ทางออกคลายปมเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่ผู้บริหารธนาคารต่างให้ความสนใจ ในมุมมองของ "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ย้ำว่างานสำคัญอันดับหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งเครื่องให้เกิดผลก่อน คือช่วยเหลือเกษตรกรในยามที่ภาวะราคาพืชผลตกต่ำ
"เราต้องช่วยคนที่กำลังจมน้ำก่อน" บัณฑูรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากจะกู้สถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้กลับมาสดใสกว่านี้ ควรยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อทลายกำแพงขวางกั้นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ และยุโรป ดังที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม บัณฑูรเชื่อว่าหากจะให้ไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีในปีหน้าถึง 4% อย่างที่คาดหวังคงต้องพึ่งการลงทุนภาครัฐเป็นเครื่องยนต์หลัก นอกจากนี้ยังให้ความเชื่อมั่นเพิ่มเติมต่อเรื่องการไหลเข้าของเงินทุนโดยตรงอีกว่า พันธมิตรเช่นญี่ปุ่นผูกพันกับไทยมายาวนาน และไม่ว่าจะมีปัญหาทางการเมืองภายในเมืองไทยอย่างไร ก็ไม่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากแดนปลาดิบถอดใจ
"จะปฏิวัติกี่รอบก็ไม่หนีไปไหน จะทำอีกรอบก็ยังได้" นายใหญ่จากกสิกรไทยกล่าวทิ้งท้ายต่อโอกาสของไทย
ทั้งนี้ด้วยแนวคิดที่ว่า เครือข่ายที่แข็งแกร่งเป็นอาวุธสำคัญที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้พร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะทำให้มีการค้าข้ามพรมแดนมากขึ้น ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทยและผู้แทนธนาคารพันธมิตร 35 แห่งจาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อดำเนินโครงการ Taksila ASEAN Banking Forum ในการร่วมพัฒนาหลักสูตร บุคลากร แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ ต่อยอดสู่ความร่วมมือทางธุรกรรมการเงิน เพื่อยกระดับการให้บริการธนาคารสู่มาตรฐานสากลอีกด้วย
ทั้งนี้ หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคือมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยเน้นไปที่การช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน ด้วยงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยค่าต้นทุนการผลิตชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1 พันบาทต่อครอบครัว ส่วนชาวนาที่มีที่ดินตั้งแต่ 15 ไร่ขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิตครอบครัวละ 15,000 บาทเท่านั้น