‘ศรีตรัง’ เปิดตัว ‘ยาง GPS’ หวังพลิกจากขาดทุนสู่กำไรปีนี้ - Forbes Thailand

‘ศรีตรัง’ เปิดตัว ‘ยาง GPS’ หวังพลิกจากขาดทุนสู่กำไรปีนี้

กลุ่มศรีตรัง เปิดตัว “ยางมีพิกัด (GPS)” ตรวจสอบย้อนกลับได้ ตอบรับมาตรการ EUDR ของสหภาพยุโรปที่จะบังคับใช้ปลายปีนี้ หวังพลิกฟื้นผลประกอบการจากขาดทุนกลับมามีกำไรในปีนี้ เตรียมงบลงทุน 2,000 ล้านบาท สร้าง Sri Trang Ecosystem ดึงเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1 แสนราย ผลักดันยอดขายรวมปริมาณยาง 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% ในปี 2567


    วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้ดำเนินธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก และผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทศรีตรังได้เปิดตัว “ยางมีพิกัด (GPS)” เพื่อตอบรับมาตรการบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนเป็นภูมิภาคแรกภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางธรรมชาติไปยุโรป ต้องผ่านการตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกป่าสงวน

    กลุ่มบริษัทศรีตรัง ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล โดยให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาของยางได้ 100% ถือเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่ดำเนินการเรื่อง “ยางมีพิกัด (GPS)” ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการค้าของไทย ไปจนถึงโอกาสในด้านราคายางที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันปริมาณการค้ายางในโลกอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านตัน ตลาดส่งออกหลักอยู่ที่จีน 50% ยุโรป 30% สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ 20% โดยกลุ่มศรีตรังมีส่วนแบ่ง 10 – 12% ในตลาดยางโลก และส่วนแบ่ง 30% ในตลาดยางไทย

    “ยางมีพิกัด (GPS) จะสร้างความได้เปรียบให้กับตลาดยางของไทย เพราะตามกฎ EUDR ผู้ที่ค้าขายยางกับสหภาพยุโรป ต้องปฏิบัติตาม เราทำก่อนได้เปรียบ เพราะยาง GPS ไม่ได้แค่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตลาดในยุโรปเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ที่จะค้าขายกับยุโรปก็ต้องปฏิบัติตามกฎนี้ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นในตลาดยางโลก” วีรสิทธิ์กล่าว

    ทั้งนี้ กลุ่มศรีตรังคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายยางมีพิกัด (GPS) ในช่วงปลายปี 2567 นี้ หลังจาก EUDR มีผลบังคับใช้ และคาดว่าในปี 2568 การจำหน่ายยางมีพิกัด (GPS) จะเป็นสัดส่วน 50% จากการขายยางทั้งหมดของกลุ่มศรีตรัง หรือเป็นปริมาณ 7-8 แสนตัน


คาดพลิกจากขาดทุนมีกำไรปีนี้

    ในปี 2566 กลุ่มศรีตรังมีรายได้จากการขายยาง 84,245 ล้านบาท มีผลขาดทุน 434.4 ล้านบาท จากราคายางที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัว

    วีรสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยางปีนี้ ความต้องการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผลผลิตในตลาดลดลงจากปัญหาเอลนีโญ ทำให้ราคายางเริ่มขยับจาก 140 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 160 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 กลุ่มศรีตรังจำหน่ายยางไปแล้ว 3.3 แสนตัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

    และจากการเปิดตัวยางมีพิกัด (GPS) ที่มีราคาสูงกว่ายางทั่วไป จะทำให้บริษัทกลับมามีกำไรในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรและผู้ค้ายางที่จะทำยางมีพิกัดกับศรีตรัง จำนวน 100,000 ราย ภายในสิ้นปี 2567 และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ภายในสิ้นปี 2568

    สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการยางในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัว และลูกค้าได้ระบายสินค้าคงคลังจนกลับมาอยู่ในระดับปกติ ประกอบกับความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีผลให้ฝนตกลดลงและกระทบต่อผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด

    นอกจากนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก ขณะที่สถานการณ์ราคายางธรรมชาติเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยยาง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนมกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 152.7 – 155.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากจากราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ที่ 145.4 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นราว 5-7%

    วีรสิทธิ์ กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทจะใช้งบลงทุนราว 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตยาง ในโรงงานทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ พิษณุโลก มุกดาหาร นราธิวาส และในประเทศเมียนมา

    ขณะเดียวกันจะพัฒนา Sri Trang Ecosystem ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของศรีตรังที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ผ่านนวัตกรรมต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends Station บริการ Super Driver และระบบ Smart factory ที่ช่วยทรานส์ฟอร์มกระบวนการรับซื้อยางสู่ดิจิทัล เชื่อมโยงผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ ได้แก่ ชาวสวนยาง, ผู้ค้ายาง, ผู้ขนส่งยาง, ชุมชน, คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาง เพื่อช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนมากขึ้น

    สำหรับปีนี้ บริษัทฯ วางเป้าหมายปริมาณการขายยางทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายรวม 1.3 ล้านตัน โดยกลยุทธ์หลักจะมุ่งเน้นการบริหารสต๊อกยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีระบบ Automation เข้ามาใช้ภายในโรงงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง


    ทั้งยังมุ่งขยายธุรกิจให้เติบโต มีการขยายกำลังการผลิตในไทย และเปิดศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรี่โคสต์ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตยางพารา พร้อมกับการเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แบบรอบด้านทุกส่วนสำหรับรองรับ EUDR หรือกฎมาตรการอื่นๆ ของตลาดทั่วโลก

    “กลุ่มศรีตรังมุ่งเน้นการดำเนินการด้านความยั่งยืน ซึ่งถือเป็น DNA ของเรา อีกทั้งบริษัทฯ เป็น Growth Company ที่ไม่หยุดพัฒนาและพร้อมปรับตัวเสมอ เพื่อครองความเป็นผู้นำองค์กรแห่งยางสีเขียวแบบครบวงจรอย่างยั่งยืนตลอดไป” วีรสิทธิ์กล่าว



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘บี.กริม เพาเวอร์’ ทุ่ม 36 ล้านเหรียญ ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งใน ‘เกาหลีใต้’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine