สมาชิก Tinder ทั่วโลกมากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มคนเจน Z (อายุระหว่าง 18-25 ปี) ได้กำหนดนิยามและรูปแบบใหม่ของการออกเดตมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่มีผู้ใช้งานทินเดอร์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์และเรียกได้ว่าเป็นทศวรรษใหม่ของการหาคู่
ผู้คนพูดคุยกันมากขึ้นบน Tinder ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มคนเจน Z ใช้เวลาสนทนาบนทินเดอร์มากขึ้นกว่าเดิม โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการส่งข้อความต่อวันมากขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และการพูดคุยยาวนานขึ้นกว่าร้อยละ 32 คนเจน Z ได้เปลี่ยนไปคุยกันทางวิดีโอมากขึ้นโดยผู้ใช้งานเกือบครึ่งบนทินเดอร์ใช้การวิดีโอคอลกับคู่ที่แมตช์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ ร้อยละ 40 จะใช้วิดีโอคอลเพื่อพูดคุยทำความรู้จักกันต่อไปแม้ว่าการแพร่ระบาดจะจบลงแล้ว การใช้งานและกิจกรรมบนทินเดอร์มียอดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี โดยมีการปัด (Swipe) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และมีการแมตช์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 ต่อสมาชิกหนึ่งคน กลุ่มคนเจน Z แหกกฎการหาคู่และข้อห้ามเดิมๆ และเปลี่ยนจากการออกเดตแบบค่อยเป็นค่อยไป มาเป็นการทำตัวลื่นไหลไปตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความคาดหวัง (ไม่คิดเยอะ เป็นไงเป็นกัน) แง่ของอารมณ์ (ซื่อตรงและเป็นตัวของตัวเอง) และแง่ของประสบการณ์ (ทำกิจกรรมที่มีความหมายด้วยกันมากกว่าแค่ละลายพฤติกรรม – นี่คือความโดดเด่นของการออกเดตในยุคดิจิทัล) สไตล์การหาคู่ของคนเจน Z นั้นมีความย้อนแย้งในตัว กล่าวคือในขณะที่พวกเขาขยายขอบเขตในการหาคู่ให้กว้างขึ้น แต่กลับคว้าคนใกล้ตัวในบริเวณเดียวกันเพื่อออกเดต และในขณะที่พวกเขาใช้เวลาอย่างเร่งรีบไปกับการพาตัวเองออกเดต ก็ไม่ลืมที่จะหาเวลาเล็กๆ น้อยๆ ให้กับโมเมนต์หวานๆ เช่นกัน 8 ท็อปเทรนด์ การหาคู่ในทศวรรษหน้า 1.คนหาคู่จะมีความซื่อตรงและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น โควิด-19 ส่งผลให้หลายคนเห็นภาพและมุมมองต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้สมาชิกทินเดอร์ยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นมากกว่าเคย ทั้งในเรื่องตัวตน ภาพลักษณ์ และประสบการณ์ส่วนตัว ในช่วงการแพร่ระบาด มีการใช้คำว่า “วิตกกังวล” และ “ทำให้เป็นเรื่องปกติ” ในโปรไฟล์เพิ่มมากขึ้น โดยมีการใช้คำว่า “วิตกกังวล” เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 31 ส่วนคำว่า “ทำให้เป็นเรื่องปกติ” นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 15 เท่า 2.การมีขอบเขตในเรื่องต่างๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการถกเถียงกันในเรื่องของขอบเขตความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สมาชิกทินเดอร์ใช้โปรไฟล์ของตัวเองเพื่ออธิบายความคาดหวังของพวกเขาอย่างชัดเจน เช่น การใช้คำว่า “สวมหน้ากากอนามัย” เพิ่มขึ้นสูงถึง 100 เท่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 “ขอบเขต” เป็นอีกคำที่ถูกใช้มากขึ้นกว่าเดิม (มากขึ้น 19%) และคำว่า “ความยินยอม” ก็พุ่งสูงขึ้น 11% การกระทำเหล่านี้จะทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับความยินยอมเป็นเรื่องปกติและเกิดความสบายใจมากขึ้น 3.ผู้คนอยากมีความสัมพันธ์แบบ “เป็นไงเป็นกัน” มากขึ้น ผลสำรวจล่าสุดของสมาชิกทินเดอร์ คนหาคู่จำนวนมากกำลังมองหาความสัมพันธ์แบบ “ไม่ต้องมีคำนิยาม” เพิ่มมากขึ้นเกือบร้อยละ 50 ดังนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นแรงขับให้คนยุคต่อไปที่กำลังหาคู่ มองหาความสัมพันธ์แบบเปิดที่ไม่ผูกมัดมากกว่าความต้องการที่จะแต่งงาน 4.การออกเดตออนไลน์จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตใหม่ ในยุคที่การพบปะแบบเจอหน้ากันมาพร้อมกับความเสี่ยง คนที่มองหาคู่จึงหันไปหาประสบการณ์เสมือนจริงเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยผลสำรวจล่าสุดของทินเดอร์พบว่า คนที่ลองออกเดตออนไลน์มองว่าการเดตแบบนี้จะมีความรู้สึกกดดันน้อยลงในการศึกษาเพื่อนใหม่ ซึ่งสมาชิกทินเดอร์วัยเจน Z จำนวนร้อยละ 40 กล่าวว่าพวกเขาจะยังคงออกเดตออนไลน์ต่อไป แม้ว่าสถานที่นัดพบในการออกเดตจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้วก็ตาม 5.เดตแรกในอนาคต เน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสรรค์มากกว่าเดิม การที่บาร์และร้านอาหารหลายแห่งปิดให้บริการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานที่ในการออกเดตแรกตามขนบแบบเดิมๆ ไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป ดังนั้นเวลานัดเจอกัน พวกเขาจะเลือกกิจกรรมของเดตแรกที่มีความสร้างสรรค์ มีความเป็นส่วนตัว และมีความสบายๆ มากขึ้นกว่าในอดีต ดังตัวอย่างที่ทินเดอร์พบในโปรไฟล์ที่มีการใช้คำว่า “กำลังเล่นโรลเลอร์สเก็ต” เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า รวมถึงการระบุว่าอยากให้กิจกรรมของเดตแรกเป็นการก่อสร้างปราสาทด้วยกัน ไปจนถึงการปาหิมะใส่กัน 6.ก้กตัวมานาน การสัมผัสทางร่างกายกลายเป็นสิ่งจำเป็น ผู้คนใช้โปรไฟล์ของตัวเองในการแสวงหาการแสดงออกถึงความรักใคร่ เช่น การจับมือ อ้อมกอด หรือการที่มีใครบางคนมาลูบไล้ผม โดยมีการใช้คำว่า “อ้อมกอด” เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และคำว่า “จูงมือกัน” สูงขึ้นร้อยละ 22 หลังจากที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมโดยไม่มีการสัมผัสกันทางร่างกายร่วมเดือน เมื่อได้รับการสัมผัสอีกครั้งจึงทำให้คนที่กำลังหาคู่รู้สึกมีความสุขกับพฤติกรรมนั้นมากขึ้น ดังนั้นแม้ว่าการออกไปพบกันจะกลับไปเป็นเหมือนปกติแล้วก็ตามแต่การแสดงออกทางกายภาพจะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในชีวิตของคนที่ออกเดต 7.ปัดขวาไปไกลได้ทั่วโลก แต่เลือกเดตกับคนที่อยู่ใกล้ ผู้คนย้ายที่อยู่ก็จะสมัครใช้งานทินเดอร์เพื่อค้นหาผู้คนใหม่ๆ ที่อยู่ในเมืองนั้นด้วยการระบุว่า “ย้ายบ้านใหม่” ในโปรไฟล์ของตัวเองสูงขึ้นร้อยละ 28 โดยในปี 2563 นอกจากเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตหรือทำงานจากที่ไหนก็ได้แล้ว ผู้คนยังใช้ทินเดอร์ในการหาเพื่อนใหม่ที่อาศัยอยู่ใกล้กับพวกเขาอีกด้วย 8.เรื่องดีๆ ในแบบ “ซัมเมอร์แห่งรัก” กำลังจะเกิดขึ้น ข้อมูลในเดือนตุลาคม 2563 บอกกับเราว่า สมาชิกทินเดอร์มากกว่าร้อยละ 40 ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ไม่เคยได้พบกับคู่ที่แมตช์ตัวเป็นๆ แต่โปรไฟล์ของทินเดอร์กลับบอกตรงกันข้าม โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การใช้คำว่า “กำลังไปออกเดต” ในโปรไฟล์ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลในสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าการออกเดตแบบเจอกันตัวเป็นๆ ในปี 2563 จะลดน้อยลงไป (ร้อยละ 54 ของคนโสดให้ข้อมูลกับ YPulse ว่า “โควิด-19 เข้ามาถ่วงเวลาชีวิตรักของพวกเขาให้ดำเนินไปช้ากว่าเดิมมาก”) แต่ถ้าได้รับวัคซีนเมื่อไรพวกเขาก็พร้อมที่จะออกนอกบ้านทันที คำจำกัดความ: ข้อมูลทั้งหมดนี้มาจากโปรไฟล์บนทินเดอร์หรือการรวบรวมกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชันทินเดอร์ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดึงมาศึกษาตั้งแต่มกราคม 2563 - กุมภาพันธ์ 2654 ข้อความ คือจำนวนข้อความโดยเฉลี่ยที่ถูกส่งออกโดยสมาชิกหนึ่งคนการอัปเดตโปรไฟล์ คือจำนวนการปรับเปลี่ยนโปรไฟล์หรือข้อมูลส่วนตัวโดยเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน WAV/ข้อมูลการสำรวจมาจาก **ข้อมูลอ้างอิงจากการสำรวจสมาชิกทินเดอร์ราว 5,000 คนในสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2563 และระหว่างวันที่ 14-24 สิงหาคม 2563 YPulse Finding Love Post-COVID Trend Report. ข้อมูลอ้างอิงจากแบบสำรวจคนอายุ 13-39 ปี จำนวน 1 พันคนในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนธันวาคม 2020 อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 10 ประเทศที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุด ปี 2021ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine