"วัชรา ลี้โกมลชัย" ซีอีโอ CLP Group สานปณิธานสร้างสังคมไทยสู่ความยั่งยืน - Forbes Thailand

"วัชรา ลี้โกมลชัย" ซีอีโอ CLP Group สานปณิธานสร้างสังคมไทยสู่ความยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Oct 2024 | 11:30 AM
READ 1054

"วัชรา ลี้โกมลชัย" บุตรสาวคนสุดท้องของตระกูลลี้โกมลชัย ของกลุ่มบริษัท มโนยนต์ ผู้ผลิตอะไหล่ยานยนต์ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี กับธุรกิจในเครือกว่า 50 บริษัท ในฐานะซีอีโอหญิงแห่ง CLP Group ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องจักรกลทางการเกษตร ที่มุ่งออกแบบและผลิตนวัตกรรมเครื่องจักรทางการเกษตรโดยคนไทย เพื่อเกษตรกรไทย เพื่อยกระดับวิถีชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน

"20 ปีก่อน คุณพ่อมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจยานยนต์ เทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามา จึงอยาก diversify ธุรกิจ เพื่อให้องค์กรไปต่อได้ในอนาคต เลยมองไปที่ธุรกิจเครื่องจักรทางการเกษตร ซึ่งมาจากความชอบส่วนตัว และมองเห็นความสำคัญของการทำเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในประเทศไทย แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องการขาดนวัตกรรม จึงอยากใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรม ที่เราเป็น OEM ให้กับแบรนด์ดังๆ ระดับโลก มาเติมเต็มให้กับเกษตรกรไทย จึงตั้ง CLP Group ขึ้นมา"

วัชรา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของ CLP Group เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งคุณพ่อ (มานพ ลี้โกมลชัย) ค่อยๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักรทางการเกษตร ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย โดยใช้งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาพัฒนาเครื่องจักรทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายทั่วไป ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จนก่อนช่วงโควิดได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการมีสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาด และเป็นช่วงที่ตัวเองจบการศึกษาและเข้ามาช่วยธุรกิจ CLP Group และเข้ามาปรับแผนธุรกิจใหม่หมด

คุณน้ำมนต์ วัชรา ลี้โกมลชัย CEO CLP GROUP
​ชุดโรงสีข้าว SME ระบบ AI รุ่น CBR-350

โฟกัสที่ข้าวและการสร้างมูลค่าเพิ่ม

วัชรา เล่าว่า ตอนนั้นหากยังสู้ต่อ ก็ต้องเข้าสู่สงครามราคา จึงกลับมาทบทวนแผนธุรกิจใหม่ ว่าสิ่งที่ CLP Group ต้องการคืออะไร คำตอบคือ เราต้องการยกระดับเกษตรกรไทยด้วยนวัตกรรม และสินค้าพื้นฐานสำคัญของเกษตรไทย คือข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลกระทบกับทุกคนในสังคม จึงหันมาโฟกัสที่ข้าวเป็นหลัก และร่วมมือกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนา ออกแบบนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าวด้วยมาตรฐานระดับโลก ในราคาของคนไทย เพราะออกแบบและผลิตโดยคนไทย มีสินค้าครบทุกไลน์ที่เกี่ยวกับข้าว เครื่องสีข้าว เครื่องอบ เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ รวมถึงโซลูชั่นที่ตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและพื้นที่ใช้สอย

​ประกอบกับเป็นจังหวะที่ภาคส่วนต่างๆ เริ่มตื่นตัวกับแนวโน้มเรื่องความยั่งยืน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกร จากผู้ปลูก มาเป็นผู้ขาย CLP Group จึงเข้าไปเสนอโซลูชั่นให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมเกษตรกรให้ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ทำให้ยอดขายของ CLP Group เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปี 2566 ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 200% และปี 2567 คาดว่าจะเติบโตอีก 400% หรือมีรายได้ 500 ล้านบาทในปีนี้ โดยแนวโน้มรายได้ของบริษัทจะแตะระดับพันล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า

"พอเข้ามารับผิดชอบดำเนินธุรกิจของ CLP Group เราได้วางวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ Empowering the better life ต้องการผลักดันชีวิตของเกษตรกร และสังคมไทยให้ดีขึ้น ซึ่งเราไม่ได้มองแค่เกษตรกร แต่มองไปถึงการขับเคลื่อนซัพพลายเชนทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป รวมถึงผู้บริโภค ด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวกับข้าว ที่สำคัญ เรามองว่าเป้าหมายขององค์กรไม่ใช่แค่เรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว ความมุ่งหวังสูงสุด คือการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ CLP Group จะเข้ามาเติมเต็มตรงนี้ และไม่ใช่แค่การส่งเสริมในเรื่องนวัตกรรม เราได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน" วัชรากล่าว


​คุณวัชรา ลี้โกมลชัย อธิบายถึงนวัตกรรมของ CLP ให้กับกลุ่มเกษตรกร

​เป้าหมายคือการเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

วัชรา กล่าวว่า เป้าหมายของ CLP Group คือการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ต้องการสร้างหมุดหมายให้เกษตรกรไทยก้าวสู่ความยั่งยืน อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่การเป็นแค่ผู้ปลูก แต่ต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ขาย การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งสิ่งที่จะได้กลับมาไม่ใช่ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น แต่ยังสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว ชุมชน เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการแพทย์ ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ตอบรับกับเทรนด์เรื่องความยั่งยืนที่ทุกอย่างต้องหันกลับสู่ธรรมชาติ

CLP Group ไม่ได้สร้างนวัตกรรมเครื่องจักรทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม อย่างการพัฒนาแบรนด์สีสด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวมูลค่าสูง ที่ต้องการทำขึ้นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรเห็นถึงการสร้างความแตกต่างให้กับผลผลิตและสามารถทำให้ผู้บริโภคยอมรับ รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต และความภูมิใจในอาชีพเกษตรกร อย่างการพัฒนาสินค้าแฟชั่นสำหรับเกษตรกร โดยใช้ผ้าทอจากสุโขทัยมาพัฒนาเป็นชุดสำหรับสวมใส่ และใช้เวลาว่างจากการทำนา มาผลิตเสื้อผ้าเพื่อเป็นรายได้เสริม

"เราต้องการเป็นเซ็นเตอร์ ที่เป็นที่รวบรวมสินค้าของเกษตร เพื่อไปนำเสนอในพื้นที่ที่กว้างขึ้น การส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ วัตถุประสงค์ไม่ได้ต้องการขายสินค้าของเกษตรกร เรารับซื้อส่วนที่เหลือ แต่อยากทำให้เขายืนได้ด้วยขาตัวเอง ผลิตเอง ขายเอง นั่นคือภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราต้องการเห็น" วัชรากล่าว

คุณวัชรา ลี้โกมลชัย CEO of CLP Group และ คุณมานพ ลี้โกมลชัย President of CLP Group
ณ ศูนย์การเรียนรู้ "สวนพี่แดง" จังหวัดนครราชสีมา

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 CLP Group จะมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยจริงจังมากขึ้น ผ่านศูนย์การเรียนรู้ "สวนพี่แดง" บนพื้นที่ 100 ไร่ ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมุ่งนำเสนอการเรียนรู้ในเรื่องความยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญในการสร้างสมดุล 3 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทำเกษตรอย่างไรที่ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ขณะที่เดียวยังสามารถให้ผลผลิตที่มากพอ และมีคุณภาพสูงออกสู่ตลาด และให้ความช่วยเหลือสังคมรอบด้านเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน ผ่านโปรเจกต์ "กรีน ลีดเดอร์ อะคาเดมี่" โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เกษตรกร เยาวชน และองค์กรธุรกิจ เพื่อปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเกษตรไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

"เราใช้นวัตกรรมการเกษตรเป็นแกนหลักในการสร้างองค์ความรู้ และส่งต่อไปยังเจนเนอเรชั่นต่อไป โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจว่าจากฟาร์มทูเทเบิลคืออะไร โดยเฉพาะเรื่องข้าว ถ้าจะขายข้าวให้ได้กิโลกรัมละ 200 บาท เราจะให้คุณค่าที่แตกต่างอย่างไร เป็นการสร้างมายด์เซ็ทให้กับคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งพวกเขาจะเข้ามาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงวงการ และเป็นผู้กำหนดเทรนด์ในอนาคต" วัชรากล่าวทิ้งท้าย