สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เสนอนายกฯ แก้ปมธุรกิจรับสร้างบ้าน - Forbes Thailand

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เสนอนายกฯ แก้ปมธุรกิจรับสร้างบ้าน

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เสนอ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สนับสนุนผู้ต้องการปลูกสร้างบ้านเองผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี ยกเว้นภาษีที่ดิน การลงทะเบียนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านให้อยู่ในระบบ พร้อมให้รัฐส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษา ทั้งแก้ไขกติกาให้การขออนุญาตปลูกสร้างตามเขตต่างๆ รวดเร็วขึ้น

วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builders Association หรือ HBA) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้จัดประชุม workshop กับภาคธุรกิจต่างๆ ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน และจากทุกระดับของสังคม โดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านนับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคบริการที่ได้รับเชิญร่วมระดมความคิดและวิธีขับเคลื่อนภาคธุรกิจสู่อนาคต พร้อมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และตัวแทนจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ มากกว่า 25 คน สำหรับการประชุมที่ผ่านมา ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและข้อแนะนำต่อนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและ ระยะยาว ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้สะท้อนชัดถึงภาพรวมตลาดบ้านสร้างเองยังมีโอกาสการเติบโตสูง  ด้วยจำนวนบ้านเดี่ยวที่ขออนุญาตก่อสร้างเองทั่วประเทศ (บ้านที่อยู่นอกโครงการจัดสรร) ในปี 2562 มีถึง 100,657 หลังคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.09 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้หากแยกเป็นบ้านเดี่ยวที่จดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2562 โดยเป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเองมีจำนวน 18,029 หลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 (จากปี 2561) นอกจากนี้ ยังมีที่ดินว่างเปล่าไม่น้อยกว่า 120  ล้านตารางเมตร และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 50 อยู่ใน 10 เขตหลักที่เป็นพื้นที่สำหรับสร้างบ้านเอง และในขณะเดียวกันมีบ้านที่สร้างเองที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมีจำนวน 300,000 หลัง ที่พร้อมจะรื้อถอนและปลูกสร้างใหม่ ซึ่งผู้บริโภคที่ปลูกสร้างบ้านเองนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่เก็บและออมเงินสำหรับปลูกสร้างบ้านของตนเองและเป็น Real Demand โดยเป็นผู้ที่ต้องการสร้างบ้านเพื่ออยู่จริงไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะขอกู้ธนาคารเพียงร้อยละ 50 ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจึงต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่กลุ่มธุรกิจบ้านสร้างเองไม่เคยอยู่ในข่ายที่ได้รับความช่วยเหลือ จึงขอให้รัฐบาลสนับสนุน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาร้อยละ 2 ของค่าปลูกสร้างบ้านแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในเวลา 5 ปีสามารถนำไปลดหย่อนเฉลี่ยเท่าๆ กัน) ของรอบบัญชีภาษี ขณะเดียวกันยังเสนอมาตรการยกเว้นภาษีที่ดินให้ผู้มีที่ดินเปล่าไว้สำหรับปลูกสร้างบ้าน (บ้านหลังแรกหรือคนที่ไม่เคยมีบ้านเลย) ไม่เกินคนละ 200 ตารางวา ซึ่งมาตรการดังกล่าวถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะทำให้บุคคลทั่วไปสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ทั้งที่มีที่ดินอยู่แล้วจะไม่ต้องขายออกไปเพื่อลดภาระภาษีหรือผู้ที่จะซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น "นอกจากรัฐจะไม่ต้องเสียหายในเรื่องของภาษีส่วนนี้มาก มาตรการดังกล่าวยังแสดงถึงความเห็นใจประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือให้ประชาชนมีโอกาสที่จะมีบ้านได้ง่ายขึ้น" การลงทะเบียนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านให้อยู่ในระบบ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานและลดเรื่องการทิ้งงาน สร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งจะเป็นการที่ภาครัฐยังสามารถจัดเก็บภาษีเพื่อที่จะเข้ามาอยู่ในระบบอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษา ปัจจุบันในภาคธุรกิจรับสร้างบ้านยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านอาชีวะเพื่อมาพัฒนางานด้านนี้อีกจำนวนมาก จึงต้องการให้รัฐช่วยส่งเสริมเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่รวมถึงผู้ปกครองเห็นคุณค่าของงานด้านอาชีวะศึกษา และมีการพัฒนาต่อยอดงานด้านคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น วรวุฒิกล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับความเห็นในการแก้ไขอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นในธุรกิจรับสร้างบ้าน "กติกาของรัฐบางอย่างยังเป็นอุปสรรคที่ต้องการให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องการขออนุญาตปลูกสร้างตามเขตต่างๆ มีความล่าช้าและไม่ได้รับความสะดวก จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาตก่อสร้างของภาครัฐมีการปฎิรูปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" อ่านเพิ่มเติม: สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา หาทางรอดหลังวิกฤตโควิด-19