"ซีคอน โฮม" ควบรวม 2 แบรนด์ย่อย โฟกัสทำตลาดแบรนด์เดียว ตั้งเป้าปีนี้รายได้แตะ 1,600 ล้าน - Forbes Thailand

"ซีคอน โฮม" ควบรวม 2 แบรนด์ย่อย โฟกัสทำตลาดแบรนด์เดียว ตั้งเป้าปีนี้รายได้แตะ 1,600 ล้าน

ตลาดรับสร้างบ้านสดใส "ซีคอน โฮม" ควบรวม 2 แบรนด์ โฟกัสแบรนด์เดียวรุกทุกเซ็กเมนต์ ตั้งเป้าปี'62 โต 20% เตรียมขยายสาขา-ตลาดออนไลน์

มนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน โฮม จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลัง 2562 มีแนวโน้มในทิศทางบวกมากกว่าครึ่งปีแรก โดยมีแรงหนุนมาจากหลายปัจจัย เช่น งาน Home Builder & Materials ของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน งานบ้านและสวน รวมถึง 2 ไตรมาสสุดท้ายยังเป็นช่วงฤดูกาลสำคัญของผู้ที่ต้องการซื้อบ้านเพื่อให้ทันรับหน้าฝนในปีหน้า โดยจะทำสัญญาซื้อขายในปีนี้

"จากปัจจัยดังกล่าวและการรุกตลาดอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ ที่ทำให้ยอดขายปีก่อนทะลุเป้า 1,200 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายปี 2560 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ทำให้ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ที่ 1,600 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% โดยเป้าหมายรายได้แบ่งออกเป็น ครึ่งปีแรก 650 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถทำได้ตามยอดที่วางไว้ และครึ่งปีหลังอีก 950 ล้านบาท โดยวางเป้าลูกค้าบ้านขนาดใหญ่ 40% ขนาดกลาง 40% และขนาดเล็ก 20% ตามยอดจองของ 5 เดือนแรกที่ผ่านมา"

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กลุ่มซีคอน โฮม มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้าน 3 แบรนด์ คือ ซีคอน โฮม รับสร้างบ้านราคา 6-30 ล้านบาท, บริษัท คอมแพค โฮม จำกัด รับสร้างบ้านขนาด 3-8 ล้านบาท เปิดดำเนินการมาแล้ว 8 ปี และบริษัท บัดเจท โฮม จำกัด รับสร้างบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งหลังจาก "มนู" เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ปี 2561 เขาได้ปรับการทำงานในองค์กรให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการควบรวมแบรนด์ย่อยอย่างคอมแพคและบัดเจทให้เหลือเพียงซีคอน โฮม แบรนด์เดียว ทำให้ซีคอน โฮม กลายเป็นแบรนด์ที่สร้างบ้านราคา 2-30 ล้านบาท ครอบคลุมทุกเซกเมนต์

ทั้งนี้ การควบรวมดังกล่าวเป็นเพียงการควบรวมแบรนด์เท่านั้น ไม่ได้ยุบบริษัทคอมแพคและบัดเจทแต่อย่างใด แต่ใช้ทีมงานในการดำนินงานทีมเดียวกัน

เราสังเกตได้ว่า ถึงแม้ลูกค้าจะสร้างบ้านกับคอมแพคหรือบัดเจท ลูกค้าก็บอกต่ออย่างภาคภูมิใจว่าสร้างบ้านกับซีคอน โฮม สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ซีคอน โฮม นอกจากนี้ การลดเหลือแบรนด์เดียวทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องทำการตลาดแยก และยังลดต้นทุนในการโปรโมทและสร้างแบรนด์มากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัท ซีคอน โฮม จำกัด มีแบบบ้าน 200 แบบด้วยกัน แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป ราคาตารางเมตรละ 18,000-22,000 บาท ขนาดกลาง ตารางเมตรละ 15,000-18,000 บาท และขนาดเล็ก ตารางเมตรละ 12,000-15,000 บาท ซึ่งหลังควบรวมแบรนด์ บริษัทฯ ปรับราคาบ้านขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นเล็กน้อย เพราะใช้วัสดุที่ดีขึ้น

แบบบ้านสไตล์โมเดิร์นของซีคอน โฮม
 

ปรับทิศการแข่งขัน เลิกทำสงครามราคา

มนู ระบุว่า สำหรับการแข่งขันในธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่ละแบรนด์ยังช่วงชิงการตลาดกันด้วยโปรโมชั่น ซึ่งเป็นการทำสงครามราคา ซึ่งบริษัทฯ รับมือด้วยการวางแผนการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจ แต่ให้ส่วนลดเพื่อจูงใจในอัตราที่เหมาะสม รวมถึงการขยายสาขาออกนอกตัวเมืองมากขึ้น และพยายามดึงคนเข้ามาที่สาขาเพื่อพูดคุย ทำกิจกรรม ให้ลูกค้าได้รู้สึกถึงไอเดียการแต่งบ้าน ถือเป็น Emotional Marketing”

"ปัจจุบันมีสาขา 5 สาขา คือ สี่พระยา, บางแค, แจ้งวัฒนะ, รามอินทรา และศรีนครินทร์ โดยกำลังจะมีสาขาใหม่คือสาขางามวงศ์วาน ใช้งบลงทุน 15 ล้านบาท คาดว่าสามารถให้บริการได้ในปีหน้า ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีแนวโน้มในการขยายสาขาไปในจังหวัดอื่นที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีศักยภาพสูง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการเจรจาพูดคุย"

ส่วนการรับมือกับการแข่งขันเพิ่มเติม คือ การทำการตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Facebook, Instagram และ Twitter ภายใต้สโลแกน “You Dream...We Build สร้างได้อย่างที่ฝันที่ตอกย้ำ 3 จุดขายหลักของซีคอน โฮม คือ ความแข็งแรงทนทาน, สามารถควบคุมระยะเวลาก่อสร้างได้ตามกำหนด และควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลาย โดยปีนี้ตั้งเป้าใช้งบการตลาด 3% จากยอดขาย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ไม่ถึง 3%

บริษัทฯ ยังมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น การใช้จอแสดงผลทัชสกรีนในการนำเสนอแบบบ้าน ที่ลูกค้าสามารถเลือกแบบบ้าน พร้อมปรับแบบตามความต้องการได้ ทำให้เราลดต้นทุนในการผลิตโมเดลบ้าน ไม่ต้องพิมพ์โบรชัวร์ เป็นต้น

 

ตลาดอสังหาฯซบ ไม่กระทบธุรกิจรับสร้างบ้าน

มนู กล่าวอีกว่า ถึงแม้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะดูซบเซาโดยเฉพาะตลาดล่าง ที่ที่อยู่อาศัยโอเวอร์ซัพพลาย ทั้งนี้ มองว่าสาเหตุมาจากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังซื้อของผู้บริโภคขยายตัวไม่ทันราคาบ้านที่สูงขึ้น แต่ตลาดรับสร้างบ้านไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าว เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีที่ดินอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน มองว่ากฎหมายภาษีที่ดินยังส่งผลกระทบเชิงบวก เพราะหากบังคับใช้จริง จะทำให้คนที่ถือดินใหญ่ๆ ปรับเปลี่ยนให้ที่ดินเปล่ากลายเป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้ความต้องการสร้างบ้านมีมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจรับสร้างบ้าน

นอกจากปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมยอดขายแล้ว มองว่าปัจจัยภายในก็มีส่วนสนับสนุน โดยซีคอน โฮม เป็นบริษัทรับสร้างรายแรกในประเทศไทย มีชื่อเสียงและประสบการณ์ยาวนาน 58 ปี ลูกค้ามีความเชื่อถือในแบรนด์ซีคอน โฮม

มนู ยังทิ้งท้ายถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า สิ่งที่มีผลกระทบโดยตรงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือความก้าวกระโดดของค่าแรง ยิ่งถ้ารัฐบาลใหม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ธุรกิจรับสร้างบ้านก็ได้รับผลกระทบแน่นอน

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาภาวะเรือนกระจก ที่เป็นวาระระดับโลก ด้วยการส่งเสริมมาตรการลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงอยากให้ปรับกฎหมายแรงงานต่างด้าวให้เอื้อต่อธุรกิจรับสร้างบ้านมากขึ้น เช่น ให้ความยืดหยุ่นในการย้ายเขตทำงานของแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

    รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine