แนวทางสร้างองค์กรอย่างยั่งยืน แบบฉบับ ‘กมลวรรณ วิปุลากร’ เบาด์ แอนด์ บียอนด์ - Forbes Thailand

แนวทางสร้างองค์กรอย่างยั่งยืน แบบฉบับ ‘กมลวรรณ วิปุลากร’ เบาด์ แอนด์ บียอนด์

บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEYOND แม้จะเป็นน้องใหม่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมของไทย แต่เข้าซื้อโรงแรมระดับอัลตร้า ลักชัวรี อย่างโฟร์ซีซั่นส์ และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจของ ‘กมลวรรณ วิปุลากร’ กรรมการผู้จัดการ ที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบียอนด์ในอนาคต


    บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวด้วยการเข้าลงทุน 100% ในโครงการโรงแรมสุดหรูขนาดใหญ่ริมน้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (Four Seasons Hotel Bangkok at Chao Phraya River) และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ (Capella Bangkok) ด้วยมูลค่าโครงการรวมกว่า 10,500 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2564 หลังเปลี่ยนธุรกิจจากเหมืองแร่และพลังงานแสงอาทิตย์ ชื่อเดิมบริษัท ผาแดงอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2524 หรือเกือบ 40 ปีมาแล้ว



    “หัวใจสำคัญ ที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ คือการ Driving Corporate Performance การสร้างองค์กรให้เข้มแข็งทั้งในเรื่องคนและกระบวนการทำงาน ที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน” นี่คือสิ่งที่ กมลวรรณ ค้นพบหลังจากทำงานในฐานะผู้บริหารมืออาชีพในปีที่ 15 หลังจากเข้าทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและถูกส่งไปเรียนรู้เพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งก่อนหน้านี้เธอทำงานในธุรกิจสถาบันการเงินหลายแห่ง ปัจจุบันมีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 30 ปีทั้งในธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และล่าสุดกับการเข้าสู่อุตสาหกรรมโรงแรม


เส้นทางสู่การสร้างองค์กรให้สำเร็จ

    กมลวรรณ เล่าว่า ช่วง 15 ปีแรกของชีวิตการทำงานอยู่กับธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินความสำเร็จในอาชีพ คือความสำเร็จของการทำธุรกรรมต่างในด้านต่าง ๆ การเรียนรู้ที่สะสมประสบการณ์ คือโครงการที่เข้าไปดำเนินการ ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ปล่อยสินเชื่อ พอหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ธนาคารชะลอปล่อยสินเชื่อ ทำให้ถึงจุดอิ่มตัวในสายอาชีพ จึงย้ายสายงานไปอยู่ภาคอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี ที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้า แต่ยังอยู่ในสายงานเดิม ดูเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ระดมทุน มาถึงจุดเปลี่ยน คือการที่บริษัทส่งไปเรียนเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในด้าน Driving Corporate Performance ซึ่งทำให้เกิดความหลงใหลในการสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จ



    “จากจุดนั้นเป็นต้นมา ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเพิ่ม ในการสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จ และเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้เราก้าวสู่การเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรได้ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน การดูแลบุคลากร กระบวนการทำงาน ตลอดจนการวัดผล ซึ่งเป็นหัวในสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน” กมลวรรณกล่าว

    หลังจากนั้น ก็มีโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ หรือ Hospitality ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทย เป็นจุดแข็งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนที่จะมาอยู่กับบียอนด์ ที่ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจมาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เช่นเดียวกัน และผู้ถือหุ้นมีความตั้งใจที่จะใช้มืออาชีพเข้ามาช่วยในการบริหารงาน ประกอบกับมีแนวทางและมุมมองที่สอดคล้องกัน จึงเข้าร่วมงานกับบียอนด์ตั้งแต่เดือนก.พ. 2564

    “ความสำเร็จของเราไม่ใช่เรื่องการลงทุน การสร้าง หรือเปิดโรงแรมแข่งกับใคร ความสำเร็จของเรา คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรา ทั้งผู้ถือหุ้น คู่ค้า พันธมิตร สังคม ภาครัฐ ที่สำคัญ คือพนักงานของเรา ถ้าสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ได้ ถือเป็นความสำเร็จ เป็นพาร์ทเนอร์ที่ทุกคนมองหา เป็นผู้ประกอบการที่ดี ส่งมอบบริการที่มีคุณภาพ เราอยากเป็นเจ้าของในดวงใจ ที่มีคนอยากมาบริหารโครงการให้กับเรา นี่คือความสำเร็จ” กมลวรรณกล่าว


    ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือการเข้าซื้อโรงแรมทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ ซึ่งเป็นโรงแรมระดับโลก และล่าสุดโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับรางวัลอันดับที่ 3 โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก โดยการจัดอันดับของ The World's 50 Best Hotels และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ (Capella Bangkok) ที่ได้รับการจัดอันดับว่าดีที่สุดอันดับที่ 4 ของโลก โดยนิตยสาร Travel+Leisure ประจำปี 2564


มองหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์

    กมลวรรณ กล่าวว่า การเลือกซื้อโรงแรมทั้งสองแห่ง เพราะสอดรับกับวิสัยทัศน์ขององค์กร แบรนด์ “บียอนด์” BEYOND คือการเดินทางอย่างไม่มีขีดจำกัด และต้องการสร้าง inspiring new way to experience in the world สร้างสินค้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกเดินทางค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะเติมเต็มความต้องการของตัวเอง ขณะที่มิชชั่น หรือพันธกิจ คือการสร้างโครงการที่สะท้อนถึงตัวตน และอัตลักษณ์ของบียอนด์ รวมไปถึงการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ

    “เราเชื่อในสูตร Product Market Fit คือการสร้างสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า แต่ความยาก คือ มาร์เก็ตจะหนีเราไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีการแข่งขันรุนแรง จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วมาก และมีแรงกดดันจากคู่แข่งที่มองไม่เห็น ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ โปรดักส์ต้องใช่ ตลาดถูกที่ ถูกเวลา จึงต้องย้อนมาที่องค์กร องค์กรต้องพร้อมเสมอที่จะรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”

    ดังนั้น กมลวรรณ มองว่า สิ่งที่จะทำให้องค์กรพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องสร้างคาแรกเตอร์ให้กับบียอนด์ 3 แบบ คือ หนึ่ง มีแรงผลักดัน (Moivation) สอง อยู่รอดได้ (Resilience) และสาม การเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา (Agile) และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย องค์กรต้องสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนบุคลากร รวมถึงสถานะทางการเงินที่ต้องอยู่ได้ สร้างผลตอบแทนที่ทำให้ทุกคนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน สร้างคนและระบบงานให้เกื้อหนุนกัน และหา Product Market Fit

    ยกตัวอย่าง คือการใช้ AI เข้ามาช่วยประมวลผความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ให้สอดรับกับความต้องการ การวางรูปแบบสินค้าและบริการ การตลาด เทคโนโลยี ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ ทำให้เกิดอำนาจซื้อ เป็นการสร้างมูลค่าที่ทุกคนยอมจ่าย นี่คือสิ่งที่แตกต่างของบียอนด์



    “เราต้องการสร้างให้เบาด์ แอนด์ บียอนด์ เป็นแบรนด์ในดวงใจ ที่เป็นที่ยอมรับนับถือจากผู้มีส่วนได้ เสีย ต้องการเป็นผู้ดูแลที่รอบคอบ เป็นผู้ลงทุนที่มีจรรยาบรรณ และต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่าเป้าหมาย เพื่อปลดล็อกศักยภาพของสินทรัพย์ทั้งหมดที่มี ซึ่งช่วงแรกนี้ต้องทำให้องค์กรข้างในเข้มแข็งก่อน” กมลวรรณระบุ

    สำหรับผลประกอบการของบียอนด์ในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้เกือบ 3,000 ล้านบาท โดยธุรกิจการบริหารโรงแรมทั้งสองแห่งสามารถทำกำไรได้ในปีนี้ และมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโรงแรมใหม่ ขณะที่บียอนด์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่อาจจะยังมีผลขาดทุนเนื่องจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ มีการขายสินทรัพย์เดิม อย่างไรก็ตาม สำหรับแผน 5 ปี บริษัทมีโครงการลงทุนหลายระดับ ทั้งโรงแรมและรีสอร์ทขนาดเล็ก มูลค่าลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไปจนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านบาท และมีแผนขยายธุรกิจในต่างประเทศ

    “สิ่งสำคัญ คือเรามีเป้าหมายชัดเจน ต่อไปคือต้องทำให้ได้ โดยไม่ยึดติดกับตำนาน ความสำเร็จเดิม ๆ ซึ่งไม่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดไป สิ่งสำคัญ คือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองตลอดเวลา วิธีคิดนี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง เราไม่มีทางสำเร็จได้” กมลวรรณกล่าวทิ้งท้าย

    ทุกวันนี้ ซีอีโอหญิงของบียอนด์ ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เมื่อมีเวลาจะบินไปเข้าคอร์สที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ถือเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของโลกยุคใหม่ เพื่อพัฒนาตัวเองตลอดเวลา รวมทั้งการพัฒนาทีมงานให้มีความสุข เพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกัน คือการนำพาบียอนด์ไปสู่เป้าหมายองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป



อ่านเพิ่มเติม : ภาวะลงทุนไม่สดใส ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine