THG เปิดเวทีประเมินศักยภาพไทยรับมือโควิด-19 แนะเร่งคลาย "ล็อกดาวน์" ฟื้นฟูเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

THG เปิดเวทีประเมินศักยภาพไทยรับมือโควิด-19 แนะเร่งคลาย "ล็อกดาวน์" ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

หมอบุญประเมินไทยรับมือโควิด-19 ได้ดี แต่ยังมีความเสี่ยง แนะโรงพยาบาลเตรียมพร้อม ด้านดร.ศุภณัฐชี้รัฐบาลควรเร่งคลาย "ล็อกดาวน์" ก่อนเศรษฐกิจไทยเลือดไหลกว่าเดิม

บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG โดย นพ.บุญ วนาสิน หรือ หมอบุญ ประธานกรรมการ THG และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ร่วมเสวนาเรื่องมองประเทศไทยกับการรับมือ COVID-19 และ New normal หลังวิกฤตโรคระบาด ผ่านระบบ Facebook Live Press Conference เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยประเมินว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการรับมือกับการระบาดครั้งนี้ได้ดี แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่และโรงพยาบาลควรเตรียมพร้อม ขณะที่ภาครัฐควรผ่อนคลายมาตรการ ล็อกดาวน์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นพ.บุญ วนาสิน กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจากความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการติดตามกลุ่มเสี่ยง ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการประเมินความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดได้ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันแยังไม่อาจวางใจได้ว่า COVID-19 จะไม่กลับมาระบาดอย่างรวดเร็วอีกครั้ง โดยประเทศไทยยังมีความเสี่ยงอีก 3 ด้านที่ต้องระวังอย่างใกล้ชิด คือ

  1. ยังมีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการในหลักแสนคน
  2. มีชุมชนแออัดค่อนข้างมาก เช่น เรือนจำ บ้านพักคนชรา
  3. คนไทยในต่างประเทศประมาณหมื่นกว่าคนกำลังจะกลับประเทศ รวมทั้งแรงงานที่จะกลับเข้ามาใหม่อีกนับล้านคน

กระนั้น ในฟากโรงพยาบาลเอกชนถือว่าค่อนข้างเข้มแข็ง เนื่องจากมีการเตรียมตัวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสั่งซื้อหน้ากาก ยา และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า

เอกชนมีความพร้อมมาก มีการเตรียมเตียงไว้ 270 เตียง แต่ใช้แค่ 20 เตียง เตรียมห้องไอซียูสำหรับรองรับคนไข้ 25 คน แต่ใช้วันละ 3-4 คน แสดงว่าเรารับมืออยู่ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าที่คาดการณ์ หากมีการระบาดใหม่ ภาครัฐก็เตรียมสร้างไอซียู รวมทั้งโรงพยาบาลสนามนับหมื่นเตียง

นพ.บุญ วนาสิน

นพ.บุญ กล่าวอีกว่า หากจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ ควรตรวจหาเชื้อให้มากสุด เพื่อตรวจว่ามีใครติดเชื้อบ้าง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการตรวจหาเชื้อ 500 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่ 1.6 หมื่นคน และบรูไน 2.6 หมื่นคนต่อประชากร 1 ล้านคน

หากตัวเลขผู้ป่วยลดลงอย่างนิวซีแลนด์ที่เหลือเลขหลักเดียว อยากให้ผ่อนคลายเรื่องท่องเที่ยวเพื่อกลับสู่ปกติมากที่สุด ประเทศไทยมี service industry คนจะมารับการรักษาในไทยเยอะมาก เพราะเชื่อมั่นในสถาบันของเรา อย่างกัมพูชา เมียนมา ตะวันออกกลางก็อยากมา แต่เราปิดประเทศ ซึ่งเห็นด้วยกับรัฐบาลว่าต้องจัดการภายในประเทศให้มั่นคงก่อน ควบคุมให้ได้ระดับหนึ่ง แต่จะให้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไม่ได้นพ.บุญกล่าว

ประธานกรรมการ THG ยกตัวอย่างประเทศไต้หวันว่า หลังประสบปัญหาการระบาดของ H5N1 จึงสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขโดยผลิตหน้ากาก N95 เตรียมยาและเครื่องมือแพทย์หากเกิดเหตุขึ้นอีก ส่วนเกาหลีใต้ทำ big data เก็บข้อมูลว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง

ดังนั้น การพัฒนาประเทศต้องมองให้ออกว่าอนาคตต้องการอะไร เพื่อความมั่นคงของเราเอง ไม่ใช่ว่าพอเกิดเหตุต้องไปพึ่งพิงต่างประเทศ เช่น สั่งยาจากญี่ปุ่น สั่งหน้ากากจากต่างประเทศ

ยุโรปเป็นตัวอย่างชัดเจน เยอรมนีเก็บหน้ากากและยาไม่ให้ อิตาลีหรือสเปน ไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกคนป้องกันแต่ประเทศของตน ผมเป็นห่วงว่าอนาคตถ้าระบาดใหญ่จะทำอย่างไร ประเทศไทยต้องยืนบนขาตัวเอง ทั้งเครื่องมือแพทย์ ยา และบุคลากรทางการแพทย์

 

แนะคลายล็อกดาวน์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สำหรับมุมมองด้านเศรษฐกิจ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่าปี 2563 คาดว่าจีดีพีติดลบ 5% และหากมีการระบาดเพิ่มขึ้นอาจติดลบถึง 10% ทั้งนี้ การล็อกดาวน์ประเทศเพื่อปราบโควิด-19 เท่ากับล็อกดาวน์จีดีพีด้วย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก ไม่เกิดผลผลิต เป็นต้นทุนที่สูงมาก

ผลดังกล่าวคือเกิดกระแสที่ประชาชนพยายามให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติในทั่วโลก ทั้งที่ความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อโควิด-19 นับเป็นเรื่องที่ลำบากและท้าทายมากว่า

ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการ เนื่องจากการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานานจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยกรณีที่ล็อกดาวน์และปิดประเทศเป็นระยะเวลา 1 เดือน ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจ เช่น ส่งออก -5%, ท่องเที่ยว -30% ถึง -40%, อุตสาหกรรมยานยนต์ -20%, อสังหาริมทรัพย์ -20% ถึง -30% เป็นต้น

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ส่วนกรณีที่มีการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ยังคงต้องมีมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การกักตัวกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านสาธารณสุขดีมาก จึงอยากให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปิดให้บริการ Health Tourism แก่คนทั้งในและนอกประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศ

มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผลกระทบต่อสังคม  อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาเดินได้ตามปกติ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวได้จากการบริโภคภายในประเทศและแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาวดร.ศุภวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

   
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine