UAPC ขายหุ้นผ่านเอ็มเอไอ กอบทุนรุกตลาดเพื่อนบ้าน - Forbes Thailand

UAPC ขายหุ้นผ่านเอ็มเอไอ กอบทุนรุกตลาดเพื่อนบ้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Jul 2018 | 11:03 AM
READ 4384

ส่ง UAPC เข้าตลาด mai ปี 61 หวังนำเงินระดมทุนขยายกำลังการผลิต-บุกตลาด CLMV มั่นใจสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นอย่างน่าพอใจ เผยอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการธุรกิจเทคโนโลยี 2 ราย หวังพลิกโฉมภาคการผลิตเคมีภัณฑ์

กิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ในฐานะบริษัทแม่ของ บริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UAPC เปิดเผยถึงความพร้อมของ UAPC ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ประเภทลาเท็กซ์อีมัลชั่นและโพลิเมอร์ ที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai หลังจากที่เตรียมตัวมาตั้งแต่ 1 ปีที่ผ่านมา  โดยเบื้องต้นคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งในไตรมาส 3 ปี 2561 และน่าจะเข้าซื้อขายภายในไตรมาส 4 ปีนี้ หรือไม่เกินไตรมาส 1 ปี 2562 ทั้งนี้ UAPC จะเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 180 ล้านบาท เป็น 240 ล้านบาท โดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก 120 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น 0.50 บาท หรือคิดเป็น 36.25% ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน วัตถุประสงค์หลักของการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อขยายธุรกิจทั้งในส่วนของการเพิ่มกำลังการผลิต ขยายตลาด รวมถึงขยายอาคารคลังเก็บสินค้า และลงทุนในเทคโนโลยีนำสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าด้านสายการผลิตให้แก่ UAPC  กิตติกล่าวว่าแม้ชื่อบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จะเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2558 หรือ 3 ปีที่แล้ว แต่ในด้านการดำเนินธุรกิจนั้น บริษัทนี้มีเส้นทางธุรกิจมาแล้วกว่า 20 ปี
ผลิตภัณฑ์ของ UAPC ในกลุ่มลาเท็กซ์
จุดกำเนิดของ UAPC เริ่มจากความสนใจด้านภาคการผลิตลาเท็กซ์โพลิเมอร์ของบริษัท ยูเอซี โกลบอล ซึ่งมีธุรกิจหลักคือ เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเคมีภัณฑ์ เพราะเชื่อมั่นว่า เคมีภัณฑ์ประเภทนี้มีตลาดใหญ่และมีความต้องการบริโภคสูง  ดังนั้น UAC จึงมองหาผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว และได้พบกับผู้ประกอบการรายหนึ่งซึ่งคร่ำหวอดในธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี จึงเกิดเป็นดีลการเข้าซื้อกิจการมูลค่า 700 ล้านบาทเมื่อปี 2558 จากนั้น จึงได้จดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ ขึ้นในที่สุด  “ตอนที่เราซื้อกิจการมา เราได้มาทั้งสินทรัพย์ บุคลากร เครื่องหมาย การค้าต่างๆ และได้วางเป้าหมายไว้ว่า UAPC จะต้องเป็น flagship ด้านภาคการผลิตเคมีภัณฑ์ของเครือยูเอซี โกลบอล” 
โรงงานของ UAPC  ที่ จ.นครราชสีมา
ความมั่นใจในศักยภาพของ UAPC เกิดจากหลายปัจจัยทั้งฐาน ลูกค้ารายใหญ่ที่มีการค้าขายกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ความพร้อมด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ที่สามารถต่อยอดสู่การผลิตสินค้าอื่นๆ ได้  รวมถึงการมีที่ดิน ซึ่งรองรับการขยายโรงงานได้ โดยทำเลของโรงงานที่ตั้งอยู่บนถนนหลักบนพื้นที่โครงการก่อสร้างทางรถไฟ แนวตะวันออก -ตะวันตก หรือ East-West Corridor ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมต่อจากประเทศเมียนมาสู่เวียดนามและกัมพูชา นับเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี และสุดท้ายคือ การได้รับสิทธิประโยชน์ทาง ภาษีจาก BOI เป็นระยะเวลา 8 ปี  ขณะที่ลูกค้าหลักของ UAPC มีหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมสีทาบ้านและสีอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง, อุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งลูกค้าส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ 
ลูกค้าหลักของ UAPC มีหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมสีทาบ้านและสีอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง, อุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
กิตติกล่าวเพิ่มว่า ภายหลังการซื้อกิจการดังกล่าวแล้วเสร็จได้ดำเนินการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเพิ่มทันทีด้วยงบลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 24,000 ตันต่อปี สำหรับผลิตสินค้าเดิมและรองรับการผลิตสินค้าใหม่โดยคณะผู้บริหารและทีมงานได้เดินหน้าในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อหาสินค้าที่สามารถต่อยอดจากไลน์การผลิตเดิมได้  สำหรับผลประกอบการ 3 ปีที่ผ่านมา รายได้รวมของ UAPC อยู่ที่ 251.41 ล้านบาทในปี 2558 และเพิ่มเป็น 339.57 ล้านบาทในปี 2559 และ 346.74 ล้านบาทในปี 2560 ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 8.60 ล้านบาท 38.22 ล้านบาท และ 12.36 ล้านบาท ตามลำดับ  เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจระยะถัดไปนั้น UAPC คาดหวังอัตราการเติบโตของรายได้ในปี 2561 อยู่ที่ 30% ส่วนกำไรสุทธิเชื่อมั่น ว่าจะเติบโตมากกว่า 30% เนื่องจากขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะมีสารตั้งต้นมาจากเคมีภัณฑ์  ทั้งนี้ สินค้านำร่องคือลาเท็กซ์อีมัลชั่น เพราะยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ต่ำ ขณะที่ตัวสินค้าเองก็มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งในตลาดเดิมซึ่งก็คือตลาดในประเทศไทยและตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และหากยอดขายจากลาเท็กซ์อีมัลชั่นติดตลาดตามเป้าหมายแล้ว จะมีส่วนผลักดันให้การเติบโตของกำไรสุทธิสูงกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมาร์จินค่อนข้างดี  “ตอนนี้เราต้องเริ่มขยายตลาด เพราะลาเท็กซ์อีมัลชั่นมีขนาด ตลาดที่ใหญ่และกว้างมาก การจะไปหาตลาดแม้ไม่ยากแต่การแข่งขันและความต้องการลูกค้าแตกต่างจากที่เราเคยทำ เราต้องมีการปรับสูตร มีการให้ข้อมูลลูกค้า มีอะไรอีกค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้ก็เริ่มสำเร็จแล้ว”  UAPC ยังมองสินค้าเคมีภัณฑ์อื่นเพื่อขยายฐานการผลิตออกไป อาทิ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้าน ประเภทน้ำยาทำความสะอาด น้ำยา ขัดพื้นผิวหิน โดยขณะนี้ ได้มีการคุยกับต่างประเทศซึ่งมีสินค้าที่เราเห็นศักยภาพการเติบโต ทั้งนี้ ก็เพื่อขยายสินค้าของเราออกไปสู่หลายๆ ตลาด  นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการธุรกิจ เทคโนโลยีที่เอื้อต่อภาคการผลิต โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของเทคโนโลยีต่างประเทศ 2 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้  กิตติเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีศักยภาพที่ยังเติบโตได้อีกมาก ขณะที่เคมีภัณฑ์ที่ UAPC ผลิตและจำหน่ายนั้นประเมินการเติบโตไว้ไม่ต่ำกว่า 5%  ขณะที่เป้าหมายในการเป็นหลักทรัพย์หรือหุ้น UPAC วางจุดยืน เป็น growth stock โดยจะเน้นสร้างสรรค์กำไร เพื่อปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นในฐานะ dividend stock “จริงๆ แล้วการทำเคมีภัณฑ์ ทุกบริษัทจะมองถึงกำไร เราก็มองถึงผลกำไรและเงินปันผล เพื่อจะได้ส่งเสริมบริษัทแม่ด้วย เพราะอย่างน้อยก็ถืออยู่กว่า 60% ซึ่งโดยนโยบายคือ เมื่อเข้าตลาดเมื่อไหร่ ก็จะจ่ายเงินปันผลทันที ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับมติผู้ถือหุ้นและ คณะกรรมการบริษัทด้วย”    เรื่อง: ศนิชา ละครพล ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่าน Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "WEALTH MANANAGEMENT & INVESTING 2018" ในรูปแบบ e-Magazine