดบริการ มีฟิตเนสหรูให้ลูกบ้าน
สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือความแตกต่างที่เป็นจุดขาย และเป็นจุดแข็งที่ได้มาจากทีมผู้บริหาร ซึ่งเดิมเป็นทีมตัวแทนขายอสังหาฯ สัมผัสลูกค้าใกล้ชิดรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และรู้ว่าจุดอ่อนของลูกค้าคืออะไร พร้อมให้คำแนะนำและพัฒนาโครงการให้ตอบโจทย์ได้มากที่สุด “สิ่งเหล่านี้คือจุดแข็ง แม้จะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่เมื่อพัฒนาสินค้าได้ตรงความต้องการ ย่อมขายได้” ผู้บริหารอัลติจูดกล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติมไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine