“CPANEL” บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป เข้ามาในตลาดไม่นานนักหากเทียบกับผู้ผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปรายอื่นๆ แต่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องสวนกระแสโควิด-19
แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปได้รับความนิยมจากตลาดมากขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ด้วยระบบอัตโนมัติ (Fully Automated Precast) รุกตลาดอย่างจริงจังด้วยกลยุทธ์หลัก นำเสนอ Precast ในแบบที่ไม่เหมือนใคร สามารถรองรับคำสั่งซื้อได้ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ลดปัญหาและข้อจำกัดของการใช้งาน Precast กับงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้แตกต่างจากคู่แข่ง
“โรงงานผลิต Precast หลายรายในตลาดที่เป็นธุรกิจของดีเวลลอปเปอร์อสังหาฯ ก็มาจ้าง CPANEL ผลิตแผ่น Precast ให้ เพราะเราทำแบบได้ยืนหยุ่นกว่า และทำราคาได้ดีกว่า” ชาคริต อธิบายกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปของ CPANEL สามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงแม้ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้งานก่อสร้างหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการไปชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมา
ด้วยอัตราการเติบโตของรายได้ที่ 10-15% ต่อเนื่องมาตลอดและคาดว่าในปี 2566 จะยังคงรักษาการเติบโตของยอดขายได้ 15% เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
สำหรับปี 2566 CPANEL จะมุ่งเน้นกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตโดยวางแผนลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 25% จากกว่า 7 แสนตารางเมตรเป็นกว่า 9 แสนตารางเมตร
โดยใช้งบลงทุน 30 ล้านบาทในการลงทุนเครื่องจักรยังส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องการออกแบบ ความรวดเร็ว ปริมาณ และคุณภาพ Precast Concrete รวมถึงลดความผิดพลาด ความสูญเสียในการผลิต เป็นการเพิ่มโอกาสการรับงานรองรับความต้องการลูกค้าได้มากขึ้นและส่งผลให้บริษัทมี Economy of Scale ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเพิ่มความสามารถการทำกำไร
แบคล็อก 1.2 พันล้านบาท
ชาคริต เผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 1,295 ล้านบาท ทยอยรับรู้ภายในปี 2566- 2567 (ภายใน 2 ปี) นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/66 บริษัทอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากลูกค้า 3 ราย มูลค่ารวมประมาณ 200 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 2 ราย แนวสูง 1 ราย
ขณะที่ ภาพรวมตลาดอสังหาฯ มีสัญญาณที่ดี จำนวนบ้านจัดสรรก่อสร้างใหม่ในเขตกรุงเทพ และ ปริมณฑลยังคงเติบโต โดยเฉพาะบ้านระดับกลาง-บน สำหรับอาคารชุด คอนโดมิเนียมคาดว่าจะได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการที่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน กลับมาเปิดประเทศเต็มตัว
อีกทั้ง ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศ เมียนมา ไต้หวัน และ ยุโรปบางประเทศ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่จะเป็นบ้านหลังที่สอง (Second Home), การกระจายฐานการผลิต และ การลงทุน เนื่องจากประเทศไทยค่อนข้างมีความเป็นกลางในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้มีประชากรในพื้นที่ EEC เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯ จาก 12% เป็น 15 % และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ประเทศไทยได้รับปัจจัยเชิงบวกจากจีนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ และการท่องเที่ยว ประกอบกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent Up Demand) จากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาจส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบการอสังหาฯ สูงขึ้น
โดยต้องการความรวดเร็วในการส่งมอบงานได้ทันเวลา ลดต้นทุนการก่อสร้าง ลดจำนวนแรงงาน อีกทั้งสามารถรักษาเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการดำเนินงาน ซึ่ง Precast Concrete สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ดี ถือเป็นโอกาสในการรับงานให้กับบริษัท และเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้ผลประกอบการปี 2566 เติบโตได้ตามแผนที่วางไว้” ชาคริต กล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์หลัก ที่ CPANEL เน้นการรับงานโดยให้บริการลูกค้าสามารถสั่งผลิตแผ่นคอนกรีตได้ตามแบบที่ต้องการ ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีสำหรับงานออกแบบที่มี่ความเฉพาะสำหรับแต่ละโครงการ และนอกจากนี้บริษัทยังมีข้อได้เปรียบที่สามารถบริหารต้นทุนการผลิตได้ดี ทำให้สามารถทำราคาขายที่ดีเป็นตัวเลือกสำคัญให้กับลูกค้า
“เราให้บริการค่อนข้างละเอียด มีการตรวจเช็คงานอย่างรัดกุม ตรวจสอบและตรวจทานคุณภาพได้ตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ชาคริต เผยกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งต้องขยายลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 ในพื้นที่ชลบุรี ใกล้เคียงกับโรงงานแรก เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น โดยโรงงานแห่งใหม่ใช้งบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม: “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” นำทัพบีอีซีเวิลด์ ส่งคอนเทนต์บุกต่างประเทศ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine