‘เบบี้ สวิมมิ่ง’ จับตลาดสอนว่ายน้ำไฮเอนด์ - Forbes Thailand

‘เบบี้ สวิมมิ่ง’ จับตลาดสอนว่ายน้ำไฮเอนด์

เบบี้ สวิมมิ่ง ธุรกิจโรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กและทารก รุกตลาดไฮเอนด์ ชี้เทรนด์พ่อ-แม่ยุคใหม่ทุ่มงบดูแลลูก เล็งขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์แม่และเด็ก ตลาดเติบโตสูง เปิดแผนปี 2564 ปูพรมเปิดครบ 15 สาขา รับธุรกิจรุ่งหลังโควิด-19

พลภัทร และ ณัฎฐ์วิภา นิติธรรมยง ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Baby Swimming "เบบี้ สวิมมิ่ง" ผู้ดำเนินธุรกิจโรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กและทารกมาตรฐาน ISO แห่งแรกในประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะในตลาดระดับบน หรือไฮเอนด์ เนื่องจากปัจจุบันอัตราการเกิดใหม่ของเด็กในประเทศลดลง ขณะที่พ่อแม่มีกำลังซื้อมากขึ้น จึงใช้งบประมาณในการดูแลลูกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสิ่งที่จำเป็นสำหรับพัฒนาการของเด็กและทารกแรกเกิดยังคงเป็นความรู้เฉพาะทาง ปัจจุบัน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่อปีมีประมาณ 8 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 2 แสนคนที่มีการเรียนว่ายน้ำ ถือว่ายังน้อย เพราะฉะนั้นการขยายธุรกิจจึงมีโอกาสสูงมาก ขณะที่การแข่งขันทางธุรกิจยังไม่สูงมาก เพราะองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจโรงเรียนสอนว่ายน้ำที่ได้มาตรฐานทั้งเรื่องหลักสูตร ด้านความปลอดภัย และความสะอาด ทั้งนี้ Baby Swimming เปิดดำเนินธุรกิจโรงเรียนสอนว่ายน้ำเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องรัอยละ 20-30 ต่อปี ได้แรงบันดาลใจจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เห็นเทรนด์ธุรกิจที่เกี่ยวกับเด็กเติบโตสูง โดยเฉพาะโรงเรียนสอนว่ายน้ำ ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิต พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการให้ลูกเรียนว่ายน้ำตั้งแต่ทารก เพราะเป็นทักษะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของเด็กทารก ถ้าไม่เรียนรู้ต่อเนื่องทักษะนี้จะหายไป “การจมน้ำของเด็กเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ดังนั้นพ่อแม่ยุคใหม่จีงให้ความสำคัญกับการให้ลูกเรียนว่ายน้ำตั้งแต่เด็ก ยิ่งหากเรียนตั้งแต่เป็นทารก ทักษะด้านการว่ายน้ำจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ซึ่งโรงเรียนของเราสอนจนถึงสามารถแข่งขันได้” พลภัทรกล่าว เบบี้ สวิมมิ่ง Baby Swimming เป็นโรงเรียนสอนว่ายน้ำสำหรับทารกอายุตั้งแต่ 4 เดือน – 12 ปี ปัจจุบันมี 11 สาขา โดยใช้หลักสูตรการสอนจากประเทศออสเตรเลีย พร้อมระบบบริหารจัดการ การดูแลแบบญี่ปุ่น ซึ่งจะเหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยที่ต้องการเอาใจใส่ ขณะเดียวกัน บริษัทคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด จึงดำเนินขอรับรองมาตรฐาน ISO ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด บริษัทได้หยุดดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม และเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้งหลังจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลาย ซึ่งเบบี้ สวิมมิ่ง ได้ปฏิบัติตามวิถีปกติแบบใหม่ (New Normal) และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) พร้อมนำแอพพลิเคชั่นหมอชนะมาใช้ป้องกันและคัดกรองด้วยการเก็บประวัติการเดินทาง ของคุณครู พนักงาน พ่อแม่ และน้องสมาชิกล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนเปิดบริการ พร้อมปรับกิจกรรมการเรียนการสอน ลดการสัมผัส จำกัดผู้เรียนในแต่ละคลาสอย่างเข้มงวด “หลังจากกลับมาเปิดให้บริการ ลูกค้ากลับมามากขึ้น อาจจะเกิดจากเด็กๆ ถูกลดการทำกิจกรรมในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นและไม่เห็นผล ขณะที่การว่ายน้ำ ถือเป็นทักษะที่จำเป็น เมื่อเรียนแล้วเห็นผลชัดเจน ว่าทำให้สามารถว่ายน้ำได้ ประกอบลูกค้ามีความเชื่อมั่นเรื่องความสะอาด และความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ เบบี้ สวิมมิ่ง” พลภัทร กล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทมีแผนขยายสาขาให้ครบ 15 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยในกรุงเทพเน้นลงทุนเอง ขณะที่ต่างจังหวัดจะขยายในรูปแบบร่วมทุน และแฟรนไชส์ โดยใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาทต่อสาขา การขยายสาขาในกรุงเทพฯจะเน้นหาทำเลกรุงเทพชั้นในที่เป็นพื้นที่สำคัญ เพื่อเจาะกลุ่มตลาดระดับบน ที่ยังมีความต้องการสูง โดยมีการเจรจากับพันธมิตรที่เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในการเข้าไปเปิดให้บริการในโครงการ เล็งขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์แม่และเด็ก พลภัทร กล่าวด้วยว่า กำลังพิจารณาขยายธุรกิจกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์แม่และเด็ก ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจที่เติบโตมากในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าที่เป็นชุดว่ายน้ำสำหรับเด็กและผู้ปกครองภายใต้แบรนด์ “เบบี้ สวิมมิ่ง” อยู่แล้ว กำลังขยายสินค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่เป็นไลฟ์สไตล์ รวมถึงสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ผ่านมา มีบริษัทใหญ่หลายรายต้องการเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อผลิตสินค้าเจาะกลุ่มแม่และเด็กโดยเฉพาะ นอกจากนี้ อีกธุรกิจที่น่าสนใจ คือ คาเฟ่สำหรับเด็ก ซึ่งตลาดต่างประเทศเติบโตสูงมาก และเริ่มขยายกิจการเพื่อเจาะกลุ่มเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมธุรกิจเช่นเดียวกัน อ่านเพิ่มเติม: กูเกิลร่วมพาณิชย์เปิด “สะพานดิจิทัล” เร่งสปีดเอสเอ็มอีไทยโก อี-คอมเมิร์ซ