TRIS คงเรทติ้งกรุงเทพฯ AA+ ด้วยแนวโน้ม Stable - Forbes Thailand

TRIS คงเรทติ้งกรุงเทพฯ AA+ ด้วยแนวโน้ม Stable

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Oct 2014 | 05:22 PM
READ 2425

แม้เรทติ้งของกรุงเทพฯ จะยังคงที่จากแหล่งรายได้ภาษีอากรที่แน่นอน ฐานะการเงินแข็งแกร่งและหนี้สินต่ำ เงินสะสมสูง สะท้อนความเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ทว่าภาระค่าใช้จ่ายดำเนินการที่เพิ่มขึ้นสูง จะกระทบกับความสามารถในการลงทุนสาธารณูปโภคอื่นๆ ขณะที่ยังมีข้อจำกัดในการหาแหล่งรายได้ใหม่

 

 

TRIS Rating คงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนสถานภาพศูนย์กลางเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้งบประมาณแบบสมดุล ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากหนี้สินต่ำ และมีเงินสะสมในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวลดทอนลงจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเองและภารกิจที่รับโอนจากรัฐบาลในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่ม 

 

กรุงเทพมหานครในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่บริหารราชการและจัดการสาธารณูปโภคให้ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ การคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของ TRIS Rating สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน และนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร

 

TRIS Rating คาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่องตลอดไป อีกทั้งภาระผูกพันจากการลงทุนและการก่อหนี้ในอนาคต รวมถึงภาระหนี้ของบริษัทย่อยควรได้รับการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน 

 

ในปี 2555 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product – GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 3.69 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 32.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักมาจากภาษีอากร โดยเป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ทั้งนี้ ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูง แม้จะมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และนโยบายของรัฐบาลกลางก็ตาม

 

ในปีงบประมาณ 2556 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้รวม 63,061 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% จากปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยรายได้ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองคิดเป็น 18% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่ง 92% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้คิดเป็น 77% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีสัดส่วนที่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และภาษีหรือค่าธรรมเนียมรถยนต์คิดเป็นประมาณ 47% 21% และ 20% ตามลำดับ

 

ขณะที่กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายรวม 68,508 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2556  หรือเพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน โดยกรุงเทพมหานครได้นำเงินสะสมมาใช้ในส่วนรายจ่ายเพิ่มเติมในโครงการด้านการศึกษา โครงการอุโมงค์ระบายน้ำ และภารกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบจากรัฐบาล จึงส่งผลให้กรุงเทพมหานครรายงานดุลการคลังขาดดุลจำนวน 5,446 ล้านบาท และอัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้อยู่ที่ -8.64% ในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งส่งผลให้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครลดลงจาก 14,187 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 เป็น 10,816 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2556 กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายดำเนินการคิดเป็นสัดส่วน 77% ของรายจ่ายรวมทั้งหมดในปีงบประมาณ 2556 โดยส่วนที่เหลือเป็นงบลงทุน

 

ค่าใช้จ่ายดำเนินการของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 52,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายดำเนินการที่เพิ่มสูงจะทำให้ความสามารถในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครลดลง ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครไม่ได้บันทึกรายได้และรายจ่ายทั้งหมดของโครงการ BTS ส่วนต่อขยายไว้ในรายงานการรับ-จ่ายเงินประจำปีของกรุงเทพฯ ส่งผลรายงานการรับ-จ่ายเงินของกรุงเทพมหานครต่ำกว่าความเป็นจริง 

 

ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บภาษีรายได้ 48,608 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการจัดเก็บภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพิ่มขึ้นถึง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดว่าในสิ้นปีงบประมาณจะสามารถจัดเก็บภาษีรายได้ใกล้เคียงกับประมาณการที่ตั้งไว้ 65,000 ล้านบาท อีกทั้งในปีงบประมาณ 2557 ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไว้ 5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้กรุงเทพฯ มีดุลการคลังขาดดุล และส่งผลให้อัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้ของกรุงเทพฯ ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 

 

ในปีงบประมาณ 2556 ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 11,198 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 11,345 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 โดยภาระหนี้สินส่วนใหญ่เป็นภาระการกู้เงินของบริษัทลูกคือ "บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด" เพื่อใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการ BTS ส่วนต่อขยายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) และค่าเช่ารายปีจากสัญญาเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอย สำหรับปีงบประมาณ 2557 คาดว่าภาระหนี้จะอยู่ที่ระดับ 12,125 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการลงนามในสัญญาเช่ารถเก็บขยะมูลฝอยเพิ่มเติม ขณะที่อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายเพิ่มขึ้น 4% ในปีงบประมาณ 2555 เป็น 5.5% ในปีงบประมาณ 2556 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6.4% ในปีงบประมาณ 2557   

 

TRIS Rating ย้ำว่า กรุงเทพมหานครต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แม้ว่าจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาล แต่ก็ต้องใช้จ่ายตามโครงการที่กำหนดไว้ และมีจำนวนไม่เพียงพอ กรุงเทพมหานครจึงได้พิจารณาหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ รวมถึงการจัดเก็บภาษีชนิดใหม่หรือเพิ่มอัตราภาษีบางประเภท แต่ก็ต้องเจอกับขั้นตอนที่ซับซ้อน และต้องใช้เวลาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งยังต้องพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย 

 

TRIS Rating ยังคาดว่ากรุงเทพมหานครจะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบทั้งในด้านกฎหมาย และในด้านการเงินอย่างมีนัยสำคัญ




ภาพประกอบ: wikipedia.org