ราคาที่อยู่อาศัย London ปี 2017 เผชิญวิกฤติหลัง Brexit ราคาเฉลี่ยติดลบ -0.17% ไนท์แฟรงค์เผยเป็นโอกาสนักลงทุนไทยหลังค่าเงินปอนด์ตกต่ำขณะที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้ได้กำไรจากค่าเงินเพิ่ม 20% ด้านกระแสนักลงทุนไทยมีแรงผลักจากเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว-ลุยซื้ออสังหาฯต่างชาติ
Nicholas Holt หัวหน้าฝ่ายวิจัย
ไนท์แฟรงค์ เอเชียแปซิฟิก และ
Frank Khan กรรมการบริหาร หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษา
บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดเผยข้อมูลบนเวทีสัมมนาหัวข้อ “การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนและการศึกษาในสหราชอาณาจักร” จัดโดยไนท์แฟรงค์ฯ และ
ธนาคารกสิกรไทย ไพรเวทแบงค์กิ้ง
โดย
Frank Khan กล่าวถึงข้อมูล
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยระดับไพรม์ในกรุง London พบว่าปี 2017 มีอัตราการเติบโตด้านราคาเฉลี่ย ติดลบ -0.17% แบ่งเป็นโซน Central London West ทรงตัว 0% โซน Central London East เติบโต 1% ขณะที่ Outer London ติดลบ -1.5% สวนทางกับที่ผ่านมาที่ราคาอสังหาฯที่พักอาศัยใน London จะเติบโตประมาณ 4% ต่อปี
ผลดังกล่าวเกิดจากสหราชอาณาจักรประกาศลาออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit ทำให้นักลงทุนในอังกฤษบางรายเร่งเทขายอสังหาฯ เป็นโอกาสของผู้ซื้อในการต่อรองราคา สามารถต่อรองลดราคาได้ถึง 20% ในขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยมีโอกาสยิ่งขึ้นจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงขณะที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น ทำให้ส่วนต่างเม็ดเงินไทยที่จะต้องนำไปลงทุนในอังกฤษลดลงถึง 20% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
นอกจากนี้ไนท์แฟรงค์ยัง
คาดการณ์การเติบโตของราคาอสังหาฯ London ช่วงปี 2017-2021 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 12% ใน 5 ปี หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 2.4% แบ่งเป็นโซน Central London West เติบโต 8.8% (เฉลี่ยปีละ 1.76%) โซน Central London East เติบโต 15.9% (เฉลี่ยปีละ 3.18%) ด้านโซน Outer London เติบโต 11.4% (เฉลี่ยปีละ 2.28%) ซึ่งในปี 2020-21 หลังสหราชอาณาจักรทำข้อตกลงแยกตัวออกจาก EU สำเร็จเรียบร้อยในปี 2019 ราคาอสังหาฯ London จะกลับมาเติบโต 3-4% ต่อปีเป็นปกติ
ด้าน
Nicholas Holt กล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าฝั่ง East มีการเติบโตด้านราคาสูงสุด เนื่องจากรถไฟ Crossrail ที่กำลังก่อสร้างใน London และเตรียมเปิดใช้ในปี 2019 นั้นจะพัฒนาการเดินทางในฝั่ง East ให้สะดวกสบายขึ้น และฝั่ง East เป็นย่านเมืองใหม่ที่พัฒนาได้อีกมาก โดยปัจจุบันมีออฟฟิศบิลดิ้งก่อสร้างตอบรับโครงข่าย Crossrail หลายโครงการ ส่วน Central London West ที่คนไทยคุ้นเคยเนื่องจากเป็นย่านเมืองเก่าและแหล่งท่องเที่ยวนั้น ยังเติบโตได้ และมีเสถียรภาพในการเลือกลงทุน
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการลงทุนยังคงต้องจับตาปัจจัย 3 ประการ คือ 1.ค่าเงินปอนด์ 2.ข้อตกลงหลังจากแยกตัวออกจาก EU และ 3.นโยบายของ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจกระทบกับตลาดอสังหาฯ ใน London ได้
สำหรับกระแสในประเทศไทย
อัญชลี เกษมสุขธวัช ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาด้านที่พักอาศัย
บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย
Forbes Thailand ว่า กระแสการลงทุนอสังหาฯของชาวไทย ประมาณ 70% เป็นการลงทุนในประเทศ อีก 30% เป็นการลงทุนต่างประเทศโดยส่วนใหญ่อยู่ใน London และในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งการซื้ออสังหาฯ ใน London ของชาวไทยมักจะมาจากการลงทุนพร้อมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยระหว่างเล่าเรียน เมื่อบุตรหลานจบการศึกษาสามารถปล่อยเช่าได้ หรือขายรีเซลเพื่อรับผลตอบแทนส่วนต่างราคา (capital gain)
หลังจากเหตุการณ์ Brexit พบว่าชาวไทยที่สนใจลงทุนใน London เพิ่มขึ้นถึง 50% เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสด้านค่าเงินที่ทำให้ใช้เงินลงทุนต่ำลงและมีโอกาสที่ค่าเงินปอนด์จะสูงขึ้นในอนาคต ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศไทยค่อนข้างชะลอตัวจึงมองหาการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนนี้คาดว่าจะมีความสนใจลงทุนสูงสุด เพราะเป็นช่วงเงินบาทแข็งค่ามากที่สุด และวันหยุดเทศกาลสงกรานต์เป็นโอกาสให้นักลงทุนเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการด้วยตนเอง