Intergeneration Family ผสานสายใยความผูกพัน สู่สมการแห่งความสุขของครอบครัวยุคใหม่ - Forbes Thailand

Intergeneration Family ผสานสายใยความผูกพัน สู่สมการแห่งความสุขของครอบครัวยุคใหม่

หากย้อนกลับไปที่พื้นฐานของครอบครัวเอเชีย หรือครอบครัวไทย จะพบว่า รูปแบบครอบครัวไทยเริ่มปรับเปลี่ยนจากครอบครัวขยายที่มีคนอยู่ร่วมหลายเจเนอเรชั่นมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างมี  นัยนับตั้งแต่ยุคเบบี้บูมตอนปลายเป็นต้นมา เหตุผลหลักมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนในยุคนั้นต้องแข่งขันสูงในการทำงาน การอยู่อาศัยจึงต้องเน้นอยู่ในทำเลที่เอื้อต่อการเดินทางไปทำงาน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้วัยทำงานจำใจต้องโบกมือลาครอบครัวใหญ่ที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นลูก และรุ่นหลาน ออกมาสร้างครอบครัวเดี่ยว เพื่อแลกกับความคล่องตัวในการใช้ชีวิต นับตั้งแต่รูปแบบครอบครัวไทยพลิกโฉมกลายเป็นสังคมที่มีสัดส่วนครอบครัวเดี่ยวมากที่สุด ส่งผลให้ความอบอุ่นตามสไตล์ครอบครัวใหญ่ที่เคยมีเริ่มจางหาย ช่องว่างในครอบครัวไทยเริ่มมีระยะห่างเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่าตายายกับหลานๆ ที่ไม่ได้อยู่ร่วมชายคา นานๆทีจะได้เจอกัน ทำให้จาก      ญาติสนิทกลายเป็นเหมือนคนแปลกหน้า ลูกๆหลานๆต้องเติบโตมาท่ามกลางเทคโนโลยี เรียนรู้เรื่องราวรอบตัวจากอินเตอร์เน็ต ขาดผู้รู้หรือมีประสบการณ์ทำหน้าที่ถ่ายทอดโดยตรง และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กขาดที่พึ่งทางใจ กลายเป็นเด็กมีปัญหา รู้สึกอ้างว้างในที่สุด ที่สำคัญใครจะคิดว่า ลักษณะการอยู่อาศัยของเด็กที่มีผลต่อการกระทำความผิดด้วย เพราะจากสถิติการ  กระทำผิดของเด็กและเยาวชนไทยที่ถูกดำเนินคดีพบว่า สภาพภายในครอบครัวเป็นสาเหตุสำคัญที่มากำหนดพฤติกรรมและการกระทำความผิดของวัยรุ่น โดยช่วงอายุที่มีการกระทำผิดมากที่สุดอยู่ในกลุ่ม    13 - 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ และต้องการการเอาใจใส่จากครอบครัวอย่างมาก นอกจากนี้โครงสร้างประชากรไทยกำลังจะเปลี่ยนโฉมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2564 ยังนำมาซึ่งความวิตกว่าผู้สูงอายุไทยที่ต้องใช้ชีวิตแบบห่างไกลลูกหลานจะเป็นอย่างไร เพราะจากข้อมูลของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยมีความเปราะบางทางจิตใจ เนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายจนทำกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะการพึ่งพาตัวเองลดลง จากเคยเป็นผู้นำครอบครัว    กลับกลายเป็นเพียงสมาชิกในบ้านที่ต้องพึ่งลูกหลาน รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระจึงนำมาซึ่งความวิตกกังวลต่างๆ เริ่มมองว่าตัวเองด้อยค่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว ขาดหลักประกันในชีวิต

ปฎิวัติรูปแบบครอบครัวไทยสู่ Intergeneration Family

จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดนิยามใหม่ของการอยู่อาศัยที่เรียกว่า Intergeneration Family หรือ  การอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้สูงอายุในแง่ความอุ่นใจ แต่ยังรวมถึงรุ่นลูกและหลานที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขพร้อมหน้ากับครอบครัว สามารถดูแลกันและกันได้ทุกเมื่อ สอดคล้องกับ รูปแบบและอัตลักษณ์อันมีคุณค่าของครอบครัวเอเชียที่ยังคงสืบทอดความปรารถนา อยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในครอบครัวที่มีคนหลากหลายวัยอย่างมีความสุข ภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้เทรนด์ดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงในวงแคบ แต่รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย อย่างญี่ปุ่น ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวก่อนไทย มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา นานาชาติต่างให้ความสำคัญกับแนวโน้มโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยเน้นไปที่โครงการที่พักอาศัยเพื่อการใช้ชีวิตของ  ผู้สูงอายุเป็นหลัก เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวคิดอยากแยกตัวจากครอบครัวมาใช้ชีวิตเอง โดยเชื่อว่าจะดูแล    ตัวเองได้ อีกทั้งไม่ต้องการเป็นภาระให้ลูกหลาน ทำให้โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย หรือ เนิร์สซิงโฮม (Nursing Home) แต่กลับกลายเป็นว่า นอกจากจะมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการ คุณภาพบริการก็ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น จึงมองว่า ควรเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับ โปรแกรมที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวหลายช่วงวัยมากกว่า “จากการศึกษาในโมเดลรูปแบบการสร้างสรรค์ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยและเด็กเล็ก ที่จัดทำขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น การนำหลายช่วงวัยมาอยู่ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของคนรุ่นต่าง ๆ ได้ ซึ่งการเรียนรู้ระหว่างรุ่น โดยเฉพาะผู้สูงวัยกับคนรุ่นใหม่ ผ่านการทำกิจกรรมและอยู่อาศัยร่วมกัน เช่น การร้องเพลง เต้นรำ สอนหนังสือ จะช่วยเติมเต็มความสดใสให้วัยเด็กพร้อมกับช่วยให้ ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เพราะการได้ใช้เวลาว่างที่มีนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาสอนเด็กรุ่นใหม่ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น นับเป็นประโยชน์ที่ส่งผลดีด้านจิตใจของคนทุกช่วงวัยด้วย” ไคโกะ ซูกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การดูแลผู้สูงวัยและเด็กเล็ก KOTOEN นักวิชาการด้านสังคมระดับภูมิภาคเอเชียจากประเทศญี่ปุ่นกล่าว

ครอบครัวไทยโหยหาความอบอุ่น

คำถาม คือ  Intergeneration Family คือ คำตอบของครอบครัวไทยยุคใหม่จริงหรือ? สิ่งที่ชี้ชัดได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นผลวิจัยล่าสุดของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ อายุ 15 - 65 ปี รวม 400 คน เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า    กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 70.8% ต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่น โดยกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปต้องการอยู่อาศัยหลายรุ่นสูงสุด คือ 80.7% ของกลุ่มตัวอย่างอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งหมด ขณะที่รูปแบบการอยู่อาศัยแบบครอบครัวหลายรุ่นที่กลุ่มตัวอย่างต้องการมากที่สุดคืออยู่ร่วมกัน 4 รุ่น รองลงมาคือ 3 รุ่น ซึ่งเป็นจำนวนที่ทำให้สมาชิกในครัวเรือนมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าครัวเรือนรูปแบบอื่น เหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่โหยหาการใช้ชีวิตในครอบครัวใหญ่อีกครั้ง เพราะการไม่ได้พักอาศัยในบ้านเดียวกันไม่เพียงมีผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของสมาชิกในครอบครัว ถึงขนาดมีข้อมูลที่ชี้ชัดว่า กลุ่มตัวอย่างที่อยู่อาศัยแบบครอบครัว 3 รุ่น มีค่าเฉลี่ยสุขภาพจิตดีกว่าครอบครัวแบบอื่นเกือบทุกด้าน ด้วยเหตุผลว่าสมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน เมื่อป่วยหนักเชื่อว่าครอบครัวจะดูแลกันได้อย่างดี และรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว นอกจากนี้ผลสำรวจที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัย คือ ช่วยเสริมเกราะความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ในครอบครัว พร้อมถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ล้วนต้องการการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลที่รัก ซึ่งก็คือคนในครอบครัว ดังนั้นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ย่อมปรารถนาจะกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต ส่วนสมาชิกในครอบครัวที่เป็นบุตรหลาน ก็ต้องการการเอาใจใส่และได้รับความรักเช่นกัน หากผู้สูงอายุได้อยู่ร่วมกันกับลูกหลานในที่อยู่อาศัยแล้ว ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น และผู้สูงอายุก็จะได้ทำหน้าที่สำคัญเสริมสร้างความอบอุ่น ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของสมาชิกทุกคนในบ้าน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้คนในครอบครัวได้ เพราะฉะนั้น การอยู่ร่วมกันแบบหลากหลายช่วงวัย หรือ Intergeneration Family ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกพูดถึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทยที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจหรือการปรับตัว แต่เป็นการคืนสู่  รากเหง้าแห่งความสุขที่แท้จริงของคำว่า “ครอบครัว” ที่คนไทยคุ้นชินอีกครั้ง