World Bank ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่สดใส เติบโตแค่ 1.5% - Forbes Thailand

World Bank ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่สดใส เติบโตแค่ 1.5%

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Oct 2014 | 01:30 PM
READ 3658
แม้ว่าประเทศในกลุ่ม EAP (East Asia Pacific) ไม่นับรวมจีน จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคสูงขึ้นในปีหน้า  แต่ประเทศไทยกลับอาการหนัก  พ่ายแม้แต่ปาปัวนิวกินีและติมอร์-เลสเต ภาคการผลิตเดินครื่องแค่ 60% ซึมยาวจนปีหน้า จี้แก้ปัญหาโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
 

ในรายงานบทวิเคราะห์ East Asia Pacific Economic Update ของ World Bank (ธนาคารโลก) พบว่า บรรดาประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม EAP (East Asia Pacific) มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า 6.9% ลดลงจากปี 2556 ที่เติบโต 7.2% เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคสูงขึ้นในปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ช่วยให้การส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้ภูมิภาคนี้ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตมากที่สุดในโลก
 
ในขณะที่จีน-ประเทศใหญ่ที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญประจำภูมิภาค เศรษฐกิจจะเติบโตลดลงเล็กน้อยที่ 7.4% และในปีหน้า 7.2% เนื่องจากรัฐบาลพยายามผลักดันเศรษฐกิจด้วยนโยบายที่แก้ปัญหาความเสี่ยงและข้อจำกัดทางโครงสร้างการเงิน ถือเป็นการชะลอตัวอย่างช้าๆ ขณะที่สถานการณ์การเมืองใน Hong Kong ยังต้องจับตาอยู่ต่อไป และหากไม่นับรวมประเทศจีน อัตราการเติบโตของประเทศใน EAP ปีนี้จะอยู่ที่ 4.8% ก่อนจะปรับขึ้นในปีหน้าเป็น 5.3%
 
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ตลอดปี 2557 นั้น เติบโต 1.5% ต่ำกว่าที่ World Bank คาดการณ์ไว้เมื่อเมษายนที่ผ่านมา 3% ในขณะที่ปี 2558 จะเติบโต 3.5% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5% เช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ประเทศไทยจะมีอัตราโตทางเศรษฐกิจในอันดับท้ายสุด ต่ำกว่าปาปัวนิวกินีที่มีอัตราการเติบโตที่ 5.6% และ 20% และติมอร์-เลสเต ที่เติบโต 8% และ 7.7%  อย่างไรก็ตามยังดีกว่าหมู่เกาะโซโลมอน ที่ในปีนี้จะมีการเติบโต 0.1% แต่คาดการณ์ว่าในปีหน้าจะเติบโต 3.5% เทียบเท่าอัตราการเติบโตของประเทศไทย
 
ทั้งนี้ GDP ของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 หดตัว 0.1% ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสถานการณ์การเมืองปลายปี 2556 แม้การเมืองไทยจะกลับมามีเสถียรภาพ มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม การลงทุน การบริโภค หรือการส่งออกที่แม้จะกลับมาฟื้นตัว แต่ก็ไม่สูงตามที่ได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรก
 
Ulrich Zachau ผู้อำนวยการ World Bank สำนักงานประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวเช่นนี้เกิดจากปัญหาทางโครงสร้างของประเทศเองด้วย การส่งออกซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจมานาน แต่ตัวเลขยังตกต่ำ สะท้อนปัญหาขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน เราส่งออกผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเวลานี้หรือไม่
 
"เราทราบว่าไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก hard drive แต่ tablet ล่ะ?" เขาตั้งคำถาม
 
อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องทักษะฝีมือแรงงาน สำหรับประเทศไทยแล้วแรงงานเหล่านี้จะกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ  จังหวัดรอบนอกแทบไม่มีเลย ขณะที่ในประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย แต่กลับมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือมากกว่า เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีปัญหา ทำให้การส่งออกของประเทศที่แม้จะเติบโต แต่ก็ช้ากว่าประเทศอื่น และก็จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างได้
 
ผู้อำนวยการ World Bank ประจำประเทศไทย เห็นว่าประเทศไทยควรแก้ปัญหาในระยะยาว โดยเสนอมาตรการ 4 ด้านด้วยกัน  

ประการแรก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก จำเป็นต้องคิดถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปรับตัว รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างเพื่อพัฒนาสินค้าส่งออก ให้เป็นไปตามที่ต้องการของตลาด

ประการที่สอง ปรับปรุงด้านการศึกษารวมทั้งทักษะฝีมือแรงงาน เพราะไม่มีประเทศใดในโลก ที่จะมีรายได้สูงโดยไม่ลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ต้องยกระดับการศึกษาและทักษะฝีมือที่แตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่รอบนอกให้มีความเท่าเทียมกัน 
 
ประการที่สาม คือปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนั่นเอง ต้องให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการต่างๆ ภาครัฐอย่างทัดเทียม บางเรื่องก็เริ่มทำแล้วเช่นการบริการด้านสุขภาพ แต่ก็ยังสามารถปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้อีก หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ไทยมีความไม่เท่าเทียมกันสูงมาก ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่ม

ประการสุดท้าย ลดการพึ่งพาพลังงาน กรุงเพทฯ เป็นเมืองที่ใช้เครื่องปรับอากาศมากที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง หากลดได้ก็จะช่วยในเรื่องปัญหาสภาพแวดล้อม และเป็นผลดีต่อธุรกิจด้วย
 
กิริฏา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส World Bank สำนักงานประเทศไทย เสริมว่า การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ เกิดขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัย อย่างหนึ่งก็คือความมั่นใจของประชาชน ว่าจะมีรายได้ในอนาคต เมื่อความมั่นใจไม่เกิดขึ้น การลงทุนและการใช้จ่ายจะชะลอตัว แม้ปัจจุบันการบริโภคภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เพียง 1.5% ในปี 2558 ขณะที่ยังเกิดความกังวลในด้านการเมือง รวมไปถึงปัญหาหนี้เก่าที่สะสมมา ย่อมทำให้การลงทุนภาคเอกชนไม่เติบโตอย่างที่คาดหวัง
 
"ตัวเลขการใช้กำลังในการผลิตของภาคเอกชนเวลานี้ อยู่แค่ 60% เท่านั้น ถือว่าต่ำมาก และคาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้า"
 
อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ธุรกิจภาคบริการอย่างการท่องเที่ยวคงจะฟื้นกลับมาอีกครั้ง อยู่ในราว 10-11% แต่คิดว่าไม่มีทางถึง 20% เหมือนเมื่อสองถึงสามปีก่อนแน่ ส่วนนี้ก็จะช่วยกระตุ้น GDP ได้ นอกจากนี้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ ซึ่งตามปกติจะเบิกจ่ายได้ราว 75-80%  หากรัฐบาลผลักดันให้เกินกว่า 80% ก็จะช่วยเร่งอัตราการเติบโตได้มากขึ้น
 
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาล ที่เวลานี้ออกมาทั้งหมด 5 มาตรการนั้น เธอมองว่ามีมาตรการใหม่ 2 เรื่องก็คือ การขยายเวลาลงนามทำสัญญาในปีงบประมาณ 2557 ให้ออกไปจนถึงเดือนธันวาคมหรือถึงสิ้นปี กับการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา โดยได้ประเมินว่าทั้ง 2 มาตรการนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.4% อย่างไรก็ตามเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น เราจึงควรหันมาปรับปรุงการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวด้วย